เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เมียนมาเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 แมกนิจูด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศที่กำลังประสบกับความขัดแย้งทางการเมือง
และการต่อสู้ที่ยืดเยื้อมานานหลายปี ระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารของเมียนมากับบรรดากลุ่มต่อต้าน
การเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้บ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้รับความเสียหาย แต่ยังได้จุดชนวนทำให้เกิดการหยุดยิงชั่วคราวจากฝ่ายที่ขัดแย้ง
ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในช่วงเวลาที่ความรุนแรงระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มต่อต้านการปกครองของทหารยังคงดำเนินอยู่
โดยหลังจากแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ ฝ่ายต่อต้าน การปกครองของทหารในเมียนมา ได้ประกาศหยุดยิงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
เพื่อลดความรุนแรงและเปิดโอกาสให้มีการบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย
ขณะที่ กองทัพเมียนมา ก็ได้ประกาศหยุดยิงเช่นกัน เพื่อลงมือในการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่และดำเนินการให้การช่วยเหลือได้ทันเวลา
แม้ว่าจะมีการหยุดยิงชั่วคราว แต่กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีรายงานการปะทะเกิดขึ้นในบางพื้นที่ในช่วงต่อมา
การประกาศหยุดยิงในครั้งนี้จากทั้งสองฝ่าย ทั้งกองทัพเมียนมาและกลุ่มต่อต้าน ถือเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะหลังจากการปฏิวัติรัฐประหารในปี 2021 ที่ทำให้ เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศ เมียนมามีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลทหาร
และกลุ่มต่อต้านที่ต้องการฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงกลุ่มกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่มีประวัติการต่อสู้เพื่ออิสรภาพมายาวนาน
การประกาศหยุดยิง ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การหยุดยิงชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายสามารถทบทวนความขัดแย้ง
และอาจเปิดทางสู่ การเจรจาสันติภาพ ในอนาคต นักวิจัยจากสถาบันกลยุทธ์และนโยบาย เมียนมา กล่าวไว้ว่า ภัยพิบัติในครั้งนี้อาจเป็น “ตัวเร่ง” ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้ง ลดความรุนแรง และเป็นการสร้างรากฐานเพื่อ การสร้างสันติภาพ ในระยะยาว
ขณะที่กลุ่มรัฐบาลแห่งชาติที่มีการตั้งขึ้นในเงามืด หรือ NUG (National Unity Government) ซึ่งรวมถึงกลุ่มต่อต้านการปกครองของทหาร
ได้ประกาศหยุดยิงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยให้คำมั่นว่าจะหยุดการโจมตีในช่วง 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดโอกาสให้การบรรเทาทุกข์ดำเนินการได้สะดวกขึ้น
ขณะที่กลุ่มพันธมิตรสามพี่น้อง ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกของเมียนมา ก็ได้ประกาศหยุดยิงเป็นระยะเวลา 1 เดือน
ขณะเดียวกัน กองทัพเมียนมาก็ได้ประกาศหยุดยิงเช่นกัน โดยมีกำหนดเวลาในการหยุดยิงจนถึงวันที่ 22 เมษายน
โดยให้เหตุผลว่าต้องการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว
แม้ว่าจะมีการหยุดยิงชั่วคราว แต่ทหารและกลุ่มต่อต้านทั้งสองฝ่ายยังคงยืนยันสิทธิในการป้องกันตัวเอง ซึ่งหมายความว่าหากเกิดการโจมตีจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
การต่อสู้ก็อาจกลับมารุนแรงได้ในอนาคต
แม้ว่าการประกาศหยุดยิงครั้งนี้จะมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ แต่ความเป็นไปได้ในการบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนในเมียนมายังคงมีความท้าทายอยู่มาก
รายงานของสถาบันกลยุทธ์และนโยบาย เมียนมา ชี้ว่า ผลลัพธ์จากแผ่นดินไหว อาจจะรวมไปถึงการที่สงครามกลางเมืองยังคงดำเนินต่อไป
และความวุ่นวายในสังคมก็จะยังคงเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน “การลดความรุนแรงในเชิงยุทธศาสตร์” ที่ช่วยให้การจัดส่งความช่วยเหลือมนุษยธรรมสามารถดำเนินไปได้ แต่ก็ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า
การหยุดยิงชั่วคราวจะนำไปสู่การเจรจาสันติภาพที่ยั่งยืนในระยะยาว
โดยรายงานระบุว่า การระดับความรุนแรงในเชิงยุทธศาสตร์นี้ จะต้องมีการหยุดยิงควบคู่ไปกับมาตรการสร้างความเชื่อมั่น
ที่จะมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองในระยะยาว รวมถึงการสร้างเขตปลอดภัย การจัดตั้งเส้นทางด้านมนุษยธรรม สำหรับส่งมอบความช่วยเหลือ
การอำนวยความสะดวกในการจัดการความช่วยเหลือร่วมกันโดยกลุ่มต่อต้าน
สรุปได้ว่า โอกาสที่จะเกิดสันติภาพขึ้น หลังจากเหตุแผ่นดินไหวนั้น “มีน้อยมาก”
อย่างเมื่อตอนที่เกิดเหตุไซโคลนนากิสถล่มเมียนมา ปี 2008 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 130,000 ราย และพายุไซโคลนโมคา เมื่อปี 2023 หลังเหตุภัยธรรมชาติทั้งสอง
กองทัพเมียนมาก็ยังเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมและปราบปรามมากขึ้น
อิลาน เคลแมน ศาสตราจารย์ด้านภัยพิบัติและสุขภาพ แห่ง มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน ให้สัมภาษณ์กับเอพีไว้ว่า “จนถึงตอนนี้ การทูตเพื่อรับมือกับภัยพิบัติยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ”
อย่างประเทศฟิลิปปินส์ที่มักเจอกับภัยพิบัติมากมาย บางครั้งก็นำไปสู่การหยุดยิงชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งภายในประเทศ
“ข้อตกลงสันติภาพที่ยั่งยืนหลายฉบับเกิดขึ้นจากแรงกดดันหรือการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ มากกว่าจะเกิดจากภัยพิบัติหรือการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติ”
เคลแมนกล่าว และว่า “บทเรียนจากการทูตเพื่อรับมือกับภัยพิบัติในตอนนี้ก็คือ รัฐบาลหลายแห่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับสันติภาพหรือความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน”
ดังนั้น การหยุดยิงที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมา อาจเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพที่สามารถช่วยลดความรุนแรงและเปิดโอกาสให้มีการสร้างการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ยังต้องติดตามดูว่าการหยุดยิงในครั้งนี้จะสามารถสร้างรากฐานสำหรับการเจรจาสันติภาพที่ยั่งยืนในอนาคตได้หรือไม่
เครดิตภาพ “เอพี”
.
————————————————————————————————–
ที่มา : มติชน / วันที่เผยแพร่ 13 เมษายน 2568
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_837190