เซมิคอนดักเตอร์
ประเทศไทยวางแผนที่จะจัดทำร่างแผนยุทธศาตร์เบื้องต้นสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ให้เกิดขึ้นภาย 90 วันจากนี้ โดยตั้งใจที่จะดึงเงินทุนใหม่ ๆ ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ของไทยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า คณะกรรมการด้านเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาโรดเเมพของอุตสาหกรรมนี้
ในขณะนี้เขากำลังเตรียมออกเดินสายหานักลงทุนในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดความสนใจต่อธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้ ปั่นป่วนจากการเเข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ต้องการเป็นผู้นำในธุรกิจ
การเปลี่ยนแปลงของสายการผลิตทำให้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความสนใจให้เป็นแหล่งลงทุน และความไม่แน่นอนน่าจะมีอยู่ต่อไปในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สอง
ในช่วงสุดสัปดาห์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีต่อสินค้าจีน 10% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนช่วยเรื่องดุลการค้าสหรัฐฯ
ไทยในฐานะประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย ได้รับการยื่นขอลงทุนในประเทศเพิ่ม 35% ในเชิงมูลค่า เมื่อปีที่เเล้ว แตะระดับ 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปี
นายนฤตม์ กล่าวว่าตัวเลขสำหรับปีนี้จะสูงกว่าปีที่เเล้ว โดยคาดว่าการลงทุนจะได้รับเเรงขับเคลื่อนจากภาคอิเล็กทรอนิกส์และธุรกิจดิจิทัล
รายงานของบริษัทที่ปรึกษา เอ ที เคอร์นีย์ (A.T. Kearney) เมื่อปีที่เเล้วระบุว่า ไทยติดอันดับสอง รองจากอินเดีย ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) ด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์
ขณะนี้ไทยตั้งเป้าที่จะได้รับเงินทุนใหม่มูลค่า 5 เเสนล้านบาทสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในปี 2029
นายนฤตม์ กล่าวว่าจุดเเข็งของไทย มาจากความสามารถในการผลิตชิป ที่ใช้ในรถพลังงานไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบเก็บพลังงาน
บริษัที่มีกิจการที่เกี่ยวกับชิปในประเทศไทย ขณะนี้ประกอบด้วย อะนาล็อก ดีไวซ์ส จากรัฐแมสซาชูเสตส์ของสหรัฐฯ รวมทั้งโซนี และโตชิบาจากญี่ปุ่น
ส่วน อินฟินิออน ของเยอรมนี และบริษัทลูกของ ฟ็อซเซมิคอน อินทิเกรตเต็ท เทคโนโลยี จากไต้หวัน ได้เคยประกาศโครงการใหม่ๆ ในประเทศไทยไปแล้ว
ตั้งแต่ปี 2023 ไทยสามารถขยายการลงทุนในการผลิตแผงวงจรพิมพ์ หรือ PCB (printed circuit boards) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์มากมาย ตั้งเเต่โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ไปจนถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
นฤตม์กล่าวว่าสาเหตุหลักที่ไทยเป็นที่สนใจในการเข้ามาลงทุนมาจากจุดยืนของประเทศที่เป็นกลางท่ามกลางสงครามการค้า
ไทยเผชิญกับการเเข่งขันที่สำคัญจากมาเลเซีย ที่มีส่วนแบ่งตลาด 13% ของอุตสาหกรรมโลกด้านการทดสอบและประกอบชิปซึ่ง รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ตั้งเป้าการลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในธุรกิจนี้
ที่มา: รอยเตอร์
———————————————————————————————————————-
ที่มา : VOA / วันที่เผยแพร่ 7 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.voathai.com/a/7965602.html