ในโลกดิจิทัลที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ทวีความรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น ข้อมูลจาก การ์ทเนอร์ ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญที่องค์กรกำลังเผชิญ
เมื่อพนักงานถึง 93% รับทราบถึงพฤติกรรมของตนเองที่อาจนำมาซึ่งความเสี่ยง
และน่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ 74% ยอมที่จะละเมิดนโยบายความปลอดภัยเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแนวทางการสร้างความตระหนักรู้แบบเดิมๆ
อาจไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านั้นอย่างยั่งยืน
Leigh McMullen รองประธาน นักวิเคราะห์ และ Gartner Fellow ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งได้นำเสนอแนวคิดอันน่าสนใจภายใต้หัวข้อ
“ปลุกสำนึกพนักงานให้เห็นความสำคัญของความเสี่ยงไซเบอร์มากขึ้น” เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรต่างๆ
ปรับกลยุทธ์ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่เข้มแข็งและยั่งยืน
แม้ว่าองค์กรส่วนใหญ่จะทุ่มเททรัพยากรไปกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และการลดความเสี่ยง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นที่น่าพอใจนัก
สาเหตุสำคัญไม่ได้อยู่ที่การขาดความเข้าใจในหลักการพื้นฐาน แต่เป็นเพราะพนักงานส่วนใหญ่มองข้ามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองและองค์กร
พวกเขาคุ้นชินกับการหาทางลัดในการทำงาน ซึ่งรวมถึงการละเลยมาตรการความปลอดภัยโดยไม่ได้ตระหนักถึงผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างแท้จริง
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ องค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมองและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ผู้บริหารด้านความปลอดภัยต้องก้าวข้ามกรอบของการสื่อสารเชิงเทคนิค ไปสู่การสร้างความรู้สึกร่วมและความเข้าใจในระดับบุคคล เพื่อให้พนักงานตระหนักถึงความเสี่ยงทางไซเบอร์ในฐานะที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและมีผลกระทบที่จับต้องได้
นอกเหนือจาก การบังคับใช้บทลงโทษ องค์กรควรให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกเชิงวัฒนธรรม ที่อาศัยแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนร่วมงานและการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง
ตัวอย่างที่น่าสนใจในอดีตคือแคมเปญ “ปากพล่อย พลอยล่มจม” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการเปิดเผยข้อมูลแม้เพียงเล็กน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมโยงการกระทำของแต่ละบุคคลเข้ากับผลลัพธ์ที่ร้ายแรงต่อส่วนรวม ในบริบทขององค์กรปัจจุบัน
คำถามที่น่าพิจารณาคือ เราจะออกแบบโปรแกรมด้านพฤติกรรมและวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างไรให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่า
หัวใจสำคัญคือการทำให้พนักงานตระหนักว่าการละเมิดนโยบายความปลอดภัยไม่ใช่เพียงแค่การฝ่าฝืนกฎระเบียบ แต่เป็นการกระทำที่ “ไม่ภักดีต่อองค์กร”
โดยเน้นย้ำถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวพวกพนักงานเอง วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายนี้คือการใช้ภาพที่สื่อความหมายและข้อความที่กระชับแต่ทรงพลัง
เพื่อกระตุ้นให้เกิด การตอบสนองทางอารมณ์และสร้างความตระหนักในระดับจิตใต้สำนึก
การสื่อสารที่ชัดเจนและเข้าถึงง่ายเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผ่านโปสเตอร์ อินโฟกราฟิก จดหมายข่าว หรือการสื่อสารผ่านเว็บพอร์ทัลต่างๆ
รวมถึงการที่ผู้นำระดับสูงขององค์กรออกมาเน้นย้ำถึงความสำคัญของค่านิยมด้านความปลอดภัยที่มีต่อความสำเร็จของบริษัท
หลักการสำคัญสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ยั่งยืน
- เชื่อมโยงการกระทำกับผลกระทบอย่างใกล้ชิด: มนุษย์มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงอันตราย ดังนั้นการทำให้ผลลัพธ์ของการตัดสินใจด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบมีความชัดเจนและเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรเน้นที่ “ผลกระทบ” ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการสื่อสารในเชิงบวกได้มากกว่า “ผลที่ตามมา”
- ส่งเสริมแบบอย่างที่ดีและเน้นย้ำผลกระทบเชิงบวก: การนำเสนอเรื่องราวความสำเร็จของบุคคลที่ปฏิบัติตามแนวทางความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด จะช่วยสร้างความเข้าใจและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม
- ต่อยอดค่านิยมที่มีอยู่เดิมในองค์กร: การเชื่อมโยงความปลอดภัยทางไซเบอร์เข้ากับค่านิยมหลักขององค์กร เช่น ความปลอดภัยในภาคพลังงาน ความมั่นคงทางการเงินในภาคการเงิน หรือคุณภาพในการผลิต จะช่วยให้การปลูกฝังความเชื่อใหม่เป็นไปได้ง่ายขึ้น
- ขยายผลด้วยแรงกดดันทางสังคม: การสื่อสารที่เน้นย้ำถึงผลกระทบของการกระทำที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้อื่น สามารถสร้างแรงกดดันทางสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีวัฒนธรรมความปลอดภัยทางกายภาพที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว
- ทำให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล: การสื่อสารที่ทำให้พนักงานสามารถจินตนาการถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองหรือคนที่พวกเขารัก จะช่วยให้เกิดความตระหนักและความเข้าใจในความเสี่ยงได้มากขึ้น การใช้ภาพที่สร้างความเห็นอกเห็นใจสามารถเสริมสร้างการสื่อสารประเภทนี้ได้
- ทำให้สนุก: การนำอารมณ์ขันมาใช้ในการสื่อสาร แม้ว่าอาจเป็นเรื่องท้าทาย แต่หากทำได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้ข้อความน่าจดจำและสร้างความประทับใจได้ยาวนาน
การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มแข็งต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับที่ “ความตระหนักรู้” เพียงอย่างเดียวไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้ องค์กรต้องสร้างการเชื่อมโยงระหว่างการกระทำและผลลัพธ์ที่ชัดเจน เพื่อให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของตนเองในการปกป้องทรัพย์สินและชื่อเสียงขององค์กร
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะต้องเชื่อมโยงกับผลที่ตามมา ขยายผลด้วยแรงกดดันทางสังคม ต่อยอดจากค่านิยมที่มีอยู่เดิม สร้างความเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล และอาจสอดแทรกความสนุกสนาน เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยงเป็นไปอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้สามารถเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา การให้ความรู้และคำแนะนำ ข้อมูลต่าง ๆ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญได้ในงานมหกรรมการเงินกรุงเทพ ครั้งที่ 25 MONEY EXPO 2025 BANGKOK ภายใต้แนวคิด “Resilient Wealth” ที่วารสารการเงินธนาคาร จัดขึ้นในวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2568 ชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยเปิด 7 โซนบริการด้านการเงินการลงทุนครบวงจร พร้อมขนทัพแคมเปญโปรโมชั่นสุดพิเศษจากธนาคาร/สถาบันการเงิน/บล.บลจ./ บริษัทประกัน/หน่วยงานภาครัฐและเอกชนคับคั่ง พร้อมกิจกรรมสัมมนาจากกูรูชื่อดังแถวหน้าของเมืองไทย และกิจกรรมความบันเทิงมากมาย
————————————————————————————————–
ที่มา : การเงินการธนาคาร / วันที่เผยแพร่ 18 เมษายน 2568
Link : https://moneyandbanking.co.th/2025/167039/