อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (Photo : AFP)
“โดรนกู้ภัย”สำคัญไฉน?
ยกให้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญในปฏิบัติการกู้ภัย บรรเทาสาธารณภัยต่างๆ กันไปแล้ว
สำหรับ “โดรนกู้ภัย (Rescue Drone)” ซึ่งก็คือ อากาศยานไร้คนขับชนิดหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการข้างต้น
โดย “โดรนกู้ภัย” หลายคนก็เรียกว่า “โดรนมนุษยธรรม (Humanitarian Drone)” อันหมายถึง โดรนที่ใช้ในปฏิบัติการกู้ภัย บรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้คนที่กำลังประสบภัย นั่นเอง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนที่กำลังประสบภัยในพื้นที่ที่ “ยากจะเดินทางเข้าถึง” ของเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย ด้วยสาเหตุต่างๆ อาทิเช่น ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภัยพิบัติทั้งทางธรรมชาติ อย่างแผ่นดินไหว และภัยพิบัติจากอุบัติภัยอย่างเหตุเพลิงไหม้ รวมไปถึงการก่อวินาศกรรม ทำให้มีความเสี่ยงอันตรายต่อเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ตลอดจนพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีการจราจรคับคั่ง ก็เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย ที่ต้องเดินทางเข้าถึงพื้นที่แบบปัจจุบันทันด่วน
การใช้โดรนมาสนับสนุนการกู้ภัยในเหตุแผ่นดินไหวของประเทศหนึ่ง (Photo : AFP)
ดังนั้น ความจำเป็นที่จะใช้โดรนกู้ภัย ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะโดรนจะถูกส่งไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่กำลังประสบภัยในพื้นที่ดังกล่าว ในช่วงเวลาที่กำลังเป็น “นาทีชีวิต” ที่ “ความเป็น ความตาย” รออยู่ตรงหน้า ซึ่งโดรนก็จะถูกส่งล่วงหน้าไปช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นปฐม ก่อนที่เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยที่เป็นมนุษย์จะเดินทางเข้าไปถึงที่อาจต้องใช้เวลากันพอสมควร
ทั้งนี้ “โดรนกู้ภัย” ที่ว่า จะถูกนำไปใช้ในสารพัดปฏิบัติการ
ไล่ไปตั้งแต่ปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัยในพื้นที่ภัยพิบัติที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งเต็มไปด้วยซากปรักหักพังของสิ่งปลูกสร้าง
ปฏิบัติการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยเบื้องต้น ก่อนที่เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยที่เป็นมนุษย์จะเดินทางเข้าไปถึง
ปฏิบัติการส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนเวชภัณฑ์ต่างๆ ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง หรือประสบอุบัติเหตุ อุบัติภัย ที่การเดินทางเข้าถึงมีอุปสรรค หรือเป็นไปด้วยความยากลำบาก
นอกจากปฏิบัติการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์กู้ภัยต่างๆ โดรนมนุษยธรรมชนิดนี้ ยังสามารถใช้ในปฏิบัติการพิทักษ์ป้องกันสิ่งแวดล้อม โดยให้มันตรวจการณ์ แล้วแจ้งเตือนภัย สำหรับพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล รวมถึงการนำไปใช้ปฏิบัติการในภารกิจที่มีความซับซ้อน
การเผยโฉมเปิดตัวเป็นครั้งแรกของโดรนกู้ภัย ก็เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเฮติ เมื่อปี 2010 (พ.ศ. 2553) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากราว 1แสนถึง 3 แสนคน โดยโดรนกู้ภัย ถูกนำไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยในเหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้น ซึ่งประเทศเฮติ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก กอปรกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายในเฮติ นอกจากถูกทำลายแล้ว ก็ยังมีความล้าหลัง ทำให้ยากต่อการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยของเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยที่เป็นมนุษย์
การใช้โดรนส่งมอบสิ่งของต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกล หรือเดินทางเข้าถึงยาก (Photo : AFP)
โดยโดรนกู้ภัย ที่นำไปใช้ในปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมในเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติข้างต้น ก็ถูกใช้ในไปในด้านการค้นหาผู้ที่คาดว่ายังรอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากปรักพังของอาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่พังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว
นอกจากนี้ โดรนกู้ภัยยังถูกนำไปใช้ในการบินตรวจการณ์ในมุมสูง เพื่อประเมินความเสียหายทั้งในชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในเฮติครั้งกระนั้นด้วย
ภาพมุมสูงแสดงสภาพความเสียหายในพื้นที่ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งใช้โดรนบันทึกภาพ เพื่อประเมินสถานการณ์ให้แก่หน่วยกู้ภัย (Photo : AFP)
ก็ต้องถือว่า โดรนกู้ภัย หรือโดรนมนุษยธรรม ประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งสร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะที่เป็นหนึ่งในอุปกรณ์กู้ภัยช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่มีความสำคัญต่อปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ในเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุร้ายจากอุบัติเหตุอุบัติภัยในเวลาต่อมานับตั้งแต่นั้น
ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการกู้ภัยบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่ประเทศเนปาล เมื่อปี 2015 (พ.ศ. 2558) ซึ่งทำให้ผู้เสียชีวิตไปเกือบ 9,000 คน บาดเจ็บอีกราว 22,000 คน และสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก โดยปฏิบัติการของโดรนกู้ภัยที่นำมาใช้ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาลนั้น นอกจากการกู้ภัยบรรเทาทุกข และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่างๆ เหมือนเมื่อครั้งเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติแล้ว โดรนกู้ภัยก็ยังมีภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมา นั่นคือ การทำแผนแบบ 3 มิติในพื้นที่ประสบภัย เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้ที่คาดว่ายังรอดชีวิตภายใต้ซากปรักพังของสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวกันอีกด้วย ส่งผลให้ปฏิบัติการกู้ภัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เหตุมหาวาตภัย พายุเฮอร์ริเคน “มาเรีย” พัดถล่มดินแดนเปอร์โตริโก เมื่อปี 2017 (พ.ศ. 2560) ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 3,000 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ก็ได้โดรนกู้ภัยในการตรวจการณ์ ค้นหาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น รวมถึงช่วยค้นหาผู้ที่ติดค้างตามสถานที่ต่างๆ
เหตุพายุเฮอร์ริเคน “ฮาร์วีย์” พัดถล่มในพื้นที่รัฐตอนใต้ของประเทศสหรัฐฯ เช่น รัฐเทกซัส ทางการก็ได้ใช้โดรนกู้ภัย สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาทุกข์ทั้งหลาย ออกให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ เหตุพายุเฮอร์ริเคนข้างต้น ยังก่อให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมสูงฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนเป็นจำนวนมากต้องติดค้างตามสถานที่ต่างๆ ท่ามกลางน้ำท่วมสูงล้อมรอบ ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาทุกข์ ก็เดินทางเข้าไปช่วยเหลือด้วยความยากลำบาก ก็ได้อาศัยโดรนเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่บรรดาผู้ประสบภัยเหล่านั้น รวมทั้งการส่งสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเข้าไปช่วยเหลือ และเวชภัณฑ์ต่างๆ แก่ผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วย
การใช้โดรนส่งความช่วยเหลือทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ในพื้นที่ชนบทห่างไกล (Photo : AFP)
นอกจากด้านการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แล้ว โดรนกู้ภัยก็ยังถูกนำมาใช้ด้านการตรวจการณ์ และให้ความช่วยเหลือเป็นเบื้องต้นในงานเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยอย่างไม่คาดคิดขึ้นอีกด้วย เช่น ที่ฟิลิปปินส์ ได้นำโดรนของกองทัพสหรัฐฯ จำนวนกว่า 20 ลำ เข้าไปช่วยตรวจการณ์และกู้ภัยในงานเทศกาลสำคัญของคริสตศาสนา เช่น งานสัปดาห์ศักดิสิทธิ์ งานปาล์มซันเดย์ ซึ่งมีผู้คนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก จนยากที่จะใช้เจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์ตรวจตราและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง ต้องใช้โดรนกู้ภัยเข้ามาช่วยงานได้อย่างมีประสิทธิมากยิ่งขึ้น
ทางการของประเทศแห่งหนึ่งใช้โดรนตรวจการณ์ ในงานเทศกาลประจำปี เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย หรือสิ่งผิดปกติ ภายในงานเทศกาล อันจะส่งผลให้ระงับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสิ่งผิดปกติขึ้น (Photo : AFP)
————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวสยามรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 15 เมษายน 2568
Link : https://siamrath.co.th/n/615080