ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เป็นมากกว่าเรื่องการกำหนดอัตราภาษี
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก จุดชนวนสงครามการค้าโดยตรงครั้งใหม่กับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสอง และเป็นคู่ต่อสู่สมน้ำสมเนื้อที่สุดกับสหรัฐ ในสงครามการค้า ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่รัฐบาลทรัมป์สมัยแรก และยังคงมีการสานต่อโดยรัฐบาลวอชิงตันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ตุ๊กตาของเล่นเลียนแบบประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ วางขายอยู่ที่ร้านแห่งหนึ่ง ในเมืองอี้อวู๋ ของมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน
มาตรการภาษีต่างตอบแทน หรือภาษีตอบโต้ ซึ่งสหรัฐต้องการใช้กับคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าสูงสุด มีผลอย่างเป็นทางการ เมื่อเวลา 00.01 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา ตรงกับเวลา 11.01 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันเดียวกันในประเทศไทย
จีนเผชิญกับอัตราภาษีต่างตอบแทนสูงที่สุด คืออย่างน้อย 145% ซึ่งรวมถึง 20% ที่มีการประกาศตั้งแต่เดือนก.พ. ที่ผ่านมา ตามด้วยอีก 34% ซึ่งผู้นำสหรัฐประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา และอีก 50% ที่ทรัมป์ประกาศภายในอีกไม่กี่วันต่อมา จากการที่จีนขึ้นภาษีตอบโต้อีก 34% กับสินค้าทุกประเภทของสหรัฐ และยังออกมาตรการเพิ่มเติมอีกหลายชุด รวมถึงการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายาก และการระงับนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการ “อย่างเจาะจง”
ทั้งนี้ การที่ทรัมป์ประกาศภายในเพียงวันเดียว หลังมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ว่าจะระงับมาตรการดังกล่าวออกไปก่อน 90 วัน เพื่อการเจรจากับทุกประเทศ แต่ยกเว้นเฉพาะจีน ซึ่งเผชิญกับอัตราภาษีต่างตอบแทนเพิ่มเป็นอย่างน้อย 145% ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่า มาตรการภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐครั้งนี้ ต้องการเล่นงานจีนเป็นมากที่สุด จากการที่ทรัมป์กล่าวว่า จีนเป็นประเทศที่เอาเปรัยบทางการค้ากับสหรัฐมานาน และ “การตัดสินใจนับจากนี้ขึ้นอยู่กับจีน” พร้อมทั้งอ้างว่า “จีนต้องการเจรจา แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งประกาศแล้วว่า “จะสู้จนถึงที่สุด” และพร้อมตอบโต้ “ในระดับเดียวกัน” ทุกครั้งที่สหรัฐเดินเกมก่อน อีกทั้ง จีน “จะไม่มีทางก้มหัว” ให้กับการข่มขู่กรรโชกแบบนี้ โดยมาตรการตอบโต้ทั้งหมดของจีน มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนเผนแพร่สมุดปกขาวเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “จีนไม่ได้แสวงหาการเกินดุลการค้ากับสหรัฐโดยเจตนา” ความไม่สมดุลทางการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน เป็นผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสหรัฐเอง ข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ และความแตกต่างด้านตลาดแรงงานระหว่างสองประเทศ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทรัมป์ขอให้ชาวอเมริกัน “อดทน” โดยยืนยันว่า เรื่องนี้จะส่งผลดีในระยะยาว ขณะที่นายสกอตต์ เบสเซนต์ รมว.การคลังสหรัฐ กล่าวถึงการจีนพร้อมขึ้นภาษีตอบโต้ “อย่างเท่าเทียมกัน” ทุกครั้งที่สหรัฐมีการขึ้นภาษี ว่า “เป็นความผิดมหันต์” ของอีกฝ่าย ที่เป็นการยกระดับความตึงเครียดให้กับสถานการณ์ เพราะจะยิ่งทำให้รัฐบาลปักกิ่งอยู่ในตำแหน่งที่เสียเปรียบ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรรัฐ นั่งอ่านเอกสารอยู่ที่โต๊ะทำงานภายในทำเนียบขาว โดยมีนายสกอตต์ เบสเซนต์ รมว.คลัง (คนที่สองจากขวา) และนายโฮวาร์ด ลุตนิก รมว.พาณิชย์ ยืนมองอยู่ด้านหลัง
เบสเซนต์ตั้งคำถามว่า “สหรัฐเป็นฝ่ายสูญเสียอะไรให้กับจีน” เพราะ “อเมริกาส่งออกไปยังจีนเพียงหนึ่งในห้าของที่จีนส่งออกมายังสหรัฐ” จึงเป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใดอีกฝ่ายจึงเสียเปรียบมากกว่า
รัฐมนตรีคลังของสหรัฐกล่าวอีกว่า เป้าหมายสูงสุดของการกำหนดกำแพงภาษี คือการนำงานกลับเข้ามาในประเทศ โดยในระหว่างนั้น สหรัฐมีการเก็บภาษีต่างตอบแทน หากประสบความสำเร็จ กำแพงภาษี “จะละลายไปเหมือนก้อนน้ำแข็ง” เพราะอเมริกาจะมีรายได้จากโรงงานที่กลับมาสร้างฐานการผลิตในประเทศ
เป็นระยะเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ที่สหรัฐพยายามควบคุม จำกัด และขัดขวาง การพัฒนาของจีน นับตั้งแต่การเยือนกรุงปักกิ่งครั้งประวัติศาสตร์ ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น ซึ่งมีการพบหารือกับประธานเหมา เจ๋อตง ผู้นำจีน โดยความต้องการของรัฐบาลวอชิงตันไม่ใช่เพียงการแสดง “การยอมรับอย่างเป็นทางการ” ต่อจีน แต่ยังเป็นความพยายามดึงรัฐบาลปักกิ่งให้เข้ามาถ่วงดุลอำนาจกับสหภาพโซเวียต ท่ามกลางการต่อสู้ในสมรภูมิสงครามเย็น ระหว่างสองขั้วการเมืองใหญ่
ขณะเดียวกัน สหรัฐและจีนยังเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก ( ดับเบิลยูทีโอ ) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2538 สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมระหว่างประเทศ ว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก จะยึดมั่นและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การค้า ภายใต้ระเบียบ การตรวจสอบ และเงื่อนไข ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกัน
แผ่นป้ายบอกราคาพร้อมแหล่งผลิตว่าอยู่ในจีน บนเสื้อตัวหนึ่ง ในร้าน “ทาร์เก็ต” ที่เมืองเซาซาลิโต ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ.
แม้ทรัมป์ไม่ใช่ผู้นำสหรัฐคนแรก ซึ่งออกมาแสดงความไม่พอใจในเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศมหาอำนาจ มักเกี่ยวข้องกับ การทุ่มตลาด การที่บริษัทเข้าสู่ตลาดจีนยากกว่าผู้ประกอบการจากประเทศอื่น และการแทรกแซงค่าเงิน ไปจนถึงการลอกเลียนและการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของทรัมป์ในเรื่องนี้มีความแข็งกร้าวกว่าประธานาธิบดีสหรัฐหลายคน อีกทั้งทรัมป์ยังมีความมุ่งมั่น “ที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบ” ของความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังคงเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ แต่ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันกลับยังไม่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนมากนัก ขณะที่จีนน่าจะเตรียมพร้อมมาตลอดในเรื่องนี้ เพราะเผชิญมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทรัมป์สมัยแรกแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น การที่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับการเรียกเก็บภาษีต่างตอบแทนในอัตราสูงลิ่วกันถ้วนหน้า กลายเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของสหรัฐในสายตาของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะในด้านความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ
อนึ่ง เบสเซนต์ กล่าวด้วยว่า ประเทศใดก็ตาม ที่กำลังพิจารณาแสวงหาแนวทางเพิ่มความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลปักกิ่ง “ต้องตระหนักให้ดี” เนื่องจาก “สิ่งที่กำลังคิดอยู่นั้น อาจกลายเป็นการเชือดคอตัวเองในภายหลัง”
รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวอีกว่า จีน “เป็นประเทศที่เอาแต่ผลิต รัฐบาลให้เงินอุดหนุน แล้วหลังจากนั้นสินค้าจำนวนมหาศาลซึ่งมีราคาถูกกว่า กระจายออกไปทั่วโลก” พร้อมทั้งขอให้นานาประเทศร่วมมือกับรัฐบาลวอชิงตัน เพื่อเผชิญหน้ากับจีนในเรื่องนี้ และประณามรัฐบาลปักกิ่ง “เลือกเป็นฝ่ายยกระดับความรุนแรง” ให้กับสงครามภาษี
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวถึงมาตรการภาษีต่างตอบแทน ที่มุ่งเป้าไปยังแต่ละประเทศและดินแดนแบบเจาะจงว่า “เหมือนเป็นเพดาน” ในกรณีที่รัฐบาลของประเทศนั้นไม่ตอบโต้ ส่งสัญญาณว่า รัฐบาลวอชิงตันจะไม่เพิ่มอัตราภาษีกับประเทศนั้นอีก หากไม่เผชิญกับการต่อต้านจากรัฐบาลของประเทศนั้น มาตรการภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐ “คือแผนยุทธศาสตร์” และจีน “กำลังติดกับดัก”
ทั้งนี้ทั้งนั้น สหรัฐกำลังจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมตามกำหนด ในเดือนพ.ย. 2569 เมื่อถึงเวลานั้น หากผลลัพธ์ของมาตรการทั้งหมดไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือไม่มากเท่ากับที่หวังไว้ แรงกดดันจากประชาชนในสหรัฐเอง จะผลักดันให้รัฐบาลต้องหาทางลงในเรื่องนี้ และการเจรจากับบรรดาคู่ค้า โดยเฉพาะกับจีน “จะไม่ง่ายขนาดนั้น”.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP
————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 13 เมษายน 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4601131/