ท่ามกลางความปั่นป่วนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้วิเคราะห์ถึงระดับความรุนแรงของสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญใน งานเสวนาโต๊ะกลม “ผ่ากำแพงภาษี “ทรัมป์” ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ : Trump’s Uncertainty” โดยความรุนแรงแบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน
ระดับที่ 1: มุ่งเน้นเรื่องภาษี (Tariff) เพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ระดับที่ 2: มีความรุนแรงมากขึ้น โดยจะขยายวงกว้างไปถึงภาคบริการและตลาดทุน ซึ่งจะสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อ ระบบเศรษฐกิจโลก
ระดับที่ 3: เป็นระดับที่น่ากลัวที่สุด เปรียบเสมือน “สงครามโลกครั้งที่ 3” ทางด้านการค้า ที่จะนำไปสู่การแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยมีเป้าหมายให้สหรัฐฯ เป็นผู้ชนะและทำให้จีนอ่อนกำลังลง ซึ่งอาจทำให้ประเทศขนาดเล็กตกเป็นพื้นที่ สงครามตัวแทน (Proxy War)
The Great Polarization คืออะไร?
ในมุมมองของ ดร. นณริฏ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากฉากทัศน์ทั้งสามอาจไม่ใช่ The Great Depression เหมือนในอดีตแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “The Great Polarization” หรือการแบ่งขั้วครั้งใหญ่ ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการค้าระดับโลกจะไม่กระจายเท่ากัน แต่จะทำให้เกิดการแบ่งขั้วที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในการแบ่งขั้วนี้ จะประกอบด้วยสองฝั่งหลัก:
- ผู้ที่ปรับตัวได้และได้รับประโยชน์:
- ประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับต่ำ เช่น จีนและเยอรมนี
- ประเทศที่มีความยืดหยุ่นและเครื่องมือทางนโยบายการเงิน (Policy Space)
- ประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกและสามารถรักษาตลาดได้
- ประเทศที่มีภาคการท่องเที่ยวแข็งแกร่ง
- ประเทศที่มีความสามารถในการปรับตัว ไม่ยึดติดกับรูปแบบเศรษฐกิจเดิม และพร้อมแสวงหาโอกาสใหม่ๆ
- 2. ผู้ที่ปรับตัวไม่ได้และเผชิญความยากลำบาก:
- ประเทศที่ยังคงจินตนาการว่าจะสามารถส่งออกได้แบบเดิม
- ประเทศที่พยายามซุกตัวอยู่ภายใต้ประเทศอื่น
- ประเทศที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ
————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 13 เมษายน 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1175548