“ยูเครน” เจอ “อีโคไซด์” (Ecocide) หรือ การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง จากสงคราม เกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษในอากาศ สารพิษซึมเข้าไปในดินและในน้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายไป
“สงครามรัสเซีย-ยูเครน” สร้างผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะทำให้ทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก บ้านเรือนได้รับความเสียหาย กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมยังถูกทำลายในระดับรุนแรง หรือที่เรียกว่า “อีโคไซด์” (Ecocide)
ต่อให้ในอนาคตสงครามอาจยุติลง แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าความเสียหายจากสงครามจะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายทศวรรษ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ระบบนิเวศ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ไม่สามารถทำอาชีพต่าง ๆ ได้
สงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้าสู่ปีที่ 4 ทางการยูเครนกำลังรวบรวมหลักฐาน ยื่นฟ้องคดีอาชญากรรมสงครามด้านสิ่งแวดล้อมต่อรัสเซีย 247 คดีกับศาลอาญาระหว่างประเทศ หลังจากเกิดถูกโจมตีทางสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ยูเครนระบุค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดตั้งแต่เกิดสงครามมีมูลค่ามากกว่า 85,000 ล้านดอลลาร์
นักข่าวของนิวยอร์กไทมส์ได้เดินทางไปยังพื้นที่สงครามในยูเครน เพื่อสำรวจความเสียหายของสิ่งแวดล้อม
- น้ำปนเปื้อนสารพิษ
ทุ่งนาเต็มไปด้วยหลุมระเบิด ดินปนเปื้อนด้วยสารตกค้างของวัตถุระเบิด ถังเชื้อเพลิงที่ถูกเผาไหม้ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ และไฟป่าลุกไหม้อย่างไม่หยุดยั้งในเขตสู้รบ น้ำจากอ่างเก็บน้ำไหลออกจากเขื่อนที่ถูกทำลาย ทำให้เกิดภัยแล้งบริเวณต้นน้ำและน้ำท่วมท้ายเขื่อน พืชและสัตว์ล้มตายเป็นจำนวนมาก
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้สิ่งแวดล้อมของยูเครนได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุด เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 เมื่อเขื่อนคาคอฟกาถูกระเบิด ทำให้เกิดน้ำท่วม ตะกอนพิษและน้ำจืดนับล้านล้านแกลลอนไหลลงสู่ทะเลดำ และทำลายระบบนิเวศชายฝั่งในช่วงที่สิ่งมีชีวิตในทะเลสืบพันธุ์สูงสุด ที่สำคัญอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ให้การชลประทานแก่พื้นที่ทางตอนใต้ของยูเครนเป็นส่วนใหญ่ ในไม่ช้า พื้นที่เกษตรกรรมในภูมิภาคนี้ก็เริ่มแห้งแล้ง
เหมืองถ่านหินหลายสิบแห่งตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญกลัวว่าเหมืองเหล่านี้จะถูกปิดอย่างไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้มีน้ำใต้ดินไหลท่วมอุโมงค์และถ้ำ และปล่อยสารพิษออกมา ไหลรวมกับน้ำใต้ดินและแม่น้ำ จนเกิดการปนเปื้อนไม่สามารถนำน้ำใต้ดินมาบริโภคได้
โครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานของดอนบาสถูกทำลายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 ท่อน้ำและโรงบำบัดน้ำที่เสียหาย ทำให้ผู้คนต้องเจาะบ่อน้ำในสวนหลังบ้าน ปัจจุบัน บ่อน้ำหลายร้อยบ่อทำให้ชั้นน้ำผสมกันและแพร่กระจายสารปนเปื้อนจากเหมือง
- ดินถูกทำลาย
ยูเครนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหลักของยุโรป เพราะมี “ดินสีดำ” (Chernozem) ที่อุดมไปด้วยสารอาหาร ถูกขนาดนามว่าเป็น “ราชาแห่งดิน” แต่พื้นที่ที่มีดินชนิดนี้มากกลายเป็นสนามรบไปเสียแล้ว และแน่นอนว่าวัตถุระเบิดและโลหะหนักจะยังคงตกค้างอยู่ในผืนดิน ส่งผลเสียต่อภาคเกษตรกรรม หนึ่งในธุรกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ
โลหะหนักเหล่านี้จะยังตกค้างอยู่ในดินไปอีกนาน เห็นได้จากดินในฝรั่งเศสยังคงปนเปื้อนโลหะหนักเกินระดับที่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ แม้ว่าจะผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 มาแล้วเกินร้อยปีก็ตาม
กิจกรรมทางสงคราม ทั้งวัตถุระเบิดที่มีพลังทำลายล้างสูง การขุดสนามเพลาะ ป้อมปราการ และหลุมหลบภัยยังทำลายระบบนิเวศอีกด้วย ในพื้นที่ 150 ตารางไมล์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองคาร์คิฟ มีหลุมระเบิดจากกระสุนปืนใหญ่ 30,000 หลุม นอกจากนี้พื้นที่ประมาณ 10% อุทยานแห่งชาติชอล์กฟลอรา รีเซิร์ฟ ได้รับความเสียหายจากการขุดสนามเพลาะโดยทหารยูเครน ซึ่งจะต้องใช้เวลามากกว่า 100 ปีเพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
การสู้รบที่ดุเดือดหลายครั้งเกิดขึ้นในป่าสนที่แห้งสนิท ระเบิดบางชนิดทำให้เกิดไฟป่าโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่บางครั้งจุดไฟเพื่อขับไล่ทหารออกจากที่ซ่อน เมื่อรวมกับการจัดการป่าไม้ที่ผิดพลาดมาหลายศตวรรษ อนุญาตให้ตัดไม้และปลูกต้นไม้ทดแทนในระยะห่างที่จำกัดได้ ทำให้เกิดไฟฟ้าลุกลามจนไม่สามารถควบคุมได้
การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ป่าไม้หลายร้อยหรืออาจถึงหลายพันตารางไมล์ถูกเผาไหม้ตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตี รายงานฉบับหนึ่งประเมินความเสียหายไว้ที่ 18,000 ล้านดอลลาร์ โดยไบรอัน มิลาคอฟสกี ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ชาวอเมริกัน ผู้เคยอาศัยอยู่ในยูเครนตะวันออกเป็นเวลาหลายปีก่อนเกิดสงคราม กล่าวว่า “ป่าสนกำลังหายไปจากพื้นที่ทางตะวันออกเพราะไฟป่า”
ฤดูไฟไป่าของยูเครนในปี 2024 ถือเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ แค่ในวันที่ 7 กันยายน 2024 วันเดียวก็เกิดไฟไหม้มากกว่า 7,000 ครั้ง
- ระบบนิเวศและชีวิตสัตว์ป่าเปลี่ยนไป
ในช่วง 3 ปีที่เกิดสงครามจำนวนสัตว์ป่า เช่น หมูป่า กวาง จิ้งจอก และหมาป่า เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โรคต่าง ๆ เช่น โรคพิษสุนัขบ้าแพร่กระจาย เนื่องจากมีข้อจำกัดที่เข้มงวดในการล่าสัตว์ โดยวิกเตอร์ เชอร์โวนี ประธานสมาคมนักล่าสัตว์แห่งยูเครน ระบุว่าจำนวนสุนัขจิ้งจอกเพิ่มขึ้น 5 เท่าในภูมิภาคหนึ่ง และมีราว 20% ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าที่ล้มเหลว
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์ป่าเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เพราะพื้นที่ป่าที่เต็มไปด้วยทุ่นระเบิด และเครื่องบินไม่สามารถขึ้นบินได้ สำนักข่าวของยูเครนรายงานว่าทั้งพลเรือนและทหารเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า แม้ว่าจะไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการก็ตาม
“นกฟลามิงโก” เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เดิมทีแล้วนกฟลามิงโกอาศัยอยู่นภูมิภาคเคอร์ซอนและไครเมีย แต่หลังจากเกิดสงครามพวกมันจึงย้ายมาตั้งรกรากที่อุทยานแห่งชาติทุซลอฟสกีลากูนส์ริมชายฝั่งทะเลดำในปี 2023
แต่นกฟลามิงโกยังไม่วายถูกคุกคามจากโดรนบินต่ำของรัสเซียที่เข้าสำรวจพื้นที่ เมื่อนกฟลามิงโกได้ยินเสียงโดรนเหล่านี้ พวกมันก็จะออกจากรัง ทำให้นกนางนวลขาเหลืองสามารถเข้ามาขโมยไข่ จนไม่เหลือนักฟลามิงโกตัวใดรอดชีวิต
แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมในการกำจัดเศษซากจากอาคารกว่า 210,000 หลังที่ถูกทำลาย ซึ่งในตอนนี้พยายามรีไซเคิลเศษซากในเมืองต่าง ๆ ใกล้กรุงเคียฟ แต่ก็ยังคงทำได้ไม่มาก เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแยกเศษซากที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้จากวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดหรือแร่ใยหินที่เป็นส่วนประกอบของอาคารสาธารณะและที่อยู่อาศัยประมาณ 70% ของยูเครน อีกทั้งยังมีอุปสรรคจากทางราชการอีกด้วย
ยูเครนต้องการให้การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมรวมอยู่ในข้อตกลงสันติภาพ แต่ความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักกับรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็อาจจะทำให้ยูเครนไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ ในข้อตกลงนี้เลย
อิรินา วีคริสทิอุค ผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติทูซลอฟสกี้ลากูนส์ กังวลว่าการยุติสงครามจะนำมาซึ่งปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมชุดใหม่ แต่เธอกล่าวว่ายูเครนจำเป็นต้องค้นหาเศษเสี้ยวของธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่และปกป้องมัน
ความพยายามของยูเครนในการฟ้องร้องรัสเซียในข้อหาอีโคไซด์เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่ใช่เพียงการเรียกร้องในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่ยังต้องการความตระหนักรู้แก่คนทั้งโลกว่า สงครามไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อผู้คนและเมืองเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงธรรมชาติด้วย กว่าจะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปรกติได้ต้องใช้เวลาหลายสิบปี หรืออาจจะนานถึงร้อยปี ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผลกระทบเหล่านี้ก็จะลุกลามไปทั่วโลก
ยังไม่ชัดเจนว่าประชาคมโลกจะยอมรับว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักเป็นอาชญากรรมสงครามที่สามารถดำเนินคดีได้หรือไม่ แต่สำหรับยูเครน เป้าหมายชัดเจน นั่นคือ การนำความยุติธรรมคืนมาให้แก่ประเทศและธรรมชาติที่เสียหายหลังจากเกิดสงคราม
————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 12 เมษายน 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1175381