เมื่อวันที่ 27 มี.ค.68 ธนจักร วัฒนกิจ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ซินแคลร์ จำกัด เปิดเผยในงานสัมมนา AI Revolution 2025: A New Paradigm of New World Economy ที่จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในช่วง Cybersecurity and AI ว่า ต่อไปเอไอจะถูกนำไปใช้ในแง่ของการสร้างภัยคุกคามทางไซเบอร์ และพัฒนาความอันตรายมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา จนอาจเหมือนนิวเคลียร์บอมบ์ในอนาคตอันใกล้นี้เลยก็ว่าได้ และจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทุกคน
ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ทุกแขนงบอกอีกว่า ในยุคที่เอไอทำได้ทุกอย่างแบบออโตเมติกส์ เมื่อเอาเอไอมาจับกับระบบอุปกรณ์อัตโนมัติต่างๆ ที่คนเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แน่นอนว่ามันก็จะสามารถเข้าไปแฮกระบบเหล่านั้นได้เช่นกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ คนเราจะได้เห็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ใน 5 รูปแบบดังต่อไปนี้ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่เอไอเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก ได้แก่
5 ภัยคุกคามไซเบอร์ที่เสี่ยงอันตรายสูง จะเกิดแน่ 100%
1. The Autonomous Hack
เป็นลักษณะของเอไอแฮกเอไอกันเอง ต่อไปในอนาคตแต่ละบริษัทจะมี Model AI เป็นของตัวเอง กล่าวคือ ทุกบริษัทจะ Customize AI ขึ้นมาในโมเดลที่เหมาะสมกับการใช้งานอย่างเฉพาะเจาะจงตามความต้องการของบริษัทนั้นๆ ส่วนใหญ่ก็จะนำมาใช้งานในองค์กรเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ พัฒนาการทำงานให้ง่ายขึ้น
เรียกว่าพนักงานทุกระดับทุกแผนกงาน จะใช้งาน AI นี้เป็นศูนย์กลางของบริษัทเลย ซึ่งทุกคนก็จะใช้มันทำแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกรายงาน การทำบัญชี งานเอกสารทั้งหมด ระบบการจัดการข้อมูล ฯลฯ แล้วถ้าเกิดมันโดนแฮกขึ้นมา ทุกอย่างในบริษัทที่ใช้เอไอตัวนี้ทำงานก็จะเจ๊งหมดเลย ดังนั้นบริษัทจึงต้องระมัดระวังเรื่องนี้ให้ดี
2. AI-Driven Phishing
ต่อไปการหลอกลวงในรูปแบบ ฟิชชิ่ง หรือการส่งอีเมลหรือ SMS หลอกลวงผู้บริโภคจะยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้น สมัยนี้ที่ว่ามิจฉาชีพทำเนียนแล้ว (มีหลายคนตกเป็นเหยื่อ) แต่ในอนาคตมันจะยิ่งทวีความน่ากลัวกว่านี้อีก และทำให้คำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” จะไม่มีจริงอีกต่อไป
ในปัจจุบันนี้ข้อมูลส่วนบุคคลของคนเราถูกแพร่กระจายไปตามโซเชียลมีเดียต่างๆ มานานแล้ว ผ่านการลงทะเบียน และการเปิดบัญชีโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยการตั้งค่าเป็นสาธารณะ ข้อมูลเหล่านี้มิจฉาชีพสามารถแฮกเข้าไปดึงมาทำเป็น Deepface ใบหน้าปลอม เสียงปลอม ต่างๆ ได้หมดเลย เพื่อใช้หลอกลวงคนอื่น ซึ่งในอนาคตมันยิ่งจะทำได้เนียนมากขึ้น แล้วต่อไปมันจะกลายเป็นสงครามการต่อสู้ระหว่าง เอไอสู้กับเอไอ จนถึงจุดหนึ่งมันจะน่ากลัว และอันตรายมากๆ
ธนจักรเตือนว่า ผู้ใช้งานสื่อโซเชียลต้องมีความตระหนักรู้ และระมัดระวังเรื่องนี้มากๆ ในเรื่องของข่าวสาร การโดนหลอก และในเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนตัวของตนเอง แม้ผู้ใช้งานจะเซตระบบเป็นไพรเวทก็ตาม แต่ก็ยังรั่วไหลได้ (เช่น หน่วยงานที่เป็นหน่วยข่าวกรองระดับชาติ สามารถมาซื้อข้อมูลผู้ใช้งานโซเชียลทั้งจากกูเกิล เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เหล่านี้ได้หมด)
3. AI-Generated Malware
ในอนาคตอันใกล้จะเป็นยุคของไวรัสไซเบอร์ การปล่อยไวรัสในคอมพิวเตอร์ สมัยก่อนต้องใช้คนเขียนโปรแกรมไวรัสขึ้นมาและใช้เวลานาน แต่ตอนนี้ใช้ AI จำพวกมัลแวร์GPT ก็สามารถสร้างไวรัสได้อย่างรวดเร็ว มิจฉาชีพด้านไซเบอร์สมัยนี้สามารถใช้เอไอเขียนโปรแกรมไวรัสเหล่านี้ได้ง่ายกว่ายุคก่อนมาก เช่น สร้างไวรัสที่เจาะข้อมูลหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น
“ผมคิดว่าไม่ใช่สามปีข้างหน้าหรอก แต่ภายในปีหรือไม่เกินสองปีนี้ โลกเราจะเกลื่อนไปด้วยมัลแวร์ และไวรัสที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เพราะไม่ว่าใครๆ ก็สร้างโปรแกรมไวรัสได้แล้ว ขอแค่พิมพ์พรอมพ์เป็น ดังนั้น ต่อไปเราจะเจอภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่ใหญ่ระดับพายุแน่นอน เราหนีไม่พ้น” ธนจักร อธิบายให้เห็นภาพชัดเจน
4. Autonomous Systems
ถัดมาเป็นเรื่องของ “การก่อการร้ายทางไซเบอร์โดยใช้เอไอ” ประเด็นนี้ผู้เชี่ยวชาญอย่างธนจักรมองว่า มีโอกาสเกิดขึ้น 100% ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งในโลกนี้ โลกเราสมัยนี้เริ่มมีรถยนต์ที่ขับเองได้แล้ว ซึ่งพวกนี้จะใช้ระบบอัลกอริทึมในการขับขี่ ทั้ง ระบบการเบรก ระบบการจอด ฯลฯ
แต่รู้หรือไม่? ในวงการของแฮกเกอร์จะรู้กันดีว่า รถยนต์แบบนี้สามารถแฮกได้โดยการ “แฮกผ่านระบบอัปเดต” เพราะรถพวกนี้จะต้องมีการอัปเดตเฟิร์มแวร์ในระบบของมันอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว แทนที่จะแฮกไปที่ตัวระบบของรถ แต่แฮกเกอร์จะไปแฮกเซิร์ฟเวอร์ที่ส่งอัปเดตให้กับรถทุกคันแทน โดยการใส่ไวรัสหรือมัลแวร์เข้าไป เปลี่ยนให้รถทุกคนวิ่งไปชนกันเองเลยก็ได้ เหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง
มีกรณีตัวอย่างของยูเครนในปี 2015 มีการก่อการร้ายทางไซเบอร์ทำให้ไฟดับเกือบทั้งประเทศพร้อมกันนาน 4 ชั่วโมง คนเดือดร้อนไปหมด เพราะฉะนั้น ทุกอย่างจะน่ากลัวขึ้นกว่าเดิมเยอะ เพราะระบบมันคอนเนกต์ถึงกันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นระบบเปิดแอร์ ระบบทำกาแฟ เดี๋ยวนี้มันรีโมตได้หมดแล้ว และมิจฉาชีพสามารถแฮกได้ระบบของบ้านเราได้ง่ายมาก
5. AI-Controlled Social Manipulation
ภัยคุกคามประเภทสุดท้ายนี้อันตรายที่สุด เป็นภัยคุกคามที่ควบคุมคนด้วยโซเชียลมีเดีย ถ้าประเทศใดคอนโทรลโซเชียลมีเดียของประชาชนได้ ก็จะสามารถคอนโทรลคนทั้งประเทศนั้นได้ด้วย บางครั้งในการทำสงครามเขาจะมีเทคนิคที่เรียกว่า Divide and Conquer ก็คือ การทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งแบ่งเป็นสองฝั่ง แล้วเข้าไปยึด ซึ่งจะยึดได้ง่ายกว่าประเทศที่มีความสามัคคีกัน
อีกทั้งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในบรรดาการทำสงครามทั้งหมดก็คือ “สงครามด้านข้อมูลข่าวสาร” ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับคำว่า ไอโอ ที่เข้ามาปั่นกระแสด้วยข้อมูลเท็จ ข่าวปลอมต่างๆ ให้คนตกใจกลัวหรือใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่การควบคุมสื่อ ทั้งนี้วิธีควบคุมสื่อที่พบเห็นได้บ่อยก็อย่างเช่น การปั่นกระแสประเด็นใดหนึ่งด้วย Top Comment
“สมมติเรามีโพสต์หนึ่งที่อยากให้มันโด่งดังระดับโลก วิธีการที่ดีที่สุด และเป็นวิธีการเอาชนะทางโซเชียลมีเดียได้แนบเนียนที่สุดก็คือ การเป็น Top Comment ให้ได้ คนที่คุมสิ่งนี้ได้ คนนั้นคือ คนที่ควบคุมจิตใจของคนได้ ถ้าเราอยากเชียร์นักการเมืองคนหนึ่ง เราก็จะเขียนโพสต์ดีๆ ถึงนักการเมืองคนนั้นขึ้นมา จากนั้นเอาบอตหรือบัญชีอวาตาร์ที่เป็นบัญชีปลอม มากดไลก์ที่ Top Comment นั้นเยอะๆ พอคนธรรมดาทั่วไปเข้ามาเห็นก็จะเกิดความรู้สึกคล้อยตาม Top Comment นั้นๆ ได้อย่างง่ายดาย” ผู้เชี่ยวชาญอธิบาย
ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นบนโลกโซเชียลไม่ว่าจะเป็นจำนวนกดไลก์ กดแชร์ ต่างๆ มันอาจเป็นการแทรกแซงจากต่างประเทศได้ ด้วยว่าสมัยนี้การทำแอ็กเคานต์ปลอมทำได้ง่ายมากๆ ทั้งการทำโปรไฟล์ปลอม ตัวตนปลอมต่างๆ โดยที่ว่าอาจสร้างเป็น Bot ซึ่งไม่ใช่คนจริงๆ ด้วยซ้ำไป ก็ถือว่าน่ากลัวมาก
บางคนอาจคิดว่าประเทศไทยเราไม่ได้เป็นประเทศจุดยุทธศาสตร์ของโลก แต่ไม่ใช่เลยครับ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ของ Geopolitics เลย เพราะฉะนั้น ประเทศเราจะโดนแทรกแซงจากมหาอำนาจ ด้านข่าวสารอยู่เสมอ
แนะวิธีรับมือและป้องกันภัยไซเบอร์ ยุค AI ครองเมือง
ในบางประเทศเขามีเกราะป้องกันภัยไซเบอร์อย่างเข้มแข็ง นั่นคือ “ฟินแลนด์” โดยเขาจะให้เด็กๆ อายุสี่ ห้าขวบมาเรียนรู้การแยกแยะข่าวจริง-ข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ-ข้อมูลจริง เพราะเด็กสมัยนี้เข้าถึงโซเชียลมีเดียกันได้หมดแล้ว จึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องพวกนี้ให้เด็กๆ โดยเร็วที่สุด
ยิ่งสมัยนี้ในการทำสงครามข้อมูลข่าวสารนั้น มักจะมีการใช้รูปภาพที่เป็น “มีม” กันแล้ว เช่น นาโตเคยมีการปล่อยภาพตลกๆ เหล่านี้ออกมาในโลกออนไลน์ เป็นมีมที่ใส่ข้อความบางอย่างเข้าไปด้วย เพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมือง หรือเพื่อโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นจึงควรสอนให้เด็กๆ ของเรารู้จักแยกแยะข้อมูลให้ได้
ในช่วงท้ายของการบรรยาย ธนจักร ได้แชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับประเด็นของ Cyber Prepareness หรือการเตรียมตัวที่จะป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์เหล่านี้ เขาบอกว่า อย่างแรกเลยในเรื่องของการแฮกระบบออโตเมติกส์ต่างๆ ที่อยู่ในอุปกรณ์เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของคนเรา ต่อไปการแฮกมันจะเยอะขึ้น ดังนั้นวิธีป้องกันในเรื่องนี้ บริษัทต่างๆ อาจจะต้องลงทุนทางด้านไซเบอร์เยอะขึ้น หรือใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจจับพวกนี้ให้ได้มากขึ้น
ถัดมาเรื่องการฟิชชิ่งทางอีเมลหรือ Deepfake หลอกลวงต่างๆ ตรงนี้แนะนำว่าทุกคนไม่ควรเปิดแอ็กเคานต์ให้เป็นสาธารณะ อย่าลืมว่าทุกอย่างที่เราโพสต์ แม้เราจะลบแล้วแต่ก็สามารถขุดหาเจอได้อยู่ดี ดังนั้นส่วนนี้ต้องระวังมาก เอไอจะฉลาดขึ้น จะมีการระบาดของใบหน้าปลอมเยอะขึ้น
สุดท้ายในประเด็นของเรื่องสงครามข่าวสาร ในอนาคตข้างหน้าสิ่งนี้ก็จะยิ่งเป็นอันตรายเช่นกัน อย่างที่บอกไปว่า ประเทศไหนที่บังคับสมองของผู้คนได้ ประเทศนั้นก็ถือว่าชนะฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว ธนจักร ย้ำว่าทั้งหมดนี้คือ ฉากทัศน์ที่แสดงให้เห็นว่าต่อไปโลกของเราจะเผชิญหน้าภัยคุกคามไซเบอร์ในรูปแบบใดบ้าง
สิ่งเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นจริง 100% ในเร็วๆ นี้ จึงขอให้ทุกคนคอยระวังตัวกันอย่างรอบคอบ เก็บข้อมูลในโซเชียลมีเดียของตัวเองให้ดี พยายามอย่าคลิกลิงก์แปลกๆ หรือไม่มีที่มาที่แน่นอน ที่สำคัญ สำหรับใครที่มีลูก ต้องคอยสอนเขาเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเท่าทัน และรู้จักแยกแยะข้อมูลจริงข้อมูลเท็จ เพราะว่าในสงครามข่าวสาร มีมตลกๆ บางอย่างอาจมีจุดประสงค์แฝงในการล้างสมองเด็กๆ ได้ง่าย
————————————————————————————————–
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 26 มี.ค.2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/1173164