รัสมุส จาร์ลอฟ เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน อดีตสมาชิกสภานครโคเปนเฮเกน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีพาณิชย์เดนมาร์ก เตือนทรัมป์เรื่องจะซื้อเกาะกรีนแลนด์ ว่าคำพูดของทรัมป์จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ปัจจุบันจาร์ลอฟเป็นประธานคณะกรรมการกลาโหม แกเริ่มต่อต้านสหรัฐฯและบอกว่าเดนมาร์กเสียใจที่ไปซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 ของสหรัฐฯ
ถ้าเดนมาร์กไม่ให้เกาะกรีนแลนด์แก่สหรัฐฯ ทรัมป์อาจจะเล่นกล ตัดระบบซอฟต์แวร์และทำให้เครื่องบิน F-35 เป็นง่อย ใช้งานไม่ได้ ความก้าวร้าวของทรัมป์ทำให้ยุโรปแขยงแขงขนที่จะคบค้าสมาคมกับสหรัฐฯต่อ แม้แต่โปรตุเกสที่แต่เดิมมีโครงการจะซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 ความไม่แน่นอนของทรัมป์ทำให้โปรตุเกสตัดสินใจยกเลิกแผนการซื้อ F-35 ไปแล้ว
F-35 Lightning II เป็นเครื่องบินขับไล่แบบล่องหนรุ่นที่ 5 ของสหรัฐฯ ผลิตโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ผิวของเครื่องบินออกแบบให้สะท้อนเรดาร์น้อยมาก ยากต่อการตรวจจับ ถ้าเป็น F-35B ก็สามารถขึ้นลงในพื้นที่จำกัดแบบเฮลิคอปเตอร์ได้ F-35 มีพิสัยปฏิบัติการไกลว่า F-16
ความตระหนกตกใจของบรรดาประเทศยุโรปเกิดขึ้นจากความ ไม่เชื่อมั่นในตัวทรัมป์ ว่าทรัมป์จะนำสหรัฐฯมาร่วมมือกับยุโรปอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูหรือไม่ แม้แต่อังกฤษ ที่เคยเป็นชาติรัฐคอหอยลูกกระเดือกกับสหรัฐฯก็ยังระแวงแกงไก่ไข่เค็ม เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษถึงขนาดประกาศดันความเป็นเอกราชทางทหารของยุโรป “ถึงเวลาแล้วที่ยุโรปที่จะต้องทุ่มงบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มขึ้น แทนที่จะพึ่งสหรัฐฯเหมือนในอดีต ยุโรปต้องพึ่งตัวเอง”
ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง ของฝรั่งเศส เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปลดการพึ่งพาอาวุธที่ผลิตโดยสหรัฐฯ และให้หันมาซื้ออาวุธที่ผลิตในยุโรป มาครงบอกว่า “อ้า ความสามารถทางการทหารของยุโรปจะไร้ประโยชน์หากประเทศสมาชิกอียูยังต้องพึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ”
ฟรีดริช เมร์ซ ว่าที่นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี บอกว่าสถานการณ์อย่างนี้เห็นทีจะพึ่งสหรัฐฯได้ยาก เราต้องช่วยกันขยายโล่ป้องปรามนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ตอนนี้ฝรั่งเศสพยายามทำตัวเป็นผู้นำของยุโรป (คงจะฝันเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐฯในอนาคต) มาครงต้องการให้ประเทศในสหภาพยุโรปลงขันเงิน 1.5 ล้านยูโรหรือ 5.7 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาและผลิตอาวุธของยุโรปเอง ไม่ต้องพึ่งสหรัฐฯ
ทว่าดันมีปัญหาทะเลาะกันในยุโรป ฝรั่งเศสต้องการให้เอาเงินที่จะลงขันกันนี้ไปอยู่กับบริษัทผลิตอาวุธของฝรั่งเศส เยอรมนี หรืออิตาลีเท่านั้น แต่เยอรมนีอยากให้ประเทศยุโรปอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมีส่วนเกี่ยวดองหนองยุ่งด้วย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ (ที่ลาออกจากอียูไปแล้ว) นอร์เวย์ (เป็นสมาชิกนาโตแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกยุโรป) เยอรมนีอยากให้สวิตเซอร์แลนด์และตุรกีมีส่วนร่วมด้วย แต่ฝรั่งเศสไม่เอา บอกว่าเงินของยุโรปต้องใช้กับชาติหลักอย่างฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีเท่านั้น
นี่คือความแตกต่างระหว่างสหรัฐฯ รัสเซีย จีน และสมาชิกสหภาพยุโรป สหรัฐฯ รัสเซีย และจีนเป็นชาติรัฐขนาดใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยี และมีทรัพยากรมนุษย์เป็นของตนเอง พัฒนาอะไรได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องคอยใคร ไม่ต้องพึ่งใคร รวมทั้งไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์กับใคร
ทว่าประเทศเล็กชาติน้อยอย่างฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ที่ไม่มีทรัพยากร จะทำอะไรแต่ละครั้งก็ต้องนั่งเงียบๆ และใช้หางตาซ้ายชำเลืองไปดูประเทศอื่นว่าจะช่วยลงขันกันเท่าใด ไอ้ความขาดแคลนนี่แหละครับที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง
ประเทศเล็กชาติน้อยเหล่านี้เริ่มมีอาการตระหนกตกใจ เมื่อนายทุนใหญ่ซึ่งเป็นลูกพี่ดั้งเดิมเริ่มจะหันไปคบกับเบอร์หนึ่งในทวีปยุโรปอย่างรัสเซีย ซึ่งรัสเซียเองก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเบอร์หนึ่งของทวีปเอเชียอย่างจีน
ภูมิรัฐศาสตร์กับอำนาจการเมืองระหว่างประเทศกำลังจะเปลี่ยนไป พวกเบอร์ใหญ่อาจจะหันมาคบค้าสมาคมกันเอง พวกเบอร์รองก็จะต้องกลายเป็นประเทศชั้นสอง จึงมีความจำเป็นที่ต้องรวมกันโดยใช้คติของช่างตัดผมที่ว่าหลายหัวดีกว่าหัวเดียว
แต่หัวเล็กหลายหัวพวกนี้เคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาตั้งแต่อดีต แย่งชิงความเด่น ที่ชัดในปัจจุบันก็คือมาครง ที่พยายามกระดิกพลิกตัวแรง แต่ก็ไม่ทราบว่าฝรั่งเศสจะมีศักยภาพนำยุโรปได้มากน้อยแค่ไหน.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม
————————————————————————————————–
ที่มา :สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 มี.ค.2568
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2849072