แค่กดปุ่มผิด! คลิกลิงก์ไม่ระวัง! หรือแชร์ข้อมูลส่วนตัวสุ่มสี่สุ่มห้า! เงินในบัญชีอาจหายวับไปในพริบตา ไร้วี่แววและยากที่จะติดตามคืน
คำกล่าวนี้ไม่เกินจริง เพราะข้อมูล จาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า เพียง 5 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.2567-ก.พ.2568) คนไทยสูญเงินไปกับ
การหลอกลวงทางออนไลน์ ไปแล้ว 11,348 ล้านบาท
ไม่ว่าจะเป็นการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง “ซื้อ-ขาย”สินค้าหรือ บริการ ,หลอกล่อให้โอนเงิน เพื่อแลกของรางวัล รับสิทธิพิเศษต่างๆที่ไม่มีอยู่จริง ,แฝงตัวหลอกเหยื่อวางเงินประกัน รับจ้างทำงานเสริมที่บ้าน เรื่อยไปจนถึง ข้อความเสนอการลงทุนปลอม ที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง ว่อนในโลกออนไลน์ ไหนจะโฆษณาปล่อยกู้ ดอกเบี้ยต่ำ
ที่ถ้าตกลง ก็ต้องเจอกับค่าธรรมเนียมล่วงหน้า
ล่าสุด ไม่นานมานี้ ยังมีกรณี แอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อน ถูกฝังมาในโทรศัพท์มือถือแบรนด์ดัง แบบที่ไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้ และมีการส่งโฆษณาชวนกู้เงิน ผ่านทางแจ้งเตือนของโทรศัพท์
อีกทั้งทุกวันนี้เรายังเจอกับ QR Code ปลอม ภัยคุกคามที่มาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การปรับแต่ง “สลิปโอนเงินปลอม” ที่มาจากการสั่งงาน AI ชวนผวากันทั้งระบบ
ไปจนถึงแชร์ลูกโซ่ยุคดิจิทัล ทั้งหมดนี้ ต้องบอกว่า แม้แต่คนที่รอบคอบก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ ยิ่งคนไทยนิยมทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ตกเป็นเป้าโจมตีมากขึ้นเท่านั้น
5 รูปแบบการโกงออนไลน์ที่พบบ่อยในปี 2025
1. SMS หลอกลวง และสายโทรศัพท์ปลอม (Vishing & Smishing)
ตัวอย่าง
- ได้ SMS แจ้งว่าคุณมีพัสดุตกค้าง คลิกลิงก์เพื่อติดตาม แต่เป็นเว็บปลอมที่ขโมยข้อมูล
- โทรศัพท์จาก “เจ้าหน้าที่ธนาคาร” ขอ OTP เพื่อปลดล็อกบัญชี (ทั้งที่จริง ๆ เป็นมิจฉาชีพ)
วิธีป้องกัน
- ไม่คลิกลิงก์ที่มากับ SMS หรืออีเมลจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
- ถ้ามีเบอร์โทรแปลก ๆ อ้างว่าเป็นธนาคาร โทรกลับไปเช็กที่เบอร์ศูนย์บริการแทน
2. QR Code ปลอม
ตัวอย่าง
- เจอ QR Code แปะอยู่ตามร้านค้าหรือที่จอดรถ แต่จริง ๆ เป็น QR ปลอม ที่พาไปเว็บขโมยข้อมูล
- สแกน QR Code ที่อ้างว่าแจกของฟรี แต่จริง ๆ ดึงข้อมูลในมือถือ
วิธีป้องกัน
- ก่อนสแกน QR Code ให้ตรวจสอบแหล่งที่มา และลองดูว่ามีสติกเกอร์ QR ปิดทับกันหลายชั้นหรือไม่
- ใช้แอปพลิเคชันที่สามารถแสดง URL ก่อนเปิดเว็บ
3. เว็บปลอม & แอปปลอม (Phishing Website/App)
ตัวอย่าง
- ค้นหาชื่อธนาคารใน Google แล้วเผลอคลิกเข้าลิงก์ที่เป็น “โฆษณาปลอม”
‘โหลดแอปปลอมที่คล้ายกับแอปธนาคาร ใส่ข้อมูลล็อกอิน ข้อมูลโดนขโมย
วิธีป้องกัน
- เข้าเว็บธนาคารผ่าน URL โดยตรง เช่น พิมพ์ www.scb.co.th เอง ไม่คลิกลิงก์ที่ส่งมา
- โหลดแอปจาก App Store หรือ Google Play เท่านั้น และตรวจสอบผู้พัฒนาแอป
4. แชร์ลูกโซ่ และ Scam แบบใหม่
ตัวอย่าง
- หลอกให้ลงทุนคริปโต หรือกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง
- หลอกว่าจ้างงานออนไลน์ เช่น ดูโฆษณาแล้วได้เงิน แต่ต้องจ่ายค่าสมัครก่อน
วิธีป้องกัน
- ถ้ามีคนบอกว่า “ลงทุน 10,000 บาท ได้คืน 100,000 บาทใน 1 เดือน” ให้สงสัยไว้ก่อน
- เช็กชื่อบริษัทจาก ก.ล.ต. หรือ blacklist ของ DSI
5.การขโมยข้อมูลจากสาธารณะ (Public WiFi & Bluetooth Scam)
ตัวอย่าง
- ใช้ WiFi ฟรีในร้านกาแฟ แล้วโดนแฮกข้อมูลบัญชี
- เชื่อมต่อ Bluetooth กับอุปกรณ์แปลก ๆ ทำให้โดนเข้าถึงข้อมูลในเครื่อง
วิธีป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ Public WiFi ทำธุรกรรมทางการเงิน
- ปิด Bluetooth และ NFC เมื่อไม่ใช้งาน
ส่วนความเสี่ยง จากการที่เราอาจเจอกับ “สลิปโอนเงินปลอม” วิธีป้องกันที่สามารถทำได้ คือ การเช็กใช้ชัวร์ว่าสลิปนั้นเป็นของจริงหรือปลอม โดยสามารถตรวจสอบและมีวิธีในการสังเกต ดังนี้
1. สังเกตความละเอียดของ ตัวเลข หรือ ตัวหนังสือ หากเป็นสลิปปลอม แบบของตัวหนังสือบนสลิป ในส่วนของ ชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันที่ เวลา อาจจะเป็นตัวหนังสือคนละแบบ หรือความหนา-บางของตัวอักษรจะไม่เท่ากัน หากเป็นเช่นนี้ อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นสลิปปลอม
2. สแกน QR Code บนสลิปโอนเงินแบบ E-Slip สามารถตรวจสอบ ชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันและเวลาที่โอนเงินได้ หากยอดเงินไม่ตรง หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นสลิปปลอม
3.ใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคาร ซึ่งจะแจ้งเตือนเมื่อมียอดเงินเข้าบัญชี สามารถนำไปเทียบยอดเงินกับสลิปได้
4. ใช้ระบบจัดการร้านค้าที่มีฟังก์ชันตรวจสอบสลิปการโอนเงินอัตโนมัติ กรณีที่ร้านค้าออนไลน์มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก และมีการโอนเงินเข้าหลายรายการ สามารถเลือกใช้ระบบจัดการร้านค้าที่มีระบบตรวจสอบสลิป และยอดเงินเข้าอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ร้านค้าประหยัดเวลา และลดขั้นตอนการตรวจสอบสลิปปลอมได้เช่นกัน
ท้ายที่สุด ปัจจุบัน อาชญากรรมไซเบอร์พัฒนาตลอดเวลา อย่าหลงเชื่อสิ่งที่ดูดีเกินจริงถ้าเจอสิ่งผิดปกติ เช็กก่อนแชร์ เช็กก่อนโอน ถ้าโดนโกง แจ้งตำรวจไซเบอร์ หรือแจ้งธนาคารทันที
ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล ,ตำรวจไซเบอร์ ,ธปท.,ก.ล.ต.
————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวไทยรัฐ / วันที่เผยแพร่ 12 เมษายน 2568
Link : https://www.thairath.co.th/money/personal_finance/financial_planning/2852497