ผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างและเผยแพร่ภาพผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิวดำซึ่งทำปลอมขึ้นมาโดยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อกระตุ้นให้ชาวแอฟริกันอเมริกันลงคะแนนเสียงให้พรรครีพับลิกัน
บีบีซีพาโนรามาสำรวจพบภาพปลอมแปลงใบหน้าบุคคลแบบ Deepfake จำนวนหลายชิ้น ที่แสดงภาพปลอมว่าคนผิวดำสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนนี้
ทรัมป์พยายามหาเสียงในหมู่คนผิวดำอย่างเปิดเผยตลอดมา เพราะคนกลุ่มนี้คือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งในปี 2020
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่า ภาพปลอมเหล่านี้เชื่อมโยงกับแคมเปญหาเสียงของทรัมป์โดยตรง
ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Black Voters Matters ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนให้คนผิวดำออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง บอกว่าภาพที่ถูกบิดเบือนดังกล่าวกำลังผลักดันให้เกิด “เรื่องเล่าเชิงกลยุทธ์” ในลักษณะที่ออกแบบมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัมป์ได้รับความนิยมชมชอบในชุมชนคนผิวดำ
หนึ่งในผู้สร้างภาพปลอมดังกล่าวคนหนึ่งบอกกับบีบีซีว่า “ผมไม่ได้บอกว่ามันเป็นภาพที่ตรงกับความจริง”
ภาพคนผิวดำที่สนับสนุนทรัมป์ซึ่งถูกทำปลอมขึ้นมาด้วยเอไอนี้ เป็นหนึ่งในแนวโน้มการบิดเบือนข้อมูลที่กำลังเติบโตขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้
ต่างจากในปี 2016 ที่มีหลักฐานว่าการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้รับอิทธิพลจากการแทรกแซงของต่างชาติ ในคราวนี้ บีบีซีพบว่าภาพที่ถูกสร้างโดยเอไอนั้นถูกผลิตและแชร์โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐฯ เอง
หนึ่งในผู้ผลิตภาพจากเอไอเหล่านั้นคือ มาร์ก เคย์ และทีมงานรายการวิทยุอนุรักษนิยมในมลรัฐฟลอริดาของเขา
พวกเขาสร้างภาพเป็นรูปทรัมป์ยืนยิ้มแฉ่งกลางวงคนผิวดำภายในงานปาร์ตี้แห่งหนึ่ง โดยสองมือโอบกลุ่มผู้หญิงผิวดำที่ยืนอยู่ข้างตัว ภาพดังกล่าวถูกแชร์ไปยังเฟซบุ๊กของเคย์ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 1ล้านคน ในแว็บแรก ภาพนี้ดูเหมือนจริงมาก แต่เมื่อตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจะพบว่าผิวของทุกคนเงางามเกินจริงไปเล็กน้อย มีบางนิ้วมือหายไป ซึ่งเป็นลักษณะที่สื่อได้ว่าภาพเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยเอไอ
“ผมไม่ใช่ช่างภาพข่าว” เคย์บอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซี ระหว่างการสัมภาษณ์จากสตูดิโอจัดรายการวิทยุของเขา
“ผมไม่ได้ออกไปถ่ายรูปสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผมแค่เป็นนักเล่าเรื่อง”
เคย์ยังโพสต์บทความเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิวดำที่สนับสนุนทรัมป์พร้อมกับแนบภาพดังกล่าวประกอบไปด้วย ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าคนผิวดำเหล่านี้ล้วนสนับสนุนการลงชิงชัยสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์
หลายความเห็นบนเฟซบุ๊กแสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้งานหลายคนเชื่อว่าภาพจากเอไอเหล่านี้เป็นภาพถ่ายจริง
“ผมไม่ได้อ้างว่ามันเป็นภาพจริง ผมไม่ได้พูดว่า ‘เฮ่ ดูสิ โดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ที่งานปาร์ตี้พร้อมกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวแอฟริกันอเมริกัน ดูสิว่าพวกนั้นรักเขามากแค่ไหน!’” เคย์ กล่าว
“หากจะมีใครลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์หรือผู้ชิงตำแหน่งคนอื่น ๆ เพียงเพราะเห็นรูปนี้บนเฟซบุ๊ก นั่นก็เป็นปัญหาส่วนบุคคลของคน ๆ นั้น ไม่ใช่ปัญหาโพสต์ข้อความ”
ส่วนภาพอีกหนึ่งภาพที่ถูกสร้างโดยเอไอและมีคนเห็นกันอย่างกว้างขวางนั้น บีบีซีตรวจสอบพบว่าเป็นภาพทรัมป์โพสต์ท่าถ่ายรูปกับคนผิวดำที่ระเบียงหน้าบ้าน เดิมทีมันถูกโพสต์โดยบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่ต้องการเสียดสีอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ แต่มันกลับได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางหลังจากถูกโพสต์ซ้ำพร้อมคำบรรยายใหม่ที่อ้างว่าทรัมป์หยุดขบวนรถเพื่อลงมาพบปะคนเหล่านี้
เราสืบค้นจนเจอบุคคลที่อยู่เบื้องหลังบัญชีสังคมออนไลน์นี้ ที่ชื่อว่า แช็กกี (Shaggy) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ตัวยงและอาศัยอยู่ในมลรัฐมิชิแกน
“โพสต์ของผมดึงดูดผู้ติดตามที่เป็นชาวคริสต์เตียนผู้มีจิตใจอันแสนงดงามหลายพันคน” เขาบอกผ่านข้อความที่ส่งหาบีบีซีผ่านสื่อสังคมออนไลน์
เมื่อผู้สื่อข่าวบีบีซีพยายามถามเกี่ยวกับภาพที่สร้างโดยเอไอ เขาบล็อกเราทันที โดยโพสต์ของเขามีผู้ชมมากกว่า 1.3 ล้านครั้งบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (เดิมคือทวิตเตอร์) ผู้ใช้งานหลายคนออกมาร้องเรียนว่ามันเป็นภาพปลอม แต่คนอื่น ๆ ดูเหมือนจะเชื่อว่าภาพนั้นเป็นของจริง
บีบีซีไม่พบภาพปลอมเช่นนี้ของ โจ ไบเดน กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากกลุ่มประชากรผิวดำ ภาพเอไอของประธานาธิบดีไบเดนมักจะนำเสนอภาพของเขาเพียงคนเดียวหรือร่วมกับผู้นำโลกคนอื่น ๆ เช่น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย หรืออดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ บางภาพถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มผู้วิจารณ์ และอีกหลายภาพสร้างขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุน
เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ไบเดน ที่เป็นผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตก็ตกเป็นเหยื่อการปลอมแปลงตัวตนที่สร้างขึ้นด้วยเอไอเช่นกัน โดยปรากฏคลิปเสียงพูดคุยโทรศัพท์ที่อ้างว่าเป็นเสียงของประธานาธิบดีไบเดน แนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าไม่ต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งขั้นต้นในมลรัฐนิวแฮมเชียร์ที่เขาลงแข่งอยู่ ทั้งนี้ หนึ่งในผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตออกมารับผิดชอบต่อกรณีนี้ โดยบอกว่าเขาต้องการดึงดูดความสนใจของผู้คน ให้ตระหนักถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวที่อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
คลิฟฟ์ อัลไบรท์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ Black Voters Matter กล่าวว่า ดูเหมือนว่ากลยุทธ์บิดเบือนข้อมูลที่มุ่งเป้าไปยังชุมชนคนผิวดำกำลังกลับมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2020
“เราพบความพยายามในการยิงข้อมูลที่บิดเบือนไปยังชุมชนคนผิวดำอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิวดำที่มีอายุน้อย” เขาบอก
ผู้สื่อข่าวบีบีซีนำภาพที่ถูกสร้างด้วยเอไอให้เขาดูระหว่างที่พบกันในสำนักงานของเขาในนครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ซึ่งถือเป็นสนามการเลือกตั้งสำคัญที่หากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนใจจากไบเดนไปเลือกทรัมป์ ผลเลือกตั้งก็อาจจะพลิกได้
ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของนิวยอร์กไทมส์และวิทยาลัยเซียนนาพบว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงผิวดำจำนวน 71% ใน 6 มลรัฐที่พรรคการเมืองได้รับคะแนนสูสีกัน (swing state) จะสนับสนุนไบเดนในการเลือกตั้งปี 2024 ซึ่งลดลงอย่างมากจากเดิม 92% ซึ่งช่วยให้เขาชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
อัลไบรท์บอกว่า ภาพปลอมดังกล่าวสอดคล้องกับ “การเล่าเรื่องเชิงกลยุทธ์อย่างมาก” ซึ่งถูกผลักดันโดยฝ่ายอนุรักษนิยม ตั้งแต่การหาเสียงของทรัมป์ไปจนถึงเหล่าผู้มีอิทธิพลทางความคิดในโลกออนไลน์หรืออินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ซึ่งออกแบบมาเพื่อโกยคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิวดำ โดยพุ่งเป้าไปยังผู้ชายผิวดำรุ่นเยาว์ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าเปิดกว้างกับการลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์มากกว่ากลุ่มผู้หญิงผิวดำ
ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ทาง MAGA Inc ซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการทางการเมืองเพื่อสนับสนุนทรัมป์ ได้กำหนดเปิดตัวแคมเปญโฆษณาที่กำหนดเป้าหมายไปที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิวดำในมลรัฐจอร์เจีย มลรัฐมิชิแกน และมลรัฐเพนซิลเวเนีย
แคมเปญดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่าง ดักลาส ซึ่งเป็นคนขับรถแท็กซี่อยู่ในนครแอตแลนตา
ดักลาสบอกว่าตนเองกังวลเรื่องเศรษฐกิจและการย้ายถิ่นฐานเป็นหลัก ซึ่งเป็นประเด็นที่ทรัมป์ให้ความสำคัญมากกว่าไบเดน เขายังบอกว่าสารของพรรคเดโมแครตที่พยายามสื่อว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยของประเทศนั้นไม่ได้กระตุ้นให้เขาไปลงคะแนนเสียงให้ เพราะเขาหมดศรัทธาต่อระบบการเลือกตั้งไปแล้ว
เศรษฐกิจทั่วไปในสหรัฐฯ ยังไปได้ดี แต่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงบางคนเช่นดักลาสกลับไม่รู้สึกว่าสถานการณ์ของตัวเองดีขึ้น เพราะเขาเองยังต้องเผชิญกับวิกฤตปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอยู่
เมื่อสอบถามว่าเขาคิดอย่างไรกับภาพทรัมป์นั่งอยู่หน้าระเบียงบ้านกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิวดำซึ่งสร้างด้วยเอไอ เมื่อผู้สื่อข่าวให้เขาดูภาพครั้งแรก ดักลาสเชื่อว่าภาพดังกล่าวคือ รูปจริง โดยเขาบอกว่าภาพนี้ช่วยเสริมมุมมองของเขาที่คิดว่าทรัมป์กำลังสนับสนุนชุมชนคนผิวดำ เช่นเดียวกับคนผิวดำอีกหลายคนที่เขารู้จักก็คิดเช่นนั้น
เมื่อผู้สื่อข่าวเฉลยว่าภาพดังกล่าวทำปลอมขึ้นมา เขาบอกว่า “สื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นแบบนี้แหละ มันง่ายมากหากจะนำมาหลอกคน”
กลยุทธ์การบิดเบือนข้อมูลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง โดยมีการพบหลักฐานว่าชาติมหาอำนาจที่ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ เช่น รัสเซีย พยายามใช้เครือข่ายบัญชีที่ไม่น่าเชื่อถือคอยยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกและปลูกความคิดบางรูปแบบขึ้น
ในปี 2020 จุดสนใจมุ่งไปที่การบิดเบือนข้อมูลที่เกิดขึ้นภายในสหรัฐฯ เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเล่าอันเป็นเท็จที่ระบุว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังถูกขโมยไป ซึ่งเป็นมุมมองที่ถูกแชร์ต่ออย่างกว้างขวางโดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐฯ และถูกรับรองโดยทรัมป์และนักการเมืองพรรครีพับลิกันคนอื่น ๆ
ในปี 2024 นี้ ผู้เชี่ยวชาญเตือนเกี่ยวกับความอันตรายของการบิดเบือนทั้งสองรูปแบบที่ผสมผสานกัน
เบน นิมโม ซึ่งจนถึงเดือนที่แล้ว มีหน้าที่รับผิดชอบในการต่อต้านปฏิบัติการสร้างอิทธิพลจากต่างประเทศในเมตา (Meta) ผู้เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม บอกว่า ความสับสนที่ถูกสร้างขึ้นจากการปลอมแปลงเหล่านี้ ยังเปิดโอกาสให้เกิดการเข้ามามีอิทธิพลเพื่อเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งโดยรัฐบาลต่างชาติด้วย
“ใครก็ตามที่มีผู้ชมจำนวนมากในปี 2024 ต้องคิดให้ดีว่า จะตรวจสอบสิ่งที่ส่งมาหาเราได้อย่างไร จะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการสร้างอิทธิพลจากต่างชาติโดยไม่รู้ตัว” เขากล่าว
นิมโมบอกว่าผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ สามารถระบุตัวตนบัญชีผู้ใช้ปลอมได้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะสร้างฐานผู้ติดตามด้วยวิธีนี้ ดังนั้นจึงเกิด “ปฎิบัติการที่ดึงคนจริง ๆ มาเข้าร่วม” เพื่อทำให้ข้อมูลที่สร้างความแตกแยกหรือทำให้เข้าใจผิดเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
“เดิมพันที่ดีที่สุดของพวกเขาคือการพยายามนำเสนอเนื้อหาผ่านผู้มีอิทธิพลทางความคิด นั่นคือใครก็ตามที่มีผู้ชมจำนวนมากบนสื่อสังคมออนไลน์” เขาบอก
นิมโมกังวลว่าในปี 2024 คนเหล่านี้อาจเต็มใจเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด ๆ ไปยังผู้ชมที่มีอยู่แล้ว และกลายเป็น “พาหะเผยแพร่โดยไม่รู้ตัว” ของปฏิบัติการสร้างอิทธิพลจากต่างประเทศ
เขาบอกว่า ปฏิบัติการเหล่านี้สามารถแบ่งปันเนื้อหาไปยังผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งด้วยวิธีแอบแฝงหรือเปิดเผย เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาโพสต์เนื้อหาเหล่านั้นต่อด้วยตนเอง มันจึงดูเหมือนว่าเนื้อหาดังกล่าวมาจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งของสหรัฐฯ เอง
บริษัทสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่ทั้งหมดล้วนมีนโยบายเพื่อจัดการกับการดำเนินการสร้างอิทธิพลจากต่างชาติที่อาจเกิดขึ้น เช่น เมตาผู้เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ที่เพิ่งออกมาตรการใหม่เพื่อรับมือกับเนื้อหาที่ถูกสร้างด้วยเอไอในระหว่างการเลือกตั้ง
ด้านนักการเมืองชั้นนำจากทั่วโลกต่างออกมาเน้นย้ำความเสี่ยงที่จะเกิดจากเนื้อหาที่สร้างด้วยเอไอ
เรื่องเล่าที่ระบุว่าการเลือกตั้งปี 2020 กำลังถูกขโมยไปซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุน ได้แพร่กระจายทางออนไลน์ผ่านโพสต์ทั่ว ๆ ไป มีม และอัลกอริทึม โดยที่รูปภาพและวิดีโอที่สร้างขึ้นโดยเอไอยังไม่มีบทบาทในตอนนั้น กระนั้นมันก็ยังนำไปสู่การจราจลที่รัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021
กลับมาที่การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ พบว่ามีเครื่องมือใหม่ ๆ มากมายสำหรับผู้แบ่งแยกและผู้ยุยงทางการเมือง ซึ่งอาจจุดชนวนความตึงเครียดได้อีกครั้ง
บทความโดย มาเรียนนา สปริง
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC News ไทย / วันที่เผยแพร่ 7 มี.ค.67
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cz5z33d1k5ko