เยอรมนีประกาศตัวเป็นเจ้าภาพการฝึกซ้อมรบครั้งใหญ่ภายในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในปี 2025 ซึ่งคาดว่าจะมีนายทหารจากเหล่าทัพต่างๆ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนเข้าร่วมประมาณ 800,000 คน
สื่อเยอรมัน Bild, NTV และ DPA รายงานเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2025 ว่านี่เป็นการฝึกซ้อมทางทหารครั้งใหญ่สุดในดินแดนเยอรมนีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยจะใช้ชื่อปฏิบัติการว่า Red Storm Bravo (พายุแดงบราโว) และมีกำหนดจัดขึ้นที่ฮัมบูร์กในวันที่ 25-27 กันยายน 2025
การฝึกซ้อมจะจำลองสถานการณ์เพื่อทดสอบความร่วมมือของบุคลากรจากประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นสมาชิกและพันธมิตรของ NATO โดยมีภารกิจหลักคือการฝึกเคลื่อนกำลังพล การตอบโต้และสกัดการรุกรานแบบฉับพลัน ตลอดจนการช่วยเหลือพลเรือนทั้งด้านการแพทย์และการอพยพหนีภัย
แต่ความเคลื่อนไหวของกองทัพเยอรมันเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งทบทวนความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับ NATO และยังชะลอการส่งความช่วยเหลือให้ยูเครนในการทำสงครามต่อต้านรัสเซีย จึงยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าทหารอเมริกันจะเข้าร่วมการฝึกซ้อมรบที่ฮัมบูร์กด้วยหรือไม่
ขณะเดียวกันก็มีรายงานจากหน่วยข่าวกรองเยอรมัน อ้างว่าพบเบาะแสเรื่อง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย มีแผนจะโจมตีประเทศสมาชิก NATO ครั้งใหญ่ และพบการสอดแนมซึ่งเกี่ยวพันกับแผนโจมตีผู้บริหารบริษัทอาวุธยุทโธปกรณ์รายใหญ่ของเยอรมนีอย่าง Rheinmetall พร้อมระบุว่า ‘ภัยคุกคามจากรัสเซียมีอยู่จริง’ รัฐบาลและกองทัพจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือสงครามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีถูกจำกัดการพัฒนาด้านแสนยานุภาพทางทหารหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นผลจากที่เยอรมนีเป็นฝ่ายก่อสงครามและนาซีเยอรมนีก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติครั้งร้ายแรง ทั้งยังมีการปลดกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์หลังการรวมชาติระหว่างเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้มีคำถามตามมาว่ากองทัพเยอรมันจะเป็น ‘เสาหลัก’ ด้านการทหารในกลุ่มประเทศยุโรปแทนที่สหรัฐฯ ได้จริงหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีผู้กังวลเช่นกันว่าการยกระดับทางการทหารแบบ ‘เต็มสูบ’ อาจจะทำให้เยอรมนียุคปัจจุบันก้าวซ้ำรอยเดิมของกองทัพนาซีในอดีต ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหนทางไหนก็ส่งผลสั่นสะเทือนไปยังประเทศอื่นๆ ได้ทั้งสิ้น
โดนัลด์ ทรัมป์
กองทัพเยอรมันอยู่ตรงไหนในเวทีโลก?
เยอรมนีเป็นประเทศทรงอิทธิพลในฐานะผู้นำทางพฤตินัยของสหภาพยุโรป (EU) ทั้งยังเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก แต่กองทัพเยอรมันกลับไม่ติดโผ Top 10 ในการประเมินแสนยานุภาพทางทหารโลกขององค์กรด้านอาวุธ Global Firepower
ผลจัดอันดับกองทัพทั่วโลกที่เผยแพร่ต้นปี 2025 หรือ 2025 Military Strength Ranking ระบุว่าประเทศที่มีแสนยานุภาพทางทหารอันดับ 1 ของโลก คือ สหรัฐอเมริกา ส่วนอันดับ 2 – 10 ได้แก่ รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ตุรกี อิตาลี ในขณะที่เยอรมนีติดอันดับ 14 และไทยติดอันดับที่ 25 โดยประเมินจากกำลังพลรวมทุกๆ เหล่าทัพ กำลังพลสำรอง อาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนแก่กองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงในแต่ละปี
สื่อยุโรป Euractiv, Euro News และ Politico EU เคยวิเคราะห์ว่ากองทัพเยอรมันไม่ได้รับการพัฒนาแสนยานุภาพอย่างทัดเทียมประเทศอื่นๆ ภายในกลุ่ม EU มาจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน โดยประเด็นหลักเกิดจากข้อจำกัดซึ่งเป็นเงื่อนไขในสนธิสัญญาแวร์ซายล์ที่เยอรมนีลงนามยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 และเงื่อนไขที่ประเทศสัมพันธมิตรเรียกร้องต่อเยอรมนีซึ่งเป็นฝ่ายอักษะผู้ก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่วมกับญี่ปุ่นและอิตาลี โดยเป็นการบีบให้เยอรมนีปลดอาวุธ รวมถึงควบคุมขนาดของเหล่าทัพและกำลังพลต่างๆ
แต่หลังจากปี 1945 โลกก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น เยอรมนีที่ยังไม่อาจฟื้นตัวจากการแพ้สงครามถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง โดยเยอรมนีตะวันตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตย นำโดยสหรัฐฯ ส่วนเยอรมนีตะวันออกถูกคุมโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งกลายมาเป็นรัสเซียในปัจจุบัน
ช่วงกลางยุคสงครามเย็น หรือประมาณทศวรรษที่ 1960 – 1970 การแข่งขันแย่งชิงอำนาจนำของสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตทวีความรุนแรงขึ้น เยอรมนีตะวันตกและตะวันออกจึงเริ่มมีการพัฒนากองทัพขึ้นมาอีกครั้งโดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจที่เป็นฝ่ายกำกับดูแลดินแดนสองฝั่งในขณะนั้น และช่วงที่เยอรมนีตะวันออกมีแสนยานุภาพทางทหารสูงสุดมีการระดมกำลังทหารประจำการมากถึง 600,000 นาย
จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลาย สงครามเย็นสิ้นสุด เยอรมนีตะวันตกกับตะวันออกเข้าสู่กระบวนการ ‘รวมชาติ’ ในปี 1989-1990 จนกลายมาเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในปัจจุบัน กองทัพเยอรมันยุครวมชาติก็ยังต้องลดกำลังพลและต้องทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์บางส่วนของกองทัพฝั่งตะวันออกที่ได้รับมาจากสหภาพโซเวียตทิ้งไป
หลังจากนั้นกองทัพเยอรมันก็เผชิญกับการปฏิรูปอีกหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเมืองและประชาชนมากนัก เพราะคนเยอรมันส่วนใหญ่ยังจดจำโศกนาฏกรรมที่เกิดจากการสั่งสมอำนาจและการแผ่ขยายแสนยานุภาพทางทหารของกองทัพนาซีในอดีตได้ดี ประกอบกับเยอรมนียุคหลังรวมชาติยังต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนอีกหลายด้าน การจัดสรรงบประมาณให้กับกองทัพจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง และการเกณฑ์ทหารถูกปรับเปลี่ยนเป็นการสมัครใจเข้ากองทัพแทน
ด้วยเหตุนี้ กองทัพเยอรมันตั้งแต่ยุคหลัง 1990 มาจนถึงปัจจุบันจึงถูกมองว่า ‘ไม่แข็งแกร่ง’ เมื่อเทียบกับสถานะของเยอรมนีที่เป็นหนึ่งในประเทศทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ-การเมืองในเวทีโลก แต่กองทัพเยอรมันกำลังจะเข้าสู่ยุคปฏิรูปรอบใหม่หลังจากรัฐบาลฝ่ายซ้ายกลางอย่างพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ บรรลุเป้าหมาย NATO ในการสนับสนุนงบด้านกลาโหมถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ได้เป็นครั้งแรกในปี 2024
แม้ว่านายกฯ ชอลซ์จะต้องยุบสภาหลังถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนธันวาคมและต้องจัดเลือกตั้งก่อนกำหนดในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2025 แต่ผลการเลือกตั้งก็บ่งชี้ว่าพรรค SPD มีแนวโน้มจะได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
เปิดโผจัดซื้อจัดหาอาวุธและเทคโนโลยีจากงบ 550,000 ล้านดอลลาร์
แม้การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ของเยอรมนีจะยังไม่ลงตัวช่วงต้นเดือนเมษายน 2025 แต่เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรเยอรมันได้ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 513 ต่อ 207 เสียงเห็นชอบการปรับแก้กฎระเบียบด้านการเงินการคลังซึ่งถูกสื่อระบุว่าอาจเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ทางการเมืองครั้งสำคัญ
กฎระเบียบดังกล่าวถูกเรียกว่ากฎควบคุมเพดานหนี้ หรือ debt brake ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งของมาตรา 109 ในกฎหมายพื้นฐานสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือรัฐธรรมนูญเยอรมัน โดยกฎนี้ถูกบรรจุลงในรัฐธรรมนูญในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคล จากพรรคร่วม CDU/CSU ช่วงปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกตะวันตกได้รับบทเรียนครั้งใหญ่จาก ‘วิกฤติหนี้’ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
การที่สภาเยอรมันเห็นชอบการปรับแก้เงื่อนไข debt brake จึงเป็นการกรุยทางให้รัฐบาลกลางที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งต่อจากนี้ สามารถพิจารณากู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการหรือนโยบายต่างๆ ได้มากกว่า 0.35 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ที่เคยกำหนดไว้แต่เดิม
สื่อสายเศรษฐกิจ Forbes รายงานว่าพรรค SPD พรรครัฐบาลรักษาการ ได้เจรจากับพรรคแนวร่วม CDU/CSU ซึ่งเป็นตัวเก็งในการจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ภายใต้การนำของ เฟรเดริก เมิร์ซ หัวหน้าพรรค CDU และมีการบันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าทั้งสองพรรคจะผลักดันแผนกู้เงิน 550,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำไปใช้ในการบูรณะฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ การปฏิรูปกองทัพ และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ
Forbes รายงานด้วยว่าที่ผ่านมากองทัพเยอรมันได้รับงบประมาณเฉลี่ยปีละ 68,000 ล้านดอลลาร์ แต่แผนกู้เงินหลังปรับแก้กฎควบคุมเพดานหนี้อาจช่วยให้กองทัพเยอรมันจัดซื้อจัดหาเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นเพิ่มเติมได้ โดยมีการจำแนกสิ่งของจำเป็นรวม 10 หมวดหมู่ ได้แก่ ความมั่นคงปลอดภัยทางการสื่อสาร (secure communications) ปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) การต่อเรือ (shipbuilding) ยานเกราะ (armored vehicles) ระบบเซนเซอร์ตรวจจับ (sensors) ยุทธศาสตร์การรบด้านอิเล็กทรอนิกส์ (electronic warfare) ขีปนาวุธและการต่อต้านขีปนาวุธ (missiles and missile defense) ดาวเทียม (satellites) กระสุนต่างๆ (ammunition) และอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (drones)
สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อ 3 เมษายน 2025 ว่า โดรนที่กองทัพเยอรมันเตรียมจัดซื้อจัดหายังรวมถึง ‘โดรนติดระเบิด’ (exploding drone) ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญที่กองทัพยูเครนใช้ต่อต้านและตอบโต้กองทัพรัสเซียในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งมีแนวคิดขวาจัด และพรรคฝ่ายซ้าย Die Linke ซึ่งต่างเป็นพรรคที่ได้จำนวน สส. ในสภาเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วิจารณ์ว่าพรรค SPD และ CDU/CSU ฉวยโอกาสที่ฝ่ายตัวเองยังครองเสียงข้างมากในสภาผลักดันการลงมติปรับแก้กฎ debt brake อย่างเร่งรีบ เพราะถ้ารัฐบาลชุดใหม่เข้ารับตำแหน่งต่อจากนี้แล้วค่อยพิจารณาปรับแก้กฎดังกล่าวจะต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านอย่างสุดตัวจากพรรค AfD และ Die Linke แน่นอน
เหตุผลในการคัดค้านการปรับแก้กฎ debt brake ของพรรค AfD เป็นเพราะพรรคมีจุดยืนโน้มเอียงไปทางรัสเซีย และไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเยอรมันสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามต่อต้านรัสเซีย โดย AfD มองว่าเรื่องนี้เป็นวาระทางการเมืองที่สำคัญในสภายุโรปมากกว่าจะเป็นผลประโยชน์ที่แท้จริงต่อประชาชนเยอรมัน ส่วนพรรคซ้ายจัดอย่าง Die Linke มองว่าการทุ่มงบปฏิรูปกองทัพไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งยังมีองค์กรประชาสังคมบางส่วนที่เกรงว่าการเพิ่มแสนยานุภาพกองทัพอาจทำให้ประเทศชาติก้าวซ้ำรอยยุคนาซีเยอรมนี
โอลาฟ ชอลซ์
จำเป็นต้องยกเครื่องกองทัพยุโรป เพราะสหรัฐฯ ‘พึ่งพาไม่ได้’
คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอต่อที่ประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ให้สมาชิก EU ร่วมกันผลักดันงบฟื้นฟูด้านการทหารตามนโยบาย ‘REARM Europe’ ให้ได้ตามเป้า 800 ล้านยูโรภายใน 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายใหญ่ที่ก็ไม่รู้ว่าจะมีประเทศสมาชิกกี่แห่งทำได้จริงตามที่คาดการณ์เอาไว้
แม้แต่กองทัพเยอรมันเองก็ยังตามหลังหลายประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งเป็นสมาชิก EU ที่ติดอยู่ในกลุ่ม Top 10 ด้านแสนยานุภาพกองทัพโลก แต่ฝรั่งเศสกับอิตาลีกำลังเผชิญความผันผวนจากการเมืองภายในประเทศ หลังพรรคขวาจัดซึ่งต่อต้านความร่วมมือกับ EU ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น
ที่จริงเยอรมนีก็เจอกับกระแสพรรคการเมืองขวาจัดเฟื่องฟูเช่นกัน แต่พรรค CDU/CSU กับพรรค SPD ซึ่งยึดมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของ EU มีแนวโน้มจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ร่วมกันได้ ทำให้เยอรมนีต้องแบกรับความหวังของ EU ในฐานะผู้นำด้านความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและผู้นำด้านการปฏิรูปกองทัพยุโรปต่อไป
ทั้งนี้ การผลักดันนโยบายฟื้นฟูทางการทหารในยุโรปเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2022 หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน โดยอ้างเหตุผลว่าการแสดงเจตจำนงที่จะสมัครเป็นสมาชิก NATO ของยูเครนคือภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อรัสเซีย เพราะ NATO คือองค์การความร่วมมือทางทหารที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น และมีเป้าหมายหลักๆ คือสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นปฏิปักษ์สำคัญของประเทศเสรีประชาธิปไตยในยุคนั้น
เมื่อส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตกลายเป็นรัสเซียในปัจจุบัน การที่ยูเครนต้องการเข้าร่วมกับ NATO จึงเป็นเรื่องที่รัสเซียไม่อาจยอมรับได้
ส่วน 12 ประเทศที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง NATO ในปี 1949 ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในยุโรป ยกเว้นสหรัฐฯ กับแคนาดาที่อยู่ในอเมริกาเหนือ แต่ความร่วมมือข้ามทวีปภายใน NATO ก็ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีประเทศ EU อีกหลายแห่งเข้าร่วม NATO เพิ่มเติมจนมีสมาชิกทั้งหมด 32 ประเทศในปัจจุบัน รวมถึงเยอรมนี
ช่วงที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในทศวรรษ 1990 อดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตนอกเหนือจากรัสเซียก็กลายเป็นรัฐเกิดใหม่ และเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศของตัวเอง ทำให้ NATO ปรับเปลี่ยนภารกิจเดิมที่เน้นต่อต้านสหภาพโซเวียตกลายเป็นการสานสัมพันธ์และสลายความขัดแย้งระหว่างสมาชิก NATO กับประเทศอดีตสหภาพโซเวียตแทน
แต่รัสเซียยุคหลังทศวรรษ 2000 ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ วลาดิเมียร์ ปูติน อดีตสายลับของคณะกรรมการความมั่นคงกลาง (KGB) ยุคสหภาพโซเวียต และปูตินได้สะบั้นความพยายามสานสัมพันธ์กับ NATO ทิ้งไป โดยจุดแตกหักซึ่งยากจะเยียวยาก็คือการที่ปูตินสั่งกองทัพยกพลบุกยูเครนจนบานปลายกลายเป็นสงครามยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 3 จนยูเครนกลายเป็นหนึ่งในสงครามตัวแทนระหว่างรัสเซียกับ NATO อย่างไม่มีทางเลี่ยง
อีกเหตุผลที่ทำให้ชาติยุโรปหารือกันเรื่องการรื้อฟื้นทางทหารก็คือท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเปลี่ยนไปมากจากยุคอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพราะทรัมป์ประกาศลดระดับความร่วมมือด้านต่างๆ ที่สหรัฐฯ เคยมีต่อ NATO โดยใส่ใจเรื่องงบประมาณที่สหรัฐฯ มอบให้ NATO ในแต่ละปีมากเป็นพิเศษ โดยเขามองว่าการช่วย NATO เป็นเรื่องไม่คุ้มค่าเพราะชาติยุโรปที่เป็นสมาชิก NATO ไม่เคยสมทบงบกลาโหมตามเป้าหมายที่เคยให้คำมั่นสัญญาเอาไว้
แม้กระทั่ง สว.จิม แบงก์ส ประธานกรรมาธิการด้านความมั่นคงของวุฒิสภาสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกัน หนึ่งในผู้สนับสนุนทรัมป์ ก็ยังเรียกประเทศสมาชิก NATO ทั้งหลายว่าเป็นพวก ‘กินฟรีแต่ไม่ยอมจ่ายเงิน’ (free rider) ระหว่างการประชุมพิจารณาตรวจสอบความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณกลาโหมช่วงต้นเดือนเมษายน 2025
อย่างไรก็ดี มีผู้โต้แย้งในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเผยแพร่คำพูดของ สว.จิม แบงก์ส เช่นกัน โดยผู้แสดงความคิดเห็นบางรายระบุว่าสหรัฐฯ ได้รับการสนับสนุนจาก NATO ช่วงที่ประกาศสงครามต่อต้านก่อการร้ายเมื่อปี 2001 และทหารจากประเทศสมาชิก NATO ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารกับสหรัฐฯ ต้องพลีชีพให้กับสงครามที่กินเวลายาวนานข้ามทศวรรษเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
การกลับลำเรื่องความร่วมมือของรัฐบาลสหรัฐฯ ยุคทรัมป์ ทำให้ประเทศยุโรปที่เป็นสมาชิก EU และ NATO หันมาพูดถึงการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารภายใน NATO เพื่อลดการพึ่งพาประเทศนอกภูมิภาคอย่างสหรัฐฯ แบบจริงจังมากขึ้น หลังจากที่เคยพูดคุยเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2022 ที่รัสเซียบุกยูเครนใหม่ๆ แต่ยังไม่มีมาตรการชัดเจน จนกระทั่งทรัมป์ตอกย้ำว่าความร่วมมือและความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ กลายเป็นเรื่องไม่แน่นอนไปเสียแล้ว
เฟรเดริก เมิร์ซ
กองทัพเยอรมันหลังปฏิรูปพร้อมรับมือ ‘สงคราม’ จริงหรือ?
การผลักดันเยอรมนีขึ้นเป็นผู้นำด้านการทหารของยุโรปกลายเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในห้วงเวลาที่รัสเซียรุกรานยูเครนและสหรัฐฯ ลดระดับความร่วมมือกับ NATO ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเยอรมันได้ยกระดับปฏิบัติการทางทหารของตัวเองไปแล้วบางส่วน
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 กองทัพเยอรมันได้จัดตั้งกองพันน้อยที่ 45 ขึ้นในลิทัวเนียอย่างเป็นทางการ โดยเป็นการตั้งค่ายทหารถาวรนอกดินแดนเยอรมนีครั้งแรกในรอบเกือบ 80 ปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และรัฐบาลลิทัวเนียได้ขอบคุณที่เยอรมนีให้ความช่วยเหลืออย่างมีน้ำใจไมตรี
สื่อยุโรปรายงานว่า นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 รัฐบาลลิทัวเนียกับเยอรมนีก็หารือกันเรื่องความร่วมมือทางการทหารมาโดยตลอด และหน่วยข่าวกรองลิทัวเนียยังพบเบาะแสที่น่าเชื่อได้ว่ารัสเซียมีแผนจะรุกรานลิทัวเนียใน 4-5 ปีต่อจากนี้ เพราะการบุกยูเครนเป็นแค่ก้าวแรกของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งต้องการจะแผ่ขยายอิทธิพลของรัสเซียเข้าไปทางยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน
นอกจากนี้ การประกาศเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมรบในกลุ่มประเทศสมาชิก NATO และชาติพันธมิตรอื่นๆ ในเมืองฮัมบูร์กยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับกองทัพเยอรมันในการทดสอบศักยภาพของบุคลากรเหล่าทัพต่างๆ และความพร้อมของฮัมบูร์กในฐานะเมืองท่าที่สำคัญซึ่งในอนาคตอาจถูกใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการลำเลียงกำลังพล
เช่นเดียวกับการลงมติเห็นชอบการปรับแก้กฎควบคุมเพดานหนี้ก็เป็นความหวังว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะสามารถจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมและความมั่นคงเพิ่มขึ้นจากแผนกู้เงินเพิ่มเติมในอนาคต แต่นักวิเคราะห์หลายรายเตือนคล้ายกันว่ากองทัพเยอรมันมีปัญหาใหญ่ที่รอการสะสางอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งก็คือ ‘กำลังพล’
นับตั้งแต่กองทัพเยอรมันยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพกับกำลังพลสำรองที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีทางสอดคล้องกับแผนปฏิรูปและยกระดับกองทัพที่คาดการณ์เอาไว้ได้
ข้อมูลจากเว็บไซต์กองทัพเยอรมัน Bundeswehr ระบุว่ากำลังพลในเหล่าทัพต่างๆ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในปี 2025 รวมกันทั้งหมดมีจำนวนประมาณ 260,000 นายเท่านั้น ซึ่งรวมแล้วยังน้อยกว่าทหารไทยที่เว็บไซต์ CIA Fact ของสหรัฐฯ ระบุว่ามีอยู่ประมาณ 350,000 นาย (อ้างอิงข้อมูลที่สำรวจล่าสุดในปี 2022 – 2023)
แต่ถ้ากองทัพเยอรมันผลักดันให้นำระบบเกณฑ์ทหารกลับมาใช้ใหม่ก็อาจเจอกระแสต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนเยอรมันเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมขวาจัดที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเยอรมนีในการเข้าไปแบกรับภารกิจซึ่งยึดโยงกับมติของ EU แทนที่จะตอบสนองความต้องการของคนในประเทศเป็นอันดับแรก
หรือต่อให้กองทัพเยอรมันสามารถระดมกำลังพลเพิ่มเติมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และมีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ แต่การฝึกอบรมบ่มเพาะบุคลากรอาจต้องใช้เวลานานหลายปี
ยิ่งถ้าพิจารณาตัวเลข 4-5 ปีที่รัฐบาลลิทัวเนียอ้างว่าเป็นกรอบเวลาที่ปูตินวางแผนจะโจมตียุโรปตะวันออก ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้น้อยมากที่กองทัพเยอรมันจะตระเตรียมบุคลากรให้พร้อมรับมือภาวะสงครามหรือการรุกรานด้วยกำลังอาวุธเต็มรูปแบบได้ทันเวลา
อ้างอิง:AA, BBC, Bundeswehr, Business Insider, CIA Factbook, CNN, DPA/ Yahoo! News, DW (1), DW (2), DW (3), Euractiv, Eurasian Times, Euro News (1), Euro News (2), Euro News (3), Forbes, Forbes Breaking News, Global Firepower, The Kyiv Independent, MSN (1), MSN (2), Politico (1), Politico (2), Reuters, TrT
————————————————————————————————–
ที่มา : thairath / วันที่เผยแพร่ 8 เมษายน 2568
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105332