ถ้าเราไม่นับรวมโครงการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ สตง. วงเงินกว่า 2 .1 พันล้านบาท จะพบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น (ประเทศไทย) จำกัด (CREC No.10) มีทุนคนจีนอยู่กับเครือข่ายบริษัทต่าง ๆ และใช้ชื่อคนไทยเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ เป็นหุ้นส่วน
มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าบริษัทในสาแหรกเครือข่ายนี้ อาจเคยได้งานภาครัฐ ผ่าน 11 กิจการร่วมค้า และบริษัทในเครือข่าย ที่มีความเชื่อมโยงกัน 25 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
นับรวมโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 สัญญาที่ 3-1 อีกกว่าหมื่นล้านบาท ที่แม้คู่สัญญาไม่ใช่ ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ประเทศไทย จำกัด แต่พบความเชื่อมโยงภายใต้ ชื่อ กรรมการบริษัทเดียวกัน
ตัวอย่างแรกในเว็บไซต์ของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ( ITD) พบว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 มีข่าวพิธีลงนามสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 สัญญาที่ 3-1 พบชื่อ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด (China Railway No.10 Engineering Group Co.,Ltd ) ลงนามร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย
ในการทำสัญญาลงนาม นายชวนหลิง จาง เป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป (China Railway No.10 Engineering Group Co.,Ltd) ให้เป็นผู้ลงนาม
“ชวนหลิง จาง” ยังเป็นคนที่มีชื่อใน กรรมการบริษัท บริษัท ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์เทน (ประเทศไทย) (CREC No.10) ซึ่งรับงานสร้างตึก สตง. บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น (ประเทศไทย) จำกัด (CREC No.10)
มีกรรมการ 2 คน ได้แก่ นายชวนหลิง จาง กับ นายโสภณ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น (ประเทศไทย) (CREC No.10) ก็คือ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (China Railway No.10 Engineering Group Co.,Ltd) รัฐวิสาหกิจ 100 % จากจีน
ก่อสร้างภาครัฐ ภายใต้ทุนชาวจีน
ในระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยในปี 2561 มีข้อมูลเบื้องต้นจาก สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) พบว่า กิจการร่วมค้าอย่างน้อย 11 แห่ง ที่บริษัทนี้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ชนะการเสนอราคา กว่า 25 โครงการ ในวงเงินงบประมาณกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ตัวอย่าง เช่น
– กิจการร่วมค้า ทีพีซี ได้ 3 โครงการ คือ อาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์ เชียงราย, ถนนสาย สพ.3043 แยกทางหลวงหมายเลข 333 – บ้านทุ่งใหญ่ และถนนสาย สพ.4033 แยกทางหลวงหมายเลข 3052 บ้านหนองหลวง จ.สุพรรณบุรี
– กิจการร่วมค้า AGC10 Construction ได้งาน 3 โครงการ
– กิจการร่วมค้า อาร์แอลจี ได้งาน 3 โครงการ
– กิจการร่วมค้า AKC ได้งาน 6 โครงการ หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ ต.น้ำชำ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ ส่วนโครงการอื่นกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น จ.ภูเก็ต และสงขลา
– กิจการร่วมค้า ซีไอเอส 2 โครงการ คือ อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส และอาคารศูนย์ฝึกกีฬามวยมาตรฐานระดับสากล สนามกีฬาหัวหมาก
– กิจการร่วมค้า เอ็นซีอาร์อีซี ได้ 1 โครงการ ได้แก่ อาคารที่ทำการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จ.นนทบุรี
– กิจการร่วมค้า WGC10 Construction ได้ 1 โครงการที่จังหวัดภูเก็ต
รัฐวิสาหกิจจีน
กว่าจะแตกสาแหรก แยกย่อยกลายร่างเป็น บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น (ประเทศไทย) (CREC No.10) มีโครงข่ายอย่างไร
กลุ่มทุน China Railway Engineering Group Company Ltd. (CREC) เป็นกลุ่มทุนภายใต้การกำกับและบริหารทรัพย์สินของรัฐ (รัฐวิสาหกิจ) 46.96 % ผู้ถือหุ้นรายย่อย 22.47 % และ อีก 17.59 % คือ กองทุนประกันสังคม ของจีน (PRC)
China Railway Engineering Group (CREC ) ก่อตั้งมากว่า 130 ปี เป็นหนึ่งในบริษัทรับเหมาก่อสร้างและวิศวกรรมที่ใหญ่ติดอันดับโลก ดำเนินงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอุตสาหกรรม วิจัยและให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และพัฒนาทรัพยากร
CREC ขยายการลงทุน โดย จัดตั้งกิจการที่ใช้ชื่อว่า China Railway Group Ltd. (CRGL) เมื่อปี ค.ศ.1950 มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับดูแลทรัพย์สินของรัฐภายใต้สภาแห่งรัฐ (SASAC) เป็นกิจการก่อสร้างของทุนจีน และถูกจัดว่าเป็นบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่เป็นอันดับ 20 ของโลก ในปี 2020
CRGL มีกิจการที่รวมบริษัทก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การสำรวจและออกแบบ การผลิตอุตสาหกรรม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทรัพยากรและแร่ธาตุ การลงทุนและการเงิน มีกิจการก่อสร้างแบบครบวงจร ใหญ่ที่สุดในจีน และเอเชีย ได้ร่วมก่อสร้างเส้นทางรถไฟ เกือบทั้งหมดในจีน เช่น รถไฟสายแรก เฉิงตู-ฉงชิ่ง และถูกจัดอันดับที่ 35 จาก Fortune Global 500
CRGL มีบริษัทในเครือ ที่ใช้ชื่อว่า China Railway Engineering Group Co.,Ltd No .1 -10 หรือ ใช้ชื่อตัวย่อ CREC No. ตั้งแต่ 1-10 และมีอีกหลายกิจการ ที่ดำเนินงานด้านก่อสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นกิจการภายใต้ทุน CRGL และแน่นอน อยู่ภายใต้ CREC ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีน แบบ 100 %
ย้อนกลับมาที่ CREC No.10
CREC No.10 เป็นหนึ่งในกิจการของภายใต้ CRGL ซึ่งมี CREC เป็นบริษัทแม่ และได้งานสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 สัญญาที่ 3-1 ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย
และยังได้งานก่อสร้างอาคาร สตง. ในคราบกิจการร่วมค้า CREC -ITD
ไม่ได้มีแค่ CEEC No.10 เท่านั้น ที่กำลังรุกคืบรับเหมาก่อสร้างงานภาครัฐในไทย เพราะข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งค้นพบข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อีกกว่า 10 บริษัท เช่น
– บริษัท ไชน่า เรลเวย์ 11 บิวโร กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท ไชน่า เรลเวย์ 20 บิวโร กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท ไชน่า เรลเวย์ 23 อาร์ดี บิวโร กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น (เซาท์อีส เอเชีย) จำกัด
– บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
– บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ทาคาว่า โฮลดิงส์ (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท เอสทีพี อิมปอร์ต ข เอ็กซ์ปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท ไชน่า เรลเวย์ No.10 (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท ไชน่า เรลเวย์ No.2 (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เน่ชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท ไชน่า เรลเวย์ เฟิร์ส กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
ในจำนวนนี้ เกือบทั้งหมด พบในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
เรียบเรียง : ทีมข่าวสืบสวน ไทยพีบีเอส
————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวไทยพีบีเอส / วันที่เผยแพร่ 4 เมษายน 2568
Link : https://www.thaipbs.or.th/news/content/350937