ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระบุวานนี้ (20 ก.พ.) ว่ารัสเซียไม่เห็นด้วยกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในอวกาศ ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมแดนหมีขาวก็ปฏิเสธข้อมูลของสหรัฐฯ ที่อ้างว่ามอสโกกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์สำหรับใช้งานในอวกาศ
แหล่งข่าวให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า สหรัฐฯ เชื่อว่ารัสเซียอยู่ระหว่างพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อต้านดาวเทียมสำหรับใช้ในอวกาศ (space-based anti-satellite nuclear weapon) ซึ่งหากถูกจุดชนวนระเบิดก็จะสร้างความเสียหายต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ระบบสื่อสารทางทหาร เรื่อยไปจนถึงบริการเรียกรถยนต์ผ่านแอปพลิเคชันมือถือ
“จุดยืนของเราชัดเจนและโปร่งใส เราคัดค้านอย่างเด็ดขาดมาโดยตลอด และวันนี้ก็ยังคงคัดค้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในอวกาศ” ปูติน กล่าวกับ เซียร์เก ชอยกู ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเขาเอง
“เราไม่เพียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพข้อตกลงที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยังเคยเสนอให้มีการทำงานร่วมกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง” ปูติน ระบุ
ผู้นำรัสเซียยืนยันด้วยว่า กิจกรรมในห้วงอวกาศของรัสเซียไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากสิ่งที่สหรัฐฯ หรือประเทศอื่น ๆ ทำอยู่
สัญญาณที่บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ เชื่อมั่นจริง ๆ ว่า มอสโกกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อต้านดาวเทียมในอวกาศก็คือการที่โฆษกทำเนียบขาวออกมาแถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (15) ว่า ระบบที่มอสโกกำลังพัฒนาอยู่นั้นเข้าข่ายฝ่าฝืนสนธิสัญญาอวกาศ (Outer Space Treaty)
สนธิสัญญาซึ่งทำขึ้นเมื่อปี 1967 กำหนดห้ามไม่ให้รัฐภาคี ซึ่งรวมถึงรัสเซียและสหรัฐฯ “ส่งวัตถุใดๆ ก็ตามที่มีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ หรืออาวุธทำลายล้างสูงทุกประเภทขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก”
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับความพยายามของรัสเซียที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อต้านดาวเทียมในอวกาศ
ชอยกู ยืนกรานปฏิเสธข้อครหาของสหรัฐฯ และย้ำว่ารัสเซียไม่เคยมีแผนดำเนินการอะไรอย่างที่แหล่งข่าวของอเมริกาอ้าง
“ประการแรก โครงการส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปอวกาศไม่มี ประการที่สอง สหรัฐฯ เองก็รู้ดีว่ามันไม่มี” ชอยกู บอกกับ ปูติน
รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียยังกล่าวหาทำเนียบขาวว่ามีเจตนาสร้างความตื่นตระหนกต่อสมาชิกสภาคองเกรสเพื่อของบประมาณเพิ่มให้ยูเครน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำให้รัสเซียพ่ายแพ้ในเชิงยุทธศาสตร์ และเหตุผลข้อที่ 2 ที่มีการปล่อยข่าวเรื่องนี้ออกมาก็เพราะสหรัฐฯ ต้องการบีบให้มอสโกยอมเจรจาเรื่องการสร้างเสถียรภาพในทางยุทธศาสตร์ (strategic stability)
การที่รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 ส่งผลให้มอสโกกับโลกตะวันตกเกิดการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 และยังทำให้โครงสร้างการควบคุมอาวุธในยุคหลังสงครามเย็นแทบจะพังทลายลง
ปูติน ยืนยันว่า รัสเซียไม่เคยต่อต้านการหารือเรื่องเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ ทว่าการแบ่งแยกระหว่างเป้าหมายของตะวันตกในการทำให้รัสเซียพ่ายแพ้กับการพูดคุยเรื่องความมั่นคงทางยุทธศาสตร์นั้น “เป็นไปไม่ได้”
“ถ้าพวกเขาต้องการหยิบยื่นความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ให้กับเรา เราก็ต้องมาคิดใหม่ว่าเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์สำหรับประเทศเราคืออะไร” ปูติน กล่าว
“ดังนั้น เราไม่ได้ปฏิเสธอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้ยกเลิกอะไรทั้งสิ้น แต่จำเป็นต้องมองให้ออกว่าพวกเขาต้องการอะไรแน่ พวกเขามักจะแสวงหาความได้เปรียบฝ่ายเดียวเสมอ ซึ่งจะไม่มีทางเป็นเช่นนั้นได้”
ที่มา : รอยเตอร์
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 21 ก.พ.67
Link : https://mgronline.com/around/detail/9670000015790