ไม่ใช่แค่คนไทยที่ไว้ใจกันเกิน รัฐบาลสหรัฐเผยมิจฉาชีพล่าเหยื่อ ‘ผู้สูงอายุ’ พบกลโกงออนไลน์รูปแบบใหม่ ‘ดูดเงิน’ กว่า 8.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
“ยุคดิจิทัล” มาพร้อมกับความสะดวกสบายและโอกาสมากมาย ทว่าในอีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างไร้พรมแดนนี้ก็ได้กลายเป็นช่องทางอันแสนสะดวกให้กับเหล่า “มิจฉาชีพ” ในการก่ออาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและจิตใจของผู้บริสุทธิ์อย่างมหาศาล
เรื่องนักต้มตุ๋น มิจฉาชีพ กลโกงออนไลน์ ไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะตอนนี้ปัญกาการถูกหลอกลวงระบาดไปทั่วโลก รวมถึงดินแดน “สหรัฐ” ด้วย
ข้อมูลล่าสุดจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความน่ากังวลของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยมีการรายงานมูลค่าความเสียหายจากการฉ้อโกงสูงถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 8.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากปี 2563 เรื่องนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าอาชญากรรมออนไลน์กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง
กลุ่ม ‘สูงวัย’ เป้าหมายมิจจี้
“ผู้สูงอายุ” เป็นกลุ่มที่น่ากังวล โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะมีรายงานการฉ้อโกงจากกลุ่มนี้เพียง 4% แต่พวกเขากลับต้องเผชิญกับความเสียหายทางการเงินเฉลี่ยคนละ 1,450 ดอลลาร์ หรือราว 48,851 บาท
ตามด้วยผู้สูงอายุกลุ่มอายุ 60 ถึง 69 ปี มีรายงานการถูกฉ้อโกงถึง 18% และมีความเสียหายเฉลี่ยอยู่ที่ 500 ดอลลาร์ หรือราว 16,844 บาท
นอกจากนี้สิ่งที่ควรระวังคือ ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปี มักตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงในรูปแบบของการแอบอ้างเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” มากที่สุด ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากการหลอกลวงด้านการลงทุนที่พบได้บ่อยในทุกช่วงวัย ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวและความเปราะบางของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ต่อกลอุบายที่มิจฉาชีพใช้ในการแอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการ
คนโดนหลอกเพิ่มขึ้น 784 %

มูลค่าความเสียหายจากการฉ้อโกงในสหรัฐ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 โดยจำแนกตามช่องทางการติดต่อที่มิจฉาชีพใช้
และเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2563
“โซเชียลมีเดีย” เป็นช่องทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายจากการฉ้อโกง สูงสุด ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 โดยมีมูลค่าความเสียหายถึง 442 ล้านดอลลาร์ และยังมีการ เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 784% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2563
ระวังโดนฉกข้อมูล ‘บัตรเครดิต’
“คริปโทเคอร์เรนซี” การลงทุนทางเลือกที่ถูกเหล่ามิจฉาชีพใช้เป็นหนึ่งในกลโกงเพราะเป็นการลงทุนที่มีความซับซ้อนและเป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้เหยื่อขาดความเข้าใจและตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ทั้งรูปแบบการแอบอ้างเป็นธุรกิจต่างๆ หรือเสนองานที่ไม่มีอยู่จริง
สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือ ข้อมูล “บัตรเครดิต” โดยนักต้มตุ๋นมักใช้ช่องทางการซื้อสินค้าออนไลน์ การเดินทาง การจองที่พัก การบริการด้านสุขภาพ และทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต
ซึ่งเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลบัตรเครดิตของเหยื่อเพื่อทำการฉ้อโกงได้ง่ายขึ้น
วิวัฒนาการ ‘กลโกง’
ในยุคนี้ต้องยอมรับว่ารูปแบบกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่กลลวงที่ถูกใช้มากที่สุดคือ การหลอกลวงโดยการแอบอ้างเป็นคนที่เหยื่อรู้จักหรือไว้ใจ ซึ่งสร้างความเสียหายทางการเงินมากที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการหลอกลวงในรูปแบบของการสร้างความสัมพันธ์รักหลอกลวง หรือ “romance scams”
ย้อนกลับไปในปี 2563 รูปแบบการฉ้อโกงที่ถูกรายงานมากที่สุดคือการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นกลลวงที่มุ่งเป้าไปที่ความหวาดกลัวและความเคารพต่ออำนาจรัฐของผู้คน
หลังจากนั้น การฉ้อโกงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระบาดมากขึ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าความเสียหายจากการฉ้อโกงทั้งหมดที่รายงานในปี 2567
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ชี้ให้เห็นถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นของมิจฉาชีพในการล่อลวงเหยื่อด้วยโอกาสทางการเงินที่ดูน่าดึงดูด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวน
อ้างอิง Bloomberg
————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 13 เมษายน 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1175726