“ญี่ปุ่น” ประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง แนะนำให้เตรียม “กระเป๋าโบไซ” (Bousai Bag) ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินที่สามารถช่วยให้ประชาชนดำรงชีพได้นานถึง 3-5 วัน ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 แมกนิจูด ส่งผลให้บริเวณกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ได้รับแรงสั่นสะเทือน ทำให้อาคารก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) ที่จตุจักรถล่ม เจ้าหน้าที่เร่งให้ความช่วยเหลือ
ขณะเดียวกัน ผู้คนที่ทำงานและอาศัยอยู่บนตึกสูงต่างเร่งอพยพออกมาจากอาคาร ทำให้เกิดความโกลาหล เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยประสบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเช่นนี้มาก่อน ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไร หรือเตรียมสิ่งของใดติดตัวไว้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
“ญี่ปุ่น” ประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง ออกคู่มือให้ประชาชนเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ (คู่มือรับมือกับภัยพิบัติ) ได้แก่ แผ่นดินไหว สึนามิ ไต้ฝุ่น การอพยพ โดยแนะนำให้เตรียม “กระเป๋าโบไซ” (Bousai Bag) หรือ “กระเป๋ารับมือภัยพิบัติ” ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินที่สามารถช่วยให้ประชาชน ครอบครัว และสัตว์เลี้ยงในความดูแลดำรงชีพได้นานถึง 3-5 วัน ซึ่งจะรวบรวมสิ่งของจำเป็นทั้งหมดที่ทุกคนอาจต้องการระหว่างที่รอคอยการช่วยเหลือได้
- ‘กระเป๋ารับมือภัยพิบัติ’ ควรเตรียมอะไร ประกอบไปด้วย
1. อาหารและน้ำ
อาหารและน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด ควรเตรียมไว้ให้พอสำหรับดำรงชีพอย่างน้อย 3 วัน โดย ควรเลือกอาหารที่มีน้ำหนักเบาและอุดมไปด้วยพลังงาน เช่น ธัญพืชอัดแน่น ผลไม้ ถั่ว และอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋องก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี แต่ด้วยกระป๋องมีน้ำหนักมากกว่า เมื่อรวมกับน้ำควรบริโภคอย่างน้อย 1 ลิตรต่อคนต่อวัน อาจจะทำให้มีน้ำหนักมากเกินไป
2. อาหารและน้ำสัตว์เลี้ยง
เช่นเดียวกับมนุษย์ สัตว์เลี้ยงก็ต้องการอาหารและน้ำเพียงพอสำหรับอย่างน้อย 3 วัน ชามพับช่วยประหยัดพื้นที่ได้มาก และควรมีชามสำรองไว้สักใบหรือสองใบเสมอ เพราะสัตว์ที่มีอาการวิตกกังวลอาจกินมากกว่าปกติในกรณีฉุกเฉิน
3. ชุดปฐมพยาบาล
ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีติดตัวไว้ ให้เตรียมผ้าพันแผล ผ้าเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด และยาตามใบสั่งแพทย์ไว้ด้วย อย่าลืมใส่ยาประจำวัน หรือใบสั่งยาบำรุงรักษาไว้ด้วยในกรณีที่ต้องอพยพ (หากมีสัตว์เลี้ยงก็ควรมีชุดปฐมพยาบาลให้พวกเขาด้วยเช่นกัน)
4. เสื้อผ้าและผ้าห่มที่ให้ความอบอุ่น
หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน อย่าลืมนำเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นไปด้วย รวมถึงผ้าห่มน้ำหนักเบา เสื้อผ้าสำรอง หรือถุงนอนน้ำหนักเบาลงในกระเป๋า เนื่องด้วยไม่รู้ว่าจะเกิดสถาการณ์ฉุกเฉินเมื่อไหร่ จึงแนะนำให้เตรียมสิ่งของที่สามารถใช้ได้ในทุกฤดูกาล
5. โทรศัพท์มือถือ เครื่องชาร์จ สายเคเบิลและอุปกรณ์เสริม แบตเตอรี่สำรอง
การติดต่อกับผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญมากในกรณีฉุกเฉิน เครื่องชาร์จโทรศัพท์แบบพกพามีประโยชน์จะมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะรุ่นที่สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะจะช่วยให้ชาร์จโทรศัพท์ได้แม้ว่าจะไม่มีไฟฟ้า นอกจากนี้ ให้รวมอุปกรณ์ Wi-Fi แบบพกพาไว้ด้วยหากคุณสามารถสื่อสารได้ในกรณีที่เสาเครือข่ายล่ม
6. ไฟฉาย แบตเตอรี่ และเตาแบบพกพา
แสงสว่างเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ เพราะเมื่อไฟดับจะมองไม่เห็นอะไรเลย ทำให้การช่วยเหลือทำได้ยากกว่าเดิม และสามารถใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ เตาแบบพกพา หรือกระป๋องแก๊สบิวเทนสำหรับทำอาหารก็เป็นการลงทุนที่ดีเช่นกัน
7. เอกสารสำคัญและเงินสด
ไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อไรจะต้องหยิบสำเนาหนังสือเดินทาง ข้อมูลประกัน หรือบัตรประจำตัวออกมา ดังนั้นควรพกไว้ในถุงกันน้ำ อย่าลืมเงินสด หากตู้ ATM ใช้งานไม่ได้ ธนบัตรและเหรียญเหล่านี้จะมีประโยชน์มาก
8. เครื่องมืออเนกประสงค์
เครื่องมืออเนกประสงค์มีความจำเป็นสำหรับการใช้งานอย่างรวดเร็วและหลายครั้ง ไม่ว่าคุณจะต้องทำความสะอาดเล็ก ๆ เปิดกระป๋อง หรือซ่อมแซมอย่างรวดเร็ว แต่ต้องใส่ไว้ในกล่องที่เปิดได้ยากเสียหน่อย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยงหยิบออกมาได้
9. สิ่งของรักษาสุขอนามัย
พื่อความอยู่รอดระหว่างและหลังภัยพิบัติ เตรียมของใช้ส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เจลล้างมือ ผ้าเช็ดทำความสะอาดแบบเปียก สเปรย์ดับกลิ่นกาย ผ้าอนามัย แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และของใช้จำเป็นอื่น ๆ ผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ เพื่อรักษาร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ
10. สิ่งของเพื่อความสบายใจ
แม้จะอยู่ท่ามกลางพายุหรือวิกฤต มนุษย์ยังต้องมีสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้เยียวยาจิตใจ เช่น หนังสืออ่าน สำรับไพ่ หรือเกมปริศนา เพื่อให้คุณเพลิดเพลิน หากมีลูก ให้นำของเล่น เกม หรือสิ่งของที่ช่วยให้พวกเขาสงบสติอารมณ์ไปด้วย อย่าลืมแพ็คยาที่จำเป็นทั้งหมดและสิ่งของสำหรับให้พวกเขามีไว้ถือ หากต้องออกจากบ้าน รวมถึงควรมีของเล่นและผ้าห่มให้สัตว์เลี้ยง พวกเขาจะได้รู้สึกสบายใจ
เพื่อให้ตระเตรียมสิ่งของเหล่านี้ให้ง่ายขึ้นและไม่ขาดตกบกพร่อง ทางการจึงแนะนำให้ทำเช็คลิสต์สิ่งที่อยู่ในกระเป๋าไว้ด้วย
ในปัจจุบันที่โลกเกิดภัยพิบัติบ่อยขึ้น อะไรที่ไม่เคยเกิดก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อย่ารอให้เกิดภัยพิบัติก่อน เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว จะได้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
ที่มา: Japan Living Guide, Jobs in Japan
————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 28 มี.ค. 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1173436