ณ เมืองเฉิงตู มหานครที่โด่งดังเรื่องหม้อไฟเผ็ดร้อน ร้านน้ำชาเก่า และแพนด้าสุดน่ารัก ทุกๆ เช้าเวลา 7.30 น. การแข่งขันเริ่มต้นขึ้นที่ชานเมือง เมื่อประชาชนวิ่งกันตั้งแต่ประตูศูนย์แพนด้าเฉิงตู เข้าไปยังที่พักของเจ้าฮัวฮัว แพนด้าตัวที่โด่งดังที่สุด
เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า แพนด้า สัตว์ขนฟูหายาก น่ารักเกินต้านทานไหว เป็นที่ชื่นชอบของคนทั้งโลก แต่พลังของฮัวฮัวกลับแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง แต่ละวันจะมีประชาชนเพียง 30 คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปชื่นชมมันในเวลาเพียงสามนาทีก่อนที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมานำตัวออกไป
ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ นักท่องเที่ยวหลายหมื่นคนจากทั่วประเทศจีนต้องรอคิวกว่าสองชั่วโมงเพื่อชมฮัวฮัว
ในเมืองเฉิงตู หน้าของฮัวฮัวปรากฏอยู่ในทุก ๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของที่ระลึก คาเฟ สำนักงานไปรษณีย์ และบนบิลบอร์ด เธอมีแฟนคลับมากมายบนโซเชียลมีเดีย โพสต์คลิปใดลงไปได้ยอดวิวเป็นพัน ๆ ล้าน
ความนิยมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของฮัวฮัว สร้างกระแสนิยมแพนด้าระลอกใหม่ไปทั่วประเทศ หลังจากรัฐบาลพยายามมานานหลายสิบปีในการเปลี่ยนแพนด้าจากสัตว์ที่ไม่มีใครรู้จักมาเป็นไอคอนทางวัฒนธรรม, สัญลักษณ์ของชาติ และเครื่องมือทางการทูตที่มีศักยภาพ
แต่ความสำเร็จของการรีแบรนด์แพนด้าได้สร้างความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับรัฐบาลปักกิ่ง เมื่อต้องหาความสมดุลของการใช้แพนด้าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในต่างแดนกับความต้องการของประชาชนผู้รักสัตว์ที่ต้องการปกป้อง “สมบัติของชาติ” ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม
ขณะที่ชาวจีนหลายคนภาคภูมิใจที่ได้แบ่งปันแพนด้าไปทั่วโลก บางคนรวมทั้งอินฟลูเอนเซอร์คนดังบนโลกออนไลน์ คัดค้านการส่งสัตว์น่ารักของพวกเขาไปยังสหรัฐและประเทศ “ไม่เป็นมิตร” อื่นๆ อ้างว่ากลัวพวกมันได้รับการดูแลไม่ดี
ปีก่อนมีคนมาประท้วงที่นอกศูนย์แพนด้าตูเจียงหยัน ที่พักชั่วคราวของแพนด้าสองตัวที่จะส่งไปให้สหรัฐ ด้วยเหตุนี้กระบวนการเตรียมการต้องกระทำอย่างระมัดระวังและเป็นความลับหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นเป้าสายตา
ไม่เพียงเท่านั้นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์และแฟนแพนด้าจำนวนหนึ่งยังพุ่งเป้าไปยังนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในโครงการเพาะพันธุ์แพนด้าของจีนด้วย กระตุ้นให้รัฐบาลต้องส่งสัญญาณว่าจะไม่ทนกับความพยายามทำลายเรื่องราวความสำเร็จในการอนุรักษ์ซอฟต์พาวเวอร์สุดน่ารักนี้อีกต่อไป
แพนด้าเคยเตร็ดเตร่ไปทั่วแผ่นดินจีนอันกว้างใหญ่ รวมถึงหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของเมียนมาและเวียดนาม แต่การรุกล้ำของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้ถิ่นที่อยู่ของเจ้าสัตว์กินใบไผ่ลดเหลือแค่หกเทือกเขาเหนือแอ่งเสฉวนลึกเข้าไปในแผ่นดินจีน
เสฉวนในสมัยจักรพรรดิเคยได้รับยกย่องเป็น “ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์จากสวรรค์” ตอนนี้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในฐานะ “บ้านเกิดของแพนด้า”
มณฑลเทือกเขาแห่งนี้มีเขตอนุรักษ์ธรรมชาติและศูนย์เพาะพันธุ์แพนด้าหลายแห่ง ทั้งหมดเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาในช่วงที่จีนและทั่วโลกเร่งอนุรักษ์แพนด้า ที่เปรียบเสมือน “ฟอสซิลมีชีวิต” อายุหลายล้านปีไม่ให้สูญพันธุ์
-
- จากสัตว์โนเนมสู่ความโด่งดังระดับโลก
เฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวนมีประชากร 21 ล้านคน ตั้งอยู่บนเชิงเขาหิมะปกคลุมและป่าดึกดำบรรพ์ที่แพนด้ายังคงอาศัยอยู่
ศูนย์เพาะพันธุ์แพนด้าเฉิงตูมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยจำนวนกว่า 240 ตัวหรือหนึ่งในสามของประชากรแพนด้าเลี้ยงทั่วโลก ศูนย์กว้างใหญ่แห่งนี้มีผู้มาเยือนถึงปีละ 11 ล้านคนพอๆ กับเซี่ยงไฮ้ดิสนีย์แลนด์เลยทีเดียว
“มันเป็นสัญลักษณ์ของจีน ชาวจีนทุกคนอยากเห็นมันด้วยตัวเอง” นักท่องเที่ยวรายหนึ่งผู้เดินทาง 1,300 กม.มายังเฉิงตู และเข้าแถวตั้งแต่หกโมงเช้าเพื่อดูแพนด้า แต่มันก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของชาติมาแต่ดั้งแต่เดิม
ช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีร่องรอยแพนด้าในวรรณกรรมและศิลปะจีนเพียงเล็กน้อย ไม่มีนัยสำคัญทางวัฒนธรรมเหมือนกับมังกร พยัคฆ์ หรือนกกระเรียน
อี เอลีนา ซองส์เตอร์ นักประวัติศาสตร์และนักเขียนเรื่อง ““Panda Nation: The Construction and Conservation of China’s Modern Icon” กล่าวว่า แพนด้าน่ารักผงาดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของชาติเมื่อหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 นี่เอง
ด้วยความน่ารัก ไม่เหมือนใคร และไม่มีภาระทางประวัติศาสตร์ เจ้าสัตว์ขาวดำจึงเป็นสัญลักษณ์ในอุดมคติให้ชาติคอมมิวนิสต์เกิดใหม่ได้กำหนดภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเอง
ถึงกระนั้นก็ตาม ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าแพนด้าจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและชื่นชมในประเทศจีนที่ยังยากจนในตอนนั้น
หลิว ซีหัว นักนิเวศวิทยาผู้อุทิศตนอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ของแพนด้า ไม่เคยรู้มาก่อนว่า พวกมันอยู่ในเมืองอุตสาหกรรมเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในทศวรรษ 1960-1970
“สื่อไม่ได้พัฒนามากนัก พวกเราส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการเรียนหนังสือในโรงเรียน สวนสัตว์ในมณฑลต่างๆ ก็มีไม่มาก” หลิวเล่าถึงความหลัง
ถึงวันนี้เป็นไปไม่ได้ที่เด็กจีนเติบโตขึ้นมาโดยไม่รู้จักแพนด้า “สมบัติของชาติ” ที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้วด้วยซ้ำ พวกมันอยู่ในการ์ตูน ตำราเรียน ร้านขายของเล่น ด้วยประชากรแพนด้าเลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้นจากราว 100 ตัว เป็นกว่า 700 ตัวในช่วงหลายสิบปี ตอนนี้แพนด้ามีอยู่ในสวนสัตว์แทบจะทุกมณฑลทั่วประเทศจีน
ประชากรแพนด้าป่าก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันจากไม่กี่ตัวในทศวรรษ 1980 มาอยู่ที่ราว 1,864 ตัวในการนับอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุดเมื่อปี 2014 สองปีต่อมาทางการลดสถานภาพแพนด้าจาก“ใกล้สูญพันธุ์” (endangered) มาเป็น “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์” (vulnerable) ในบัญชีสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ของโลก
-
- สินทรัพย์ซอฟต์พาวเวอร์
แพนด้าไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวความสำเร็จในการอนุรักษ์สัตว์ป่าของจีนเท่านั้น พวกมันยังเป็นสินทรัพย์ซอฟต์พาวเวอร์สำคัญของประเทศด้วย
แม้จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแต่ก็ยังอยากได้ซอฟต์พาวเวอร์ เหมือนที่แฟชั่น บทเพลง อนิเมะ มังงะ วีดิโอเกมของญี่ปุ่นจับใจคนทั่วโลกมานาน ตามด้วย “กระแสเกาหลี” ที่ทะลุทะลวงกลายเป็นความคลั่งไคล้เคป็อป เคดรามา เคบิวตี้ และเคในทุกสิ่งทุกอย่าง
สำหรับจีน รัฐอำนาจนิยมที่ผู้นำสั่งการการสร้างสรรค์งานศิลป์ เครื่องมือที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการครองใจผู้คนทั่วโลกและยังเป็นเช่นนั้นยังคงผูกขาดอยู่กับแพนด้า
เป็นเวลากว่าห้าสิบปีมาแล้วที่รัฐบาลปักกิ่งส่งแพนด้าไปต่างประเทศเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับพันธมิตร ปรับความสัมพันธ์อันห่างเหิน และจีบคู่ค้าใหม่
แพนด้าเป็นหมุดหมายสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน นับตั้งแต่แพนด้าหนึ่งคู่เดินทางไปถึงวอชิงตันในปี 1972 หลังจากประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันเดินทางไปผูกสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์จีนช่วงสงครามเย็น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน สองมหาอำนาจโลกดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดภายในไม่กี่สิบปี จากการแข่งขันกันอย่างหนักด้านเทคโนโลยี การทหาร ภูมิรัฐศาสตร์ และอื่นๆ
กระนั้น การทูตแพนด้าเป็นความหวังเล็กๆ ท่ามกลางความมืดมน เดือน มิ.ย.2024 จีนส่งแพนด้าหนึ่งคู่ให้กับสวนสัตว์ซานดิเอโก เป็นแพนด้าคู่แรกที่ส่งให้กับสหรัฐในรอบ 21 ปี ส่วนคู่ที่ 2 เจ้าเป่าหลีและเจ้าชิงเป่า มาถึงวอชิงตันในเดือน ต.ค. สวนสัตว์แห่งชาติสมิธโซเนียนเปิดตัวเมื่อสัปดาห์ก่อน
แม้มีความสดใสขึ้นมาบ้างแต่เงาของความไม่ไว้ใจและเป็นปรปักษ์ระหว่างสองประเทศยังคงมีให้เห็น บางคนเกรงว่าจะยิ่งหนักข้อขึ้นในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คณะรัฐมนตรีเต็มไปด้วยสายเหยี่ยวแข็งกร้าวกับจีน
-
- ตอบโต้ด้วยความรักชาติ
เมื่อสาธารณชนจีนรักแพนด้ามากขึ้น เผลอๆ ถึงขั้นปกป้อง อินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์จำนวนหนึ่งแสดงความกังวลถึงสวัสดิภาพของพวกมันในต่างแดน กล่าวหาว่าสวนสัตว์สหรัฐดูแล “สมบัติของชาติจีน” ไม่ดี
ข้ออ้างดังกล่าวมักถูกเติมเชื้อด้วยความรู้สึกชาตินิยมและต่อต้านสหรัฐ ที่ซีเอ็นเอ็นระบุว่า ถูกโหมกระพือด้วยสื่อรัฐ ยิ่งพักหลังยิ่งเห็นชัดในอินเทอร์เน็ตจีน โดยเฉพาะเมื่อมองจากประเด็นสุขภาพของยายา แพนด้าที่เคยอยู่ที่สวนสัตว์เมมฟิส
ในปี 2023 ยายาผ่ายผอมขนร่วงจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะหลังจากเล่อเล่อ แพนด้าตัวผู้ตายไปก่อนครบกำหนดกลับจีนเพียงไม่กี่เดือน ชาวเน็ตจีนกระหน่ำกล่าวหาว่าสวนสัตว์เมมฟิศดูแลแพนด้าไม่ดีซึ่งเป็นการจงใจดูถูกจีน
เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ปฏิเสธข้อกล่าวหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ยายาขนร่วงเพราะเป็นโรคผิวหนังทางพันธุกรรม ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนที่ถูกส่งตัวมาร่วมตรวจสอบที่สวนสัตว์เมมฟิสก็เห็นด้วยกับข้อสรุปนี้
แม้ท่าทีรักชาติดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อโครงการให้เช่าแพนด้าที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้จีนราว 1 ล้านดอลลาร์ต่อปีสำหรับแพนด้าหนึ่งคู่ แต่ก็สร้างความยุ่งยากให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง
การขนส่งแพนด้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมักซับซ้อนจำเป็นต้องวางแผนกันนานหลายเดือน ตอนนี้ทางการต้องคำนึงถึงความอ่อนไหวทางการเมืองและการดำเนินการด้วยความลับเข้าไปด้วย
———————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 2 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1164781