ทีมข่าวไอที
ก่อนที่ไทยจะเผชิญเหตุแผ่นดินไหวเพียงหนึ่งวัน (27 มี.ค.2568) มีข่าวว่าข้อมูลคนไทยหลุดออกมาขายซ้ำอีกครั้ง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ออกมาแถลงข่าวกรณีข้อมูลคนไข้ในระบบ A-Med Care Plus 1.3 แสนรายถูกโจรกรรมเอาไปขายบนเว็บบอร์ดซื้อขายข้อมูลแห่งหนึ่งว่า ไม่ได้หลุดจากระบบ แต่เกิดขึ้นระหว่างโอนถ่ายข้อมูล
ล่าสุดเมื่อวานนี้ไปรษณีย์ไทยก็ออกมาแถลงว่าข้อมูลผู้ใช้บริการของตัวเองทั้ง ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัทพ์ อีเมล ถูกเอาไปเผยแพร่บน Dark Web แต่ข้อมูลที่ถูกเอามาเผยแพร่นี้ไม่มีข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน และทางหน่วยงานก็ได้ปิดช่องทางเข้าถึงข้อมูลทันทีพร้อมคุมเข้มยกระดับมาตรการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้บริการแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวลองเข้าไปดูในเว็บบอร์ดที่มีการขายข้อมูลเหล่านี้ยังพบอีกว่ายังมีการขายข้อมูลอีกชุดจากระบบ Health Data Center (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ด้วยมีจำนวน 210 ไฟล์ ขนาดไฟล์รวมทั้งหมด 150 GB ในโพสต์ขายระบุด้วยว่าเป็นข้อมูลจำนวน 622 ล้านบรรทัด และปัจจุบันโพสต์ประกาศขายดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดนั้น
ประกาศขายข้อมูล Health Data Center ของไทยบนเว็บบอร์ด Breachforums
ผู้ประกาศขายข้อมูลดังกล่าวใช้ชื่อในเว็บบอร์ดว่า “Satisfie” เขาได้ระบุว่าข้อมูลที่นำมาขายนั้นมีข้อมูลส่วนตัวของบุคคล ได้แก่ บัตรประชาชน ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เพศ ที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ และอื่นๆ อย่างไรก็ตามผู้ขายระบุด้วยว่าเมื่อตัดข้อมูลซ้ำออกตามข้อมูลบัตรประชาชนแล้วจะเหลือ 76,373,357 รายการ
นอกจากนั้นข้อมูลที่นำมาขายนี้ยังรวมไปถึงข้อมูลการวินิจฉัยโรค ข้อมูลการวิจัย ข้อมูลการตลาด ข้อมูลประกันและข้อมูลทางธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตามผู้ขายไม่ได้ระบุว่าได้ข้อมูลเหล่านี้มาด้วยวิธีการใด แต่เขาได้โพสต์ตัวอย่างข้อมูลแนบไว้ด้วย โดยมีภาพที่ระบุว่าเป็น Health Data Center ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูลอยู่ด้วย
Satisfie ระบุราคาข้อมูลที่นำมาขายเป็นจำนวน 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ (2,035,800 บาท) โดยรับแลกเปลี่ยนเป็นเงินคริปโตในสกุล XMR หรือ BTC
ผู้สื่อข่าวได้นำประเภทไฟล์และลักษณะการบันทึกข้อมูลไปสอบถามผู้เกี่ยวข้อง ทราบว่าเป็นข้อมูล Hospital Information Service ซึ่งเป็นข้อมูลจากโปรแกรมที่ทางโรงพยาบาลต่างๆ ส่งให้ “หมอพร้อม”
แต่นี่เป็นเพียงอีก 1 กรณีเท่านั้น เพราะเมื่อค้นหากระทู้ขายข้อมูลที่เกี่ยวกับประเทศไทยยังมีข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ข้อมูลของกระทรวงการคลังขนาด 5.9 เทระไบต์ กรมการขนส่งทางบก (ตัวย่อ DLT) มหาวิทยาลัยต่างๆ ไปจนถึงบริษัทประกัน รวมถึงไปรษณีย์ไทยรอบล่าสุดนี้ด้วย
กระทู้ขายข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวกับประเทศไทยบนเว็บบอร์ด Breachforums
ข้อมูลยังหลุดมาขายบนเว็บเดิม ๆ
นอกจาก 3 กรณีล่าสุดนี้แล้ว ที่ผ่านมาข้อมูลส่วนตัวบุคคลด้านสาธารณสุขของไทยก็หลุดมาก่อนแล้วหลายครั้งและเป็นข่าวใหญ่ทุกครั้ง
ช่วงกันยายนปี 2564 มีกรณีข้อมูลคนไข้ของกระทรวงสาธารณสุขกว่า 16 ล้านรายการถูกประกาศขายมีทั้งข้อมูลเลขทะเบียนผู้ป่วย ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ ชื่อแพทย์เจ้าของไข้ โรงพยาบาล และรายละเอียดผู้ป่วยต่างๆ ถูกประกาศขายในราคา 500 ดอลลาร์สหรัฐ
กรณี 9Near เมื่อมีนาคม 2566 ที่ประกาศขายข้อมูลคนไทยจำนวน 55 ล้านคนแม้ว่าตอนแรกจะไม่ได้บอกว่าได้มาจากหน่วยงานใด แต่หลังจากเป็นข่าวและหน่วยงานรัฐออกมาปฏิเสธ เขาก็ได้ออกมายืนยันว่าได้มาจากหน่วยงานรัฐและภายหลังปรากฏว่ามาจากระบบ ‘หมอพร้อม’ สุดท้ายกรณีนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงดิจิทัลฯ สามารถติดตามจับกุมมาได้พบว่าเป็นทหารยศสิบโทพร้อมภรรยาที่เป็นพยาบาล
หลังกรณี 9Near ยังมีกรณีตามมาอีกในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว Infamous ประกาศขายข้อมูลคนไทยที่ได้มาจากหน่วยงานสาธารณสุขจำนวน 2.2 ล้านรายการในราคา 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ แม้ว่าหลังเกิดเหตุชลน่าน ศรีแก้ว ที่นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอยู่จะบอกว่า ไม่ได้เป็นข้อมูลมาจากกระทรวงและไม่ทราบว่ามาจากหน่วยงานใด จนตอนหลังผู้ขายข้อมูลเปิดตัวอย่างข้อมูลออกมา ทำให้ทราบว่าเป็นชุดข้อมูลที่ใช้กันภายในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่สามารถเห็นชุดข้อมูลจริงๆ ของผู้ขายเหล่านี้ได้ ทำให้ไม่ทราบว่าข้อมูลที่นำมาขายเป็นชุดเดียวกันที่เอามาวนทยอยปล่อยขายหรือเป็นข้อมูลที่รั่วออกมาใหม่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ข้อมูลส่วนบุคคลไทยขายเกลื่อน DES เผยเอาผิดได้ไม่เต็มที่ เหตุ กม.เลื่อนบังคับใช้
- แถลงกรณี 9near พบเป็นทหาร ประสานต้นสังกัดแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา รั่วจากไหนทำทำไม ขอให้ได้ตัวมาก่อน
- ‘Infamous’ ลงตัวอย่างข้อมูลเพิ่ม ยืนยันได้ข้อมูลคนไทย 2.2 ล้านคน มาจาก สธ.จริง
แม้ว่าจะไม่สามารถบอกได้ว่าข้อมูลเหล่านี้มีการประกาศขายที่ไหนบ้างหรือมีวิธีการได้ข้อมูลมาที่แน่ชัดนัก แต่พบว่าหลายครั้งที่ปรากฏข่าวข้อมูลของหน่วยงานรัฐไทยหรือเอกชนไทยหลุดขายบนเว็บไซต์ มักปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดที่ใช้ชื่อว่า Breachforums ที่มีการย้ายเว็บไซต์มาบ้างแล้วแต่ยังคงใช้ชื่อเหมือนเดิม หรือก่อนหน้านี้ก็เคยมีเว็บบอร์ดชื่อ Raidforums ซึ่งมีดีไซน์ใกล้เคียงกันแต่เจ้าของเว็บบอร์ดรายนี้ปรากฏข่าวว่าถูกจับกุมไปเมื่อปี 2565
ทั้งนี้เว็บบอร์ดทั้ง 2 แห่งนี้ ที่ผ่านมาสามารถค้นหาพบได้ผ่านเซิร์ชเอนจิ้นทั่วๆ ไปอย่างบริการของ Google และบุคคลทั่วไปสามารถกดเข้าไปดูได้โดยไม่ต้องมีล็อกอินเพื่อเข้าไปดูข้อมูลการขาย แต่หลังจากกรณี Infamous เป็นต้นมาพบว่า Breachforums ได้ย้ายที่อยู่ของเว็บและการจะเข้าไปดูข้อมูลการขายจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนล็อกอินเข้าสู่ระบบของเว็บบอร์ด และคาดหมายได้ว่าในอนาคตผู้ให้บริการก็อาจจะย้ายที่อยู่ของเว็บบอร์ดได้อีก
แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะตกเป็นข่าวบ่อย แต่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยสถิติปี 2567 และ 3 เดือนแรกของปี 2568 ถึงจำนวนครั้งที่หน่วยงานรัฐและเอกชนเผชิญปัญหาการโจมตีระบบออนไลน์ไว้
หากเข้าไปดูในเว็บบอร์ดดังกล่าว นอกจากข้อมูลที่ตกเป็นข่าวบ่อยๆ แล้วก็ยังจะพบอีกว่ายังมีข้อมูลของหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่นกระทรวงการคลังที่มีคนเอามาประกาศขายว่ามีขนาดไฟล์รวมถึง 5.9 เทอร์ราไบต์ ข้อมูลผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ หรือข้อมูลของบริษัทเอกชนอย่างบริษัทประกันอลิอันซ์ กรมขนส่งทางบก เป็นต้น
ข้อมูลของกระทรวงการคลังที่ถูกเอามาขาย
ในสถิติของ สกมช.พบว่า 3 อันดับแรก คือ หน่วยงานด้านการศึกษามีสถิติสูงที่สุด ส่วนรองลงมาคือการเงินการธนาคาร (ถ้าตัดส่วนที่เป็นหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่รวมกันแล้วเป็นรองลงมา) และผู้ประกอบการเอกชนสัญชาติไทย ส่วนหน่วยงานด้านสาธารณสุขมาเป็นอันดับ 7
หน่วยงานที่ถูกโจมตี | ปี 2567 | ปี 2568(ม.ค.-มี.ค.) | รวม 67-68 |
การศึกษา | 555 | 149 | 704 |
หน่วยงานของรัฐ ด้านอื่นๆ | 475 | 106 | 581 |
การเงินการธนาคาร | 231 | 105 | 336 |
ผู้ประกอบการพาณิชย์ที่เป็นบริษัทเอกชน สัญชาติไทย | 183 | 56 | 239 |
พลังงานและสาธารณูปโภค | 118 | 8 | 126 |
แจ้งเตือนทุกหน่วยงานภายใต้ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ | 87 | 20 | 107 |
สาธารณสุข | 75 | 32 | 107 |
ความมั่นคง | 75 | 23 | 98 |
ขนส่งและโลจิสติกส์ | 79 | 13 | 92 |
เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม | 67 | 14 | 81 |
อื่นๆ | 40 | 16 | 56 |
ผู้ประกอบการพาณิชต่างประเทศที่มีที่ตั้งในประเทศไทย | 30 | 21 | 51 |
บริการภาครัฐ | 34 | 2 | 36 |
ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ระบบ หรืออุปกรณ์ทางเทคโนโลยี | 30 | 6 | 36 |
ผู้ประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่เว็บไซต์หรือที่เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ | 13 | 13 | 26 |
ผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ | 20 | 1 | 21 |
กลุ่มจัดตั้ง ชมรม สมาคม | 9 | 4 | 13 |
ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย | 9 | 0 | 9 |
เว็บไซต์ที่มีการสมาชิกหรือใช้เป็นเว็บบอร์ด | 5 | 0 | 5 |
รวม | 2,135 | 589 | 2,724 |
หมายเหตุ – ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ปี 2567 และ 2568 เรียงตามลำดับของหน่วยงานที่ถูกโจมตีมากไปน้อย
นอกจากนั้นยังให้สถิติประเภทของภัยที่เกิดต่อระบบไว้ด้วย โดยจำนวนที่มีมากที่สุดคือ “ความพยายามเจาะระบบ” มีจำนวนมากที่สุดคือ 1,161 ครั้ง แต่เป็นกรณีที่ถูกบุกเจาะได้ 205 ครั้ง (ปีนี้ยังไม่มีครั้งที่สำเร็จ) และถ้าหากดูประเภทการโจมตีต่างๆ จะพบว่า นอกจาการเจาะระบบแล้วการโจมตีบางประเภทก็สามารถทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลได้ด้วย เช่นการหลอกลวงให้กดลิงก์เพื่อขโมยบัญชี (Fraud) หรือการถูกโจมตีด้วยโทรจันที่ทำให้อุปกรณ์ถูกผู้ที่พยายามเจาะระบบสามารถยึดเครื่องได้ตามมา
รูปแบบภัยคุกคาม | 2567 | 2568(ม.ค.-มี.ค.) | รวม 67-68 |
ความพยายามในการบุกรุก (Intrusion Attempts) | 913 | 248 | 1,161 |
การฉ้อโกง (Fraud) | 525 | 191 | 716 |
ความปลอดภัยของเนื้อหาข้อมูล (Information Content Security) | 309 | 87 | 396 |
การบุกรุกระบบ (Intrusions) | 205 | 0 | 205 |
ความพร้อมใช้งานของระบบ (Availability) | 109 | 23 | 132 |
ไวรัส โทรจัน หรือ แรนซัมแวร์ ฯลฯ (Malicious Code) | 73 | 40 | 113 |
เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นภัย (Abusive Content) | 1 | 0 | 1 |
รวม | 2,135 | 589 | 2,724 |
หมายเหตุ – ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ปี 2567 และ 2568
อย่างไรก็ตาม ในการเผยแพร่สถิติของ สกมช. ไม่ได้แยกข้อมูลว่าแต่ละหน่วยงานเผชิญปัญหาความปลอดภัยรูปแบบใดบ้างเอาไว้ ทำให้บอกไม่ได้ว่าหน่วยงานที่เกิดปัญหาความปลอดภัยของข้อมูลมากที่สุดถูกโจมตีระบบกี่ครั้ง
เราจะเห็นว่าการไล่ปิดเว็บขายไล่จับคนขโมยคงไม่เพียงพอในเกมแมวไล่จับหนูนี้ และแม้จะมีการวางระบบป้องกันอาจจะไม่ได้ทำให้ปัญหาข้อมูลหลุดหมดสิ้นไป แต่อย่างน้อยก็อาจพอจะลดความเสียหายลงได้บ้าง
————————————————————————————————–
ที่มา :prachatai / วันที่เผยแพร่ 4 เมษายน 2568
Link : https://prachatai.com/journal/2025/04/112536