กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อน ซึ่งอ่อนไหวต่อแผ่นดินไหว เมื่อดินอ่อนได้รับแรงสั่นสะเทือนจากคลื่นผิวโลก เกิดการสั่นสะเทือนรุนแรง ตึกโยกเยกไปมา
สงสัยกันไหม “แผ่นดินไหวในเมียนมาทำไมสั่นตึกสะเทือนซะรุนแรง“ เรื่องนี้ข้อมูลทางธรณีวิทยา และฟิสิกส์ อาจไขกระจ่างได้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า พื้นผิวโลกไม่ได้เหมือนกันทุกหนแห่ง บางแห่งเป็นพื้นที่แข็ง เช่น เชียงใหม่ หรือบางแห่งเป็นพื้นที่ดินอ่อน เช่น กรุงเทพฯ
ประเด็นก็คือ “ดินเหนียวอ่อน” (อยู่ชั้นบนราว 20-30 เมตรของกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ค่อนข้างไม่ถูกโฉลกกับแผ่นดินไหวอย่างแรง ให้นึกภาพว่าชั้นดินเหนียวเป็นเหมือนเยลลี่ก้อนใหญ่ ๆ ทีนี้ หลังจากเกิดแผ่นดินไหว จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า “คลื่นแผ่นดินไหว”
คลื่นแผ่นดินไหว แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ 1. คลื่นภายในโลก (P-wave) 2. คลื่นผิวโลก (S-wave) ให้โฟกัสไปที่ข้อที่สอง “คลื่นผิวโลก” จะสร้างแรงสั่นสะเทือน ที่เคลื่อนที่ไปตามพื้นผิวโลก หรือพูดง่าย ๆ คือเป็นคลื่นที่ทำให้มีการสั่นบนผิวโลกเยอะ
กล่าวคือ บริเวณที่มีพื้นที่แข็ง เช่น เชียงใหม่ คลื่นจะสั่นสะเทือนน้อยกว่า และเคลื่อนที่ได้เร็วกว่า แต่เมื่อบริเวณที่มี “ดินอ่อน” ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากคลื่นผิวโลก (S-wave) ก็จะเกิดการสั่นสะเทือนรุนแรง ตึกโยกเยกไปมาจนเรารู้สึกได้ คล้ายกับเยลลี่บนจานที่ถูกสั่นไปมา ๆ
ตัวอย่างที่มักหยิบยกมาอธิบายคือ แผ่นดินไหว เม็กซิโก ปี 1985 ครั้งนั้นเกิดแผ่นดินไหวในเมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจาก Mexico City (เมืองหลวง) ออกไปราว 320 กิโลเมตร
ผลปรากฏว่า Mexico City กลับได้รับความเสียหายอย่างหนัก อาคาร บ้านเรือน พังครืนนับ 10,000 หลัง
ภายหลังมีการวิจัยและสรุปว่า สาเหตุมาจากแอ่งตะกินใต้ดิน ที่กักเก็บแรงสั่นสะเทือนจากคลื่นแผ่นดินไหวเอาไว้ และถ่ายโอนแรงสั่นสะเทือนไปยังอาคาร คล้าย ๆ กับที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ
ขณะเดียวกัน ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในกรณีของกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มองว่า ค่าความถี่ธรรมชาติ (natural frequency) ของอาคารกับคลื่นแผ่นดินไหวตรงกันพอดี กระทั่งเกิดการกำทอน (resonance) จนตึกถล่มลงมานั่นเอง
นี่พอจะสะท้อนให้เห็นว่ากรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย ซึ่งตั้งอยู่บนแอ่งตะกอน และใต้ดินเป็นดินเหนียวอ่อน ไม่ได้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวอีกต่อไป แม้จะอยู่ห่างออก (รอยเลื่อนสะกาย) ออกไปหลักร้อยหรือพันกิโลเมตรก็ตาม
อย่างไรก็ดี ภัยแผ่นดินไหวอันมีเหตุมาจากรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมานั้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง หนล่าสุด 28 มี.ค. 68 มีขนาด 7.7 ลึก 10 กิโลเมตร ในอดีต รอยเลื่อนสะกายสร้างแผ่นดินไหว ที่ขนาดมากกว่า 7.0 ทั้งหมด 70 ครั้ง (พ.ศ. 1972-2534) โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดคือ วันที่ 23 พ.ค. 2455 ขนาด 8.0 ที่เมืองมัณฑะเลย์ในเมียนมา
————————————————————————————————–
ที่มา : springnews / วันที่เผยแพร่ 29 มี.ค.2568
Link : https://shorturl.at/5Qkzn