การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ “ดีปซีค” จากแดนมังกร “อาจเป็นมากกว่า” แค่การแข่งขันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนหรือไม่ ?
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ กล่าวถึงการที่แอปพลิเคชันสนทนาด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ( เอไอ ) “ดีปซีค” ( DeepSeek ) ของจีน ก้าวขึ้นเป็นแอปพลิเคชันดาวน์โหลดฟรีอันดับหนึ่ง บนแอปพลิเคชันสโตร์ของแอปเปิล แซงหน้า “แชตจีพีที” ของโอเพนเอไอ และส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐและยุโรปร่วงอย่างหนัก ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ “สัญญาณเตือน” สำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรมเอไอ
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์แสดงความหวังว่า ความท้าทายจากดีปซีค จะสามารถสร้างพลังขับเคลื่อนเชิงบวกให้แก่บรรดานักพัฒนาในซิลิคอนแวลลีย์ และถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อขบคิดว่า เพราะเหตุใดคู่แข่งสามารถสร้างสินค้าแบบเดียวกัน หรือถึงขั้นดีกว่าได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล
ด้านบริษัทเอ็นวิเดีย ซึ่งสูญเสียมูลค่าทางการตลาดเกือบ 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 20 ล้านล้านบาท ) หลังดีปซีคเปิดตัวแชตบอตเวอร์ชันล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับโมเดลแชตบอตดีปซีค ว่าสะท้อนความก้าวหน้าที่ยอดเยี่ยมของวงการเอไอระดับโลก และเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการพัฒนาเอไอ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่อาศัยโมเดลที่มีอยู่ทั่วไปและพลังประมวลผลที่เป็นไปตามข้อกำหนดการควบคุมการส่งออก
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ โบกมือที่ถือสมาร์ตโฟนทักทายผู้สื่อข่าว ระหว่างลงจากเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน ที่นครลาสเวกัส ในรัฐเนวาดา 24 ม.ค. 2568
ทั้งนี้ เอ็นวิเดียมองว่า ความก้าวหน้าของดีปซีคจะช่วยสร้างงานเพิ่มให้กับเอ็นวิเดีย ในการขยายการผลิตหน่วยประมวลผลกราฟิก ( จีพียู )
ขณะที่นายแซม อัลต์แมน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) ของโอเพนเอไอ ซึ่งเป็นเจ้าของปัญญาประดิษฐ์ ( เอไอ ) “แชตจีพีที” กล่าวถึงการเขย่าวงการของดีปซีคว่า “น่าประทับใจ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการพัฒนาโมเดลเอไอที่มีคุณภาพตามงบประมาณที่มีอยู่ ทั้งนี้ โมเดล อาร์วัน ( R1 ) ของดีปซีค ด้วยต้นทุนการใช้งานที่ถูกกว่าโมเดล “โอวัน” ( o1 ) ประมาณ 20-50 เท่า ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน
กระนั้น อัลต์แมนกล่าวว่า โอเพนเอไอมีความตื่นเต้นและกระตือรือร้นมากกว่า ที่จะพัฒนาเอไอตามแผนการของบริษัท และเชื่อว่า พลังการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือสิ่งที่โอเพนเอไอต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพื่อการบรรลุเป้าหมาย
อีกด้านหนึ่ง บรรดานักวิเคราะห์บางส่วนเริ่มตั้งข้อสังเกตมากขึ้นแล้วว่า การลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล ไมโครซอฟท์ และเมตา ที่มีต่อโครงการพัฒนาชิปสำหรับเอไอของเอ็นวิเดียนั้น “สิ้นเปลืองมากเกินไปหรือไม่” ในเมื่อผลงานของดีปซีคสะท้อนให้เห็นแล้วว่า สามารถพัฒนาผลงานออกมาได้ดี “ในระดับที่เท่าเทียมกัน” โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาลเท่ากัน
อนึ่ง ดีปซีคพัฒนาโดยสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยี จากเมืองหางโจว ทางตะวันออกของจีน โดยใช้งบประมาณลงทุนตั้งต้นเพียง 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 189 ล้านบาท ) ด้วยความที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยี “สัญชาติจีน” การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของดีปซีค ซึ่งเกิดขึ้นเพียงสัปดาห์เดียว หลังการรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมันที่สองของทรัมป์ “ไม่น่าใช่เรื่องบังเอิญ”
รายงานหลายกระแสระบุว่า ดีปซีคเตรียมการเปิดตัวมานานระยะหนึ่งแล้ว “แต่ได้รับการติดต่อประสานงาน” ให้รอเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในช่วงสัปดาห์แรกที่ทรัมป์รับตำแหน่ง และเป็นความเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกับเมื่อครั้งบริษัทหัวเว่ยเปิดเตัวสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ เมื่อเดือนส.ค. 2566 “อย่างประจวบเหมาะ” กับที่นางจีนา ไรมอนโด รมว.พาณิชย์สหรัฐในเวลานั้น เยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่ทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐสมัยแรก รัฐบาลวอชิงตันในเวลานั้นออกมาตรการชุดใหญ่ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อขัดขวางการพัฒนาของบริษัทสมาร์ตโฟนและเซมิคอนดักเตอร์หลายแห่งของจีน รวมถึงการป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตของจีนเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ และเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูง
แผ่นป้ายบอกที่ตั้งของสำนักงาน “ดีปซีค” ที่อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
ทว่าไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การที่ดีปซีคสามารถเปิดตัวและได้รับความนิยมถึงขนาดนี้ บ่งชี้ “ช่องโหว่” ในมาตรการควบคุมของสหรัฐ แม้จริงอยู่ที่คุณภาพและประสิทธิภาพของดีปซีค เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันในระยะยาว แต่สิ่งที่ประจักษ์ชัดเจนในตอนนี้ คือการที่ดีปซีคจะเข้ามาเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ให้กับนวัตกรรมการพัฒนาเอไอ ที่กำลังเป็นสมรภูมิใหม่ของการขับเคี่ยวทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน
ด้วยราคาของดีปซีคที่ถูกกว่าแชตจีพีที และการพัฒนาระบบในรูปแบบโอเพนซอร์ส ซึ่งหมายถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยอาศัยความร่วมมือ และการประสานงานระหว่าง
นักพัฒนาจากทั่วทุกมุมโลก แน่นอนว่า เส้นทางพื้นฐานของดีปซีคจะยังคงเป็นแบบนี้ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับความมั่นคงและความยั่งยืนของแพลตฟอร์ม ในการเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้ที่ต้องการใช้งานแชตบอต
ทว่าในสายตาของสหรัฐ มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าดีปซีค จะกลายเป็น “ภัยคุกคามด้านความมั่นคง” แบบเดียวกับที่หัวเว่ย และติ๊กต็อก กำลังเผชิญ จากการที่เมื่อผู้ใช้งานในสหรัฐเข้ามาลงทะเบียน ดีปซีคได้ข้อมูลพื้นฐานของลูกค้าเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ การที่แชตบอตของดีปซีค “ให้คำตอบแบบจำกัด” ต่อหลายคำถามที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ในจีน อาทิ เหตุการณ์กวาดล้างที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 2532 และการปฏิเสธวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลจีน ทำให้เกิดคำถามตามมาโดยปริยาย ว่าดีปซีคอยู่ภายใต้ระบบการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์มากน้อยเพียงใด ซึ่งประเด็นนี้จะกลายเป็นเหตุผล ให้รัฐบาลวอชิงตันสามารถใช้เป็นช่องทาง “จัดการ” กับดีปซีคในอนาคต
การสงวนท่าทีอย่างเห็นได้ชัดของรัฐบาลจีน เกี่ยวกับความตื่นเต้นของทั่วโลก ที่มีต่อการถือกำเนิดอย่างเป็นทางการของดีปซีค เป็นอีกหนึ่งปฏิกิริยาที่ต้องจับตา เพราะสหรัฐมองมาตลอดว่า เทคโนโลยีจากจีนไม่ใช่เรื่องของเอกชนอย่างแท้จริง และความขัดแย้งเรื่องหัวเว่ยตึงเครียดที่สุดในยุครัฐบาลทรัมป์สมัยแรก ดูเหมือนว่า ดีปซีคจะเป็นการเปิกศักราชใหม่ให้กับ การแข่งขันช่วงชิงความเหนือกว่าในสมรภูมิเอไอ ที่จีนขอเป็นฝ่ายทักทายทรัมป์ก่อนในรอบนี้.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : เดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4351046/