สำนักงานบริการทางการเงินของญี่ปุ่น (FSA) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนก.พ. มีรายงานเหตุการณ์แฮกระบบซื้อขายหุ้นออนไลน์แล้วอย่างน้อย 1,454 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมเกือบ 1 แสนล้านเยน (700 ล้านดอลลาร์) โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของการหลอกลวงแบบฟิชชิง (phishing scams) ที่แพร่ระบาดในประเทศอย่างรวดเร็ว
FSA ระบุว่า เฉพาะในช่วง 16 วันแรกของเดือนเม.ย. มีการซื้อขายที่ไม่ได้รับอนุญาตถึง 736 ครั้ง เพิ่มขึ้นจาก 685 ครั้งในเดือนมี.ค. และ 33 ครั้งในเดือนก.พ. โดยมีบริษัทโบรกเกอร์ออนไลน์ 6 แห่งที่ได้รับผลกระทบในเดือนนี้
เจ้าหน้าที่ FSA แถลงต่อสื่อมวลชนในวันนี้ (18 เม.ย.) ว่า บริษัทโบรกเกอร์สามารถชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้าได้ พร้อมเปิดเผยว่า ในหลายกรณี แฮกเกอร์มักใช้วิธีขายหุ้นจากบัญชีที่ถูกเจาะเข้าถึงแล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นจีน โดยยอดขายที่เกิดจากการแฮกมีมูลค่าแตะ 5.06 หมื่นล้านเยน ส่วนคำสั่งซื้ออยู่ที่ 4.48 หมื่นล้านเยน
บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำอย่าง โนมูระ โฮลดิงส์ (Nomura Holdings), เอสเอ็มบีซี นิกโก ซีเคียวริตีส์ (SMBC Nikko Securities) และเอสบีไอ โฮลดิ้งส์ (SBI Holdings) ต่างก็ได้รับผลกระทบจากธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากที่ ราคูเทน ซีเคียวริตีส์ (Rakuten Securities) เป็นรายแรกที่ตรวจพบความผิดปกติเมื่อปลายเดือนมี.ค. ซึ่งส่งผลให้สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ญี่ปุ่น (JSDA) ต้องออกมาเรียกร้องให้บริษัทโบรกเกอร์เพิ่มความเข้มงวดในข้อกำหนดการยืนยันตัวตนสำหรับบัญชีลูกค้า
ทั้งนี้ FSA ระบุย้ำว่า ข้อมูลที่เปิดเผยในขณะนี้ยังเป็นเพียงรายงานเบื้องต้นจากบริษัทหลักทรัพย์ และคาดว่ามูลค่าความเสียหายที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 68)
————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ / วันที่เผยแพร่ 18 เมษายน 2568
Link : https://www.infoquest.co.th/2025/487933