วันที่ 2 เมษายน คือวันที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กำหนดไว้ว่าจะเป็นวัน “ประกาศอิสรภาพ” ของสหรัฐอเมริกา เมื่อพิกัดอัตราภาษีศุลกากรอัตราใหม่
ที่จะเรียกเก็บจากการนำเข้าสินค้าทุกอย่างจากทุกประเทศมาขายในสหรัฐอเมริกา มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
ซึ่งจะเป็นการยุติการเอารัดเอาเปรียบสหรัฐอเมริกาทางการค้าที่เป็นมาช้านานในความเห็นของทรัมป์ลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียที
ประธานาธิบดีอเมริกันบอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อ 31 มีนาคม อย่างอหังการว่า จะเริ่มบังคับใช้ภาษีอัตราใหม่ดังกล่าวนี้กับ “ทุกประเทศ” แล้ว “มาดูกันซิว่า จะเกิดอะไรขึ้น” ตามมา
นักสังเกตการณ์และผู้เชี่ยวชาญที่จับตาดูอยู่นอกวง ไม่ชื่นชมยินดีกับแนวทางและวิธีปฏิบัติเช่นนี้ของทรัมป์ เท่าใดนัก
บางคนอุปมาว่า คำประกาศของทรัมป์ ไม่ต่างอะไรกับการ “ประกาศสงครามการค้ากับทั้งโลก”
ในขณะที่อีกบางคนเชื่อว่า วิธีการของทรัมป์ มีแต่จะส่ง ผลร้ายต่อเศรษฐกิจและการค้า โดยรวมของสหรัฐอเมริกาเองสาหัสสากรรจ์
รวมทั้งเชื่อว่า การบังคับใช้มาตรการนี้แบบเหวี่ยงแหครอบคลุมทุกประเทศ ไม่เพียงเป็นการทำลายความสัมพันธ์ทางการค้าของสหรัฐอเมริกากับบรรดาพันธมิตรทั้งหลายแบบถอนรากถอนโคนเท่านั้น
แม้แต่ความสัมพันธ์ด้านอื่นที่เหลือ ก็อาจยากที่จะรักษาไว้ได้
ความเป็นจริงในเรื่องนี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในเอเชีย เมื่อพันธมิตรแนบแน่นของสหรัฐอเมริกาอย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จัดส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดทางการค้าของตนเอง ไปประชุมหารือกับตัวแทนของคู่แข่งสำคัญของสหรัฐอเมริกาอย่าง จีน
กลายเป็นการหารือ 3 ฝ่ายเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมาที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้
เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แรงบีบคั้นมหาศาลทางการค้าจากรัฐบาลทรัมป์ กลายเป็นแรงผลักดันให้ชาติที่เคยเป็นมิตรประเทศ พากันหันหลังกลับ เดินเข้าหา
และจับมือเป็นสหายสนิทกับคู่แข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแทนไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ล้วนจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด มูลค่าการค้าระหว่างกันในแต่ละปี โดยประมาณแล้วสูงถึง 582,000 ล้านดอลลาร์, 228,000 ล้านดอลลาร์
และ 197,000 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นผู้ส่งออกรถยนต์และอะไหล่รถยนต์รายสำคัญไปยังสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ไปสู่ตลาดสหรัฐอีกด้วย (ซึ่งทั้ง 2 กรณี สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีขาเข้าเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ไปเรียบร้อยแล้ว)
ที่สำคัญก็คือ ทั้ง 3 ประเทศมีประวัติได้เปรียบดุลการค้าเหนือสหรัฐอเมริกามหาศาลมาโดยตลอด ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ล้วนตกเป็นเป้าใหญ่ที่สุดในการบังคับใช้อัตราภาษีใหม่ของทรัมป์อย่างแน่นอน
หลังการประชุมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งมีนายอันห์ ดึ๊ก-กึน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพนั้น มีนายโยจิ มูโตะ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น
และนายหวัง เวินเถา รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีนเข้าร่วม และเป็นการร่วมประชุมหารือกันในเชิงเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกหลังจากที่เคยมีขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคมปี 2019 ที่ประชุมออกแถลงการณ์ร่วมออกมา
ย้ำว่า ทั้งสามประเทศจะร่วมมือกัน “ทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่า ทั่วทั้งโลกจะมีความเสมอภาคกัน อันจะอำนวยให้เกิดสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เป็นเสรี, เปิดกว้าง, ยุติธรรม, ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง, โปร่งใส, ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
และสามารถคาดเดาสถานการณ์ได้” ขึ้น
ตัวแทนของทั้ง 3 ประเทศ เน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการหารือกันเบื้องต้นในครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น
เพื่อนำไปสู่การลงนามในความตกลงการค้าเสรีที่ “เป็นเสรี, เป็นธรรม, ทั่วถึง, มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน” ขึ้นในอนาคตอันใกล้
โดยกำหนดจะมีการพบหารือกันครั้งต่อไปที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ยังไม่มีกำหนดวันเวลาที่แน่ชัด
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ไม่เพียงทั่วโลกจะเกิดปฏิกิริยาในทางลบต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของทรัมป์เท่านั้น แม้แต่ภายในสหรัฐอเมริกาเอง คนอเมริกันก็เริ่มกังวล
และไม่พอใจต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรากฏอยู่รอบตัวมากขึ้น ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นจากการทำโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็นล่าสุด ที่ผลโพลหลายชิ้นบ่งชี้เรื่องนี้ออกมาอย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่น ผลโพลล่าสุดของ ฮาร์วาร์ แคปส์ ร่วมกับแฮร์ริส โพล พบว่า ระดับการยอมรับนโยบายทางเศรษฐกิจของทรัมป์ ลดลงในเดือนมีนาคมนี้ จาก 49 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 45 เปอร์เซ็นต์
โดยที่ 53 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอ
ในขณะที่ผลโพลของซีบีเอส นิวส์ ทำร่วมกับยูกอฟ โพล แสดงให้เห็นว่า อเมริกันวัยผู้ใหญ่สูงถึง 51 เปอร์เซ็นต์คิดว่า เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลง และผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 42 เปอร์เซ็นต์
ระบุว่า ความเป็นอยู่ในทางเศรษฐกิจของตนเองเลวร้ายลงภายใต้การบริหารของทรัมป์ เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนมกราคมซึ่งอยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจสซิกา ทาร์ลอฟ ผู้ประกาศข่าวของช่องฟอกซ์ นิวส์ ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แนวอนุรักษนิยมที่เคยสนับสนุนทรัมป์มาตลอด ถึงกับโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า
“ระดับการยอมรับต่อตัวโดนัลด์ ทรัมป์ กับ อีลอน มัสก์ กำลังลดลงอย่างต่อเนื่องในเวลานี้ อเมริกันทั้งหลายเริ่มสำนึกเสียใจ และรู้ไหมว่า กลุ่มไหนที่รู้สึกถึงเรื่องนี้มากที่สุด บรรดานักการเมืองรีพับลิกันทั้งหลายนั่นแหละ”
————————————————————————————————–
ที่มา : มติชน / วันที่เผยแพร่ 3 เมษายน 2568
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_836085