พอล อดัมส์
——————-
ผู้สื่อข่าวด้านการทูต
ความสำคัญของข่าวกรองจากสหรัฐฯ ต่อยูเครนไม่เคยได้รับการชี้แจงในรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า สิ่งนี้ทำหน้าที่หลัก ๆ อยู่สองประการ นั่นคือช่วยให้ยูเครนสามารถวางแผนปฏิบัติการเชิงรุกต่อกองทัพรัสเซีย และช่วยให้รัฐบาลยูเครนได้รับคำเตือนที่สำคัญล่วงหน้าได้ ในกรณีมีภัยคุกคามที่กำลังจะมาถึงจากการโจมตีโดยโดรนและขีปนาวุธของรัสเซีย
ขณะเดียวกันข้อมูลจากดาวเทียมและการดักฟังสัญญาณยังช่วยให้กองทัพยูเครนที่อยู่แนวหน้าสามารถรับรู้ถึงจุดที่กองกำลังรัสเซียประจำการกันอยู่ได้ รวมไปจนถึงความเคลื่อนไหวและเจตนาที่จะโจมตีของกองทัพรัสเซีย
หากปราศจากข่าวกรองจากสหรัฐฯ แล้ว ยูเครนจะไม่สามารถใช้ยุทโธปกรณ์ที่ได้รับจากชาติตะวันตกที่มีขีดความสามารถในการโจมตีระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบยิงจรวดไฮมาร์ส (HIMAS) ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ หรือ สตอร์ม ชาโดว์ (Storm Shadow) ซึ่งเป็นขีปนาวุธที่พัฒนาร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส
นอกจากเพื่อจุดประสงค์ทางการทหารดังกล่าวแล้ว การนำส่งข้อมูลอย่างต่อเนื่องแบบเรียลไทม์ (ตามเวลาจริง) จากรัฐบาลสหรัฐฯ ก็สามารถช่วยให้ทั้งกองทัพยูเครน โครงสร้างระดับชาติที่สำคัญ รวมถึงพลเมืองชาวยูเครน สามารถได้รับรู้ข้อมูลล่วงหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับภัยคุกคามที่กำลังจะมาถึงด้วย
ระบบเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือและระบบไซเรนแจ้งเตือนการโจมตีทางอากาศของยูเครนได้รับข้อมูลมาไม่มากก็น้อยจากข้อมูลการเตือนภัยล่วงหน้าจากดาวเทียมของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถตรวจจับการปล่อยเครื่องบินและขีปนาวุธที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียได้
หากเกิดการหยุดชะงักใด ๆ ในการนำส่งข้อมูลข่าวกรองจากสหรัฐฯ ก็อาจจะสร้างผลกระทบอันเลวร้ายต่อความสามารถด้านการปกป้องตนเองของยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้สั่งระงับความช่วยเหลือทางทหารที่จำเป็นต่อยูเครนไปแล้ว
ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยูเครนคาดหวังว่าจะได้รับยุทโธปกรณ์สำหรับการต่อต้านอากาศยานเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบต่อต้านขีปนาวุธ “แพทริออต” (Patriot) ที่สามารถช่วยให้ยูเครนเพิ่มขอบเขตการป้องกันเป้าหมายได้กว้างขวางขึ้น ซึ่งรวมไปถึงเมืองต่าง ๆ และโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ
ทว่า ในตอนนี้ มิสไซล์แพทริออตที่ยูเครนมีอยู่ในคลังอาวุธกำลังจะหมดลง ล่าสุดชาติยุโรปสัญญาว่าจะส่งมอบระบบการยิงขีปนาวุธระยะกลางและระยะไกลให้กับยูเครนเพื่อช่วยในการรับมือกับภัยคุกคามบางส่วน แต่ระบบดังกล่าวยังไม่สามารถรับมือขีปนาวุธนำวิถีที่มีความเร็วเหนือเสียงอันร้ายกาจของรัสเซียได้
เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ กำลังใช้การระงับความช่วยเหลือทางทหารและข่าวกรองเป็นคานงัดทางการทูตอีกอันหนึ่ง
ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครนสามารถกลับมาดำเนินการต่อได้ หากยูเครนตกลงที่จะเข้าร่วมในความพยายามทางการทูตที่นำโดยสหรัฐฯ
“ผมคิดว่า หากพวกเราสามารถตอกย้ำการเจรจานี้ และมุ่งไปข้างหน้าด้วยการเจรจานี้ ประธานาธิบดีย่อมจะพิจารณาที่จะยกเลิกการระงับครั้งนี้ไป” เขากล่าวกับฟ็อกซ์นิวส์
จอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency – CIA) บอกกับรายงานฟ็อกซ์ บิสซิเนสว่า การระงับครั้งนี้ “จะหายไป”
แต่นี่ก็เป็นสัญญาณชัดเจนด้วยว่า ทำเนียบขาวต้องการให้ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ตอบแทนอะไรกลับมา
———————————————————————————————————————–
ที่มา : bbcthailand / วันที่เผยแพร่ 6 มีนาคม 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c1lpep29p5mo