ที่มา | หนังสือพิมพ์มติชน |
ผู้เขียน | มนต์ทิพย์ ธานะสุข |
เผยแพร่ | วันที่ 2 เมษายน 2568 |
คอลัมน์ไฮไลต์โลก : ‘ทรัมป์’ จุดเปลี่ยนความมั่นคงยุโรป
ฉากดราม่าที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ โต้เถียงกับ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ออกสื่อจนการเจรจาทำความตกลงแบ่งผลประโยชน์กันล่มไม่เป็นท่า แต่ในการพูดคุยกับวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่ปรากฎเป็นข่าวออกมา ทรัมป์ดูจะมีท่าทีรอมชอมมากกว่า ได้ปลุกให้ชาติยุโรปตระหนักได้ว่าการคิดว่าสหรัฐ พันธมิตรเก่าแก่สำคัญในองค์การนาโต จะร่วมยืนหยัดหนักแน่นในการต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของยุโรปด้วยนั้น ไม่มีความแน่นอนอีกต่อไป และเป็นจุดเปลี่ยนให้ยุโรปต้องคิดพึ่งตนเองให้มากขึ้นในการรับมือภัยท้าทายด้านความมั่นคงใดๆ ที่จะมีเข้ามา
หลายชาติยุโรปเริ่มขยับในการเตรียมการป้องกันตนเองมากขึ้น แม้ต้องทำลายข้อห้ามด้านการป้องกันประเทศที่ยึดปฏิบัติกันมานานหลายสิบปี การเปลี่ยนแปลงใหญ่เห็นได้ชัดใน เยอรมนี ชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป ที่รัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายผ่อนคลายกฎระเบียบ “เบรกหนี้” เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลในอนาคตกู้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุนด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงได้อย่างไม่จำกัด ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะปลดล็อกเงินกู้ให้กับรัฐบาลเยอรมนีได้มากถึง 600,000 ล้านยูโรในช่วงทศวรรษหน้า
ในฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เผยว่ากำลังพิจารณาขยายการปกป้องด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสไปยังพันธมิตรของตนเอง แนวคิดนี้ได้รับการขานรับจากนายโดนัลด์ ทัสก์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ที่ยังเรียกร้องให้โปแลนด์พิจารณาการมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองเองด้วย
โปแลนด์ และชาติในกลุ่มบอลติก ได้แก่ เอสโตเนีย ลิทัวเนียและลัตเวีย ที่ต่างมีพรมแดนแนบชิดติดรัสเซีย ยังได้ประกาศจะถอนตัวออกจากอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล โดยอ้างถึงสถานการณ์ความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคของตนที่เสื่อมทรามลงหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย การถอนตัวออกจากอนุสัญญาฯดังกล่าว จะทำให้ประเทศเหล่านี้จัดหากำลังป้องกันประเทศด้วยทางเลือกที่มีความยืดหยุ่นและเป็นอิสระมากขึ้น มากไปกว่านั้นลิทัวเนียยังได้ขอถอนตัวออกจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ต่อต้านระเบิดลูกปรายอีกด้วย
ส่วนเดนมาร์กได้กำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เกณฑ์ทหารได้ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป และลดข้อกำหนดด้านสุขภาพลงสำหรับบทบาทบางตำแหน่ง ส่วนหนึ่งของการเสริมกำลังในกองทัพเพื่อป้องกันประเทศ ขณะที่โปแลนด์ประกาศแผนให้ชายชาวโปแลนด์วัยผู้ใหญ่ทุกคนเข้ารับการฝึกทหารเป็นการเตรียมพร้อมไว้
แม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความเป็นกลางยังต้องพิจารณาจุดยืนของตนเองใหม่อย่าง ไอร์แลนด์ ที่กำลังผลักดันร่างกฎหมายที่ให้สามารถส่งกองกำลังสันติภาพของตนเองไปประจำการในพื้นที่ความขัดแย้งได้โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากสหประชาชาติ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจยับยั้งของรัสเซีย
เหล่านี้เป็นความเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งที่ชาติยุโรปต้องปรับตัวในการพึ่งตนเองเป็นสำคัญ อย่างน้อยก็ในเกือบ 4 ปีนี้ที่มีผู้นำสหรัฐที่ยากคาดเดาได้ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์
————————————————————————————————–
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 5 เมษายน 2568
Link : https://www.matichon.co.th/foreign/news_5125838