สัญญาณบอกเหตุว่า กองทัพพม่ากำลังอ่อนแอลงอย่างสุดขีด และความพยายามรักษาอำนาจหลังรัฐประหารปี 2021 มาถึงทางตันแล้ว คือการประกาศแผนการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งชายและหญิงที่ยังอยู่ในวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 18-35 ปี สำหรับผู้ชาย และ 18-27 ปี สำหรับผู้หญิง การประกาศในลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก เพราะรัฐบาลทหารในยุคก่อนหน้านี้เคยออกกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารในช่วงบ้านเมืองเจอศึกสงครามและทหารขาดแคลน แต่การต่อสู้ของ SAC หรือคณะรัฐประหารพม่าในครั้งนี้ไม่ใช่ “สงคราม” เพื่อปกป้อง “ชาติ” หากแต่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าอื่นใด
ที่ผ่านมาหลายเดือน มีนักวิเคราะห์ที่เขียนถึงวิกฤตของกองทัพพม่ามากมาย ทั้งหมดเห็นตรงกันว่ากองทัพพม่าไม่เคยอ่อนแอแบบนี้มาก่อน ทั้งในด้านกำลังพลที่ร่อยหรอลงจากการสู้รบต่อเนื่องยาวนาน และความร่วมมือกันของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ร่วมกันตีหลายเมืองในรัฐฉานเหนือ รัฐฉิ่น และอีกหลายรัฐทั่วประเทศ จนทำให้พื้นที่และฐานที่มั่นของกองทัพพม่าหดเล็กลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากจำนวนทหารในกองทัพจะลดลงไปมากจากทหารที่เสียชีวิตในสงครามแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่เรียกว่าสร้างความสูญเสียให้กองทัพพม่าอย่างมาก คือทหารที่ยังอยู่ไม่มีใจจะรบ และตัดสินใจหลบหนี ตั้งแต่ทหารชั้นผู้น้อยไปจนถึงระดับแม่ทัพกองพล ทั้งเสียกำลังพล และเสียหน้า ด้วยสถานการณ์ที่กองทัพเสียเปรียบอยู่ในขณะนี้ การดึงดูดให้คนหนุ่มไปสมัครเป็นทหารย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม้ตายที่ SAC นำมาใช้คือการบังคับให้ประชาชนวัยทำงานทั้งเพศหญิงและชายต้องเกณฑ์ทหาร และเป็นกำลังพลในสงครามกลางเมืองที่ยังดำเนินต่อไป
กองทัพพม่าอ้างว่า มีประชาชนที่เข้าข่ายต้องถูกเกณฑ์ทหารอยู่ 13 ล้านคน แต่ในความเป็นจริง การจะเกณฑ์ทหารเพียง 100 คนในสภาพที่กองทัพตกเป็นรองยังแทบเป็นไปไม่ได้เลย มาตรการหลายอย่างถูกนำมาใช้ เช่นการตั้งด่านเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ชาวพม่าหนีออกไปประเทศเพื่อนบ้าน แน่นอนประเทศที่เป็นด่านแรกที่จะรับคนหนุ่มสาวเหล่านี้คือไทย แหล่งข่าวจากย่างกุ้งแจ้งว่าในช่วงก่อนมีประกาศ มีชาวพม่าขอวีซ่าเข้าไทยราว 200 คน แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์นี้ ประชาชนหลายพันคนเข้าคิวกันหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เมืองย่างกุ้ง ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น และยังมีข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่าประชาชนหลายพันคนในมัณฑะเลย์แห่ไปทำหนังสือเดินทาง จนเกิดอุบัติเหตุเหยียบกันตายและมีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 2 คน
หากยังมีประชาชนหลบหนีเข้ามาในฝั่งไทยอย่างต่อเนื่อง เท่ากับว่าไทยจะเป็นประเทศที่รับผู้อพยพจากพม่ามากที่สุด ชายแดนพม่ากับไทยประกอบด้วยพรมแดนธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าฝ่ายความมั่นคงจะตรึงกำลังมากมายเพียงใด ไม่มีทางที่จะสกัดกั้นให้คนจากพม่าหลบหนีเข้ามาในฝั่งไทยได้ และด้วยพื้นที่ชายแดนส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยกองกำลังของกะเหรี่ยงและคะเรนนี โดยเฉพาะ KNLA (Karen National Liberation Army) หรือกองทัพของ KNU (Karen National Union) ภายใต้การนำของแม่ทัพกะเหรี่ยงคนสำคัญ 2 คน คือ ซอ จอห์นนี่ (Saw Johnny) กับบอจ่อแฮ (Baw Kyaw Heh) ที่ในเวลานี้เริ่ม “ใส่เกียร์ว่าง” และพร้อมช่วยเหลือให้คนที่หนีการเกณฑ์ทหารหลบเข้ามาในฝั่งไทยได้
ไม้ตายที่กองทัพพม่าพร้อมใช้เพื่อปราบปรามกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และกองทัพฝั่งประชาชนคือการโจมตีทางอากาศ ทุกครั้งเมื่อมีการโจมตีในลักษณะนี้ก็จะมีความสูญเสียอย่างรุนแรงตามมา เป้าหมายของกองทัพพม่าคือการโจมตีแบบปูพรม เน้นโจมตีพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้าน โดยมิได้สนใจว่าจะกระทบกับชีวิตของประชาชนทั่วไปหรือไม่ แม้จะมีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทัพจะสามารถยึดเมืองเหล่านั้นกลับคืนมาจากฝ่ายต่อต้านได้ เพราะปัญหาสำคัญสำหรับ SAC ในขณะนี้คือไม่มีจำนวนคนมากพอที่จะรักษาฐานที่มั่นของตนไว้ได้ ทำให้ภายในไม่กี่วัน เมืองที่ถูกโจมตีทางอากาศก็จะกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หรือฝ่ายประชาชนอยู่ดี
ตัวอย่างที่สำคัญหลังปฏิบัติการ 1027 ที่รัฐฉานตอนเหนือ คือปฏิบัติการของกองทัพพม่าในรัฐอาระกัน ที่เป็นพื้นที่ของกองทัพอาระกัน หรือ AA ภายใต้การบัญชาการของแม่ทัพหนุ่มอย่างตวัน มรัต นาย (Twan Mrat Naing) มีความเป็นไปได้สูงว่าอีกไม่ช้าพื้นที่ทั้งหมดของรัฐ
อาระกันจะถูกควบคุมโดย AA รวมทั้งบางพื้นที่ของรัฐฉิ่น ที่เป็นฐานที่มั่นของ AA มาตั้งแต่ต้น ด้วยสถานการณ์ที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านเป็นต่อทุกทางแบบนี้ โอกาสที่กองทัพพม่าจะประสบความสำเร็จย่อมเป็นไปไม่ได้ และหากมองด้วยใจที่เป็นกลางแล้ว กองทัพพม่าอาจเริ่มเปิดโต๊ะเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาล NUG กองกำลัง PDF และกลุ่มอื่นๆ ในอีกไม่ช้า
สำหรับไทย ผู้เขียนอยากเน้นย้ำว่าปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นในพม่ามีผลกระทบกับไทยมากกว่าที่คิด หากคนพม่าที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารหลั่งไหลเข้ามาในไทยนับหมื่นคนในคราวเดียว ฝ่ายความมั่นคงจะรับมือกับฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้อย่างไร และแน่นอนว่าสถานการณ์ในพม่าพร้อมเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ วันนี้อาจจะยังรบกันอยู่ แต่ในวันหน้าอาจจะเกิดการเจรจาขึ้นในหลายระดับ ไม่ว่าไทยจะเดินเกมอย่างไรนับแต่นี้ล้วนมีความสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะการปกป้องผลประโยชน์ของชาติเท่านั้น แต่ยังมีผลไปถึงการกำหนดความเป็นความตายในพม่าด้วย
ที่ผ่านมา วิกฤตการเมืองในพม่า ตั้งแต่การประท้วงในปี 1988 มาจนถึงวิกฤตการณ์โรฮีนจา และความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2021 ส่งผลกระทบกับนโยบายด้านความมั่นคงของไทยและของอาเซียนเท่านั้น รัฐประหารผ่านไปแล้ว 3 ปี แต่อาเซียนยังไม่สามารถกดดันพม่าให้เข้าสู่โต๊ะเจรจาได้อย่างจริงจัง ผู้เขียนมองว่าผู้นำอาเซียนเองก็ต้องประเมินสถานการณ์ และรู้ว่าช่วงเวลานี้คือช่วงที่ดีที่สุดที่จะเข้าไปเปิดการเจรจากับ SAC เพราะยิ่งสงครามยังคงมีอยู่นานเท่าไหร่ ก็จะมีความสูญเสียเกิดขึ้นเท่านั้น การค้าชายแดนของไทยกับพม่าใน 8 จังหวัด พึ่งพากำลังซื้อจากฝั่งพม่าไม่มากก็น้อย หากสถานการณ์ในพม่าดีขึ้น จังหวัดชายแดนทางภาคตะวันตกก็จะยิ่งได้ประโยชน์ไปด้วย แต่ตราบใดที่ยังมีความไม่สงบในพม่า เห็นได้จากกรณีการบังคับเกณฑ์ทหารล่าสุดก็ได้ ชายแดนไทย-พม่าก็จะลุกเป็นไฟไปอีกตราบนานเท่านาน
บทความโดย ลลิตา หาญวงษ์
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 23 ก.พ.67
Link : https://www.matichon.co.th/columnists/news_4438579