พ.อ.ชิต ตุ ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงแห่งชาติหรือเคเอ็นเอ (Karen National Army-KNA) ซึ่งเคยเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยงบีจีเอฟ (Karen Border Guard Force-Karen BGF) ให้กับกองทัพเมียนมาเพื่อดูแลรักษาพื้นที่ชายแดนรัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ติดกับชายแดนไทย กำลังเป็นตัวแปรสำคัญในสนามประลองยุทธ์ในเมืองเมียวดี ซึ่งมีการปะทะกันระหว่างกองกำลังฝ่ายต่อต้านที่นำโดยสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติหรือเคเอ็นยู (Karen National Union-KNU) และกองทัพเมียนมา
แต่ดูเหมือนว่ากาสิโนและเมืองสแกมเมอร์ที่อยู่ในเมืองเมียวดีแทบไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุความขัดแย้งนี้ ถึงแม้ว่ามีคำขู่จากกองทัพเมียนมาที่ส่งถึง พ.อ.ชิต ตุ ว่าให้เขาส่งคืนอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดที่ฝ่ายต่อต้านยึดจากกองพันทหารราบที่ 275 (ค่ายผาซอง) กลับมาให้หมด มิฉะนั้นจะเปิดหน้าถล่มเมืองชเวโก๊กโก่ เมืองสแกมเมอร์ทุนจีนติดแม่น้ำเมยที่อยู่ตรงข้าม อ.แม่ระมาด และ อ.แม่สอด จ.ตาก ของไทย
ล่าสุด พบว่ากองกำลังของเขาช่วยคุ้มกันทหารเมียนมากลับมายังค่ายผาซองแล้ว
เป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนที่ พ.อ.ชิต ตุ จะประกาศตัดขาดกับกองทัพเมียนมา เขาได้ร่วมลงทุนกับผู้ลงทุนชาวจีนสีเทาหลากหลายกลุ่มสร้างเมืองชเวโก๊กโก่ขึ้นทางตอนเหนือของเมืองเมียวดี และสร้างเมืองเคเค พาร์ค (KK Park) ทางตอนใต้ของเมียวดี ซึ่งต่อมาพบว่าทั้งสองเมืองนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางอาชญากรรมออนไลน์ระดับโลก เพราะเป็นที่ตั้งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งสแกมเมอร์ และแหล่งพนันออนไลน์หลากหลายรูปแบบ
เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเมียนมาจากสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกาหรือยูเอสไอพี (United States Institute of Peace-USIP) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการอิสระที่ก่อตั้งโดยรัฐสภาของสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาความเคลื่อนไหวของกลุ่มอาชญากรรมที่อยู่เมืองสแกมเมอร์ทุนจีนภายในเมียวดีมาต่อเนื่องหลายปี เพื่อวิเคราะห์ว่าสถานการณ์การสู้รบในเมียวดีตอนนี้ ส่งผลสะเทือนต่อองค์กรอาชญากรรมที่อยู่ในพื้นที่บ้างหรือไม่
เมืองสแกมเมอร์ทุนจีนแทบไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุสู้รบในเมียวดี
เจสัน บอกว่า การสู้รบภายในเมียวดีแทบไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเมืององค์กรอาชญากรรมที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมของ KNA แต่อย่างใด
“พูดอย่างตรงไปตรงมา ผลกระทบจากความขัดแย้ง [ในเมียวดี] ต่อศูนย์กลางสแกมเมอร์เหล่านี้มีน้อยมาก จนคุณแทบไม่เห็นการหยุดชะงักลงของกิจกรรมอาชญากรรมภายในเมืองเหล่านี้ เหมือนกับที่คุณเห็นที่ชายแดนจีนเมื่อ MNDAA เปิดปฏิบัติการที่คล้ายกันในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว” ผอ.ฝ่ายเมียนมาของ USIP พูดถึงปฏิบัติการ 1027 ของกลุ่มพันธมิตรภราดรภาพทางรัฐฉานตอนเหนือที่นำโดยกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา MNDAA (Myanmar National Democratic Alliance Army) ซึ่งนำมาสู่การทะลายศูนย์กลางสแกมเมอร์ออนไลน์ขนาดใหญ่ในเขตปกครองพิเศษโกก้าง โดยพบว่าตระกูลผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดนโกก้างหรือโกก้างบีจีเอฟ (Kokang Border Guard Force–Kokang BGF) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับศูนย์กลางสแกมเมอร์ออนไลน์ในเมืองเล้าก์ก่ายได้ถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ประเทศจีนในเวลาต่อมา และนำไปสู่การกวาดล้างศูนย์สแกมเมอร์และการพนันออนไลน์ติดชายแดนจีน
เขามองว่าสิ่งที่ปกป้องกลุ่มทุนสแกมเมอร์ในเมียวดี คือจำนวนเงินมหาศาลจากองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ที่แบ่งปันให้กับกองกำลังของ พ.อ.ชิต ตุ และกองทัพเมียนมา โดยทาง USIP มีข้อมูลว่า ก่อน พ.อ.ชิต ตุ จะประกาศตัดขาดกับกองทัพเมียนมา ทางกองทัพเมียนมายังได้ส่วนแบ่งถึงร้อยละ 50 จากเงินจำนวน 192 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,720 ล้านบาท) ซึ่งทาง KNA/อดีตกะเหรี่ยง BGF ได้จากชเวโก๊กโก่ทุกปี
นอกจากนี้ ยังพบว่าปี ๆ หนึ่ง ผู้นำกองกำลัง KNA หรือ BGF เดิม มีรายได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,500 ล้านบาท) และนี่เป็นรายได้จากเมืองชเวโก๊กโก่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ไม่รับรวมเมืองเคเค พาร์ค ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมของ KNA ด้วยเช่นกัน ทำให้ พ.อ.ชิต ตุ สามารถเลี้ยงดูกำลังพลมากกว่า 7,000 นาย ได้ด้วยตัวเอง และมีเงินมากพอที่จะจัดหายุทธภัณฑ์ทางทหารดี ๆ ได้ด้วยตนเอง
“ผมเข้าใจว่ากองกำลังเหล่านั้นจำนวนมากถูกส่งไปปกป้องเมืองชเวโก๊กโก่” เจสัน บอกกับบีบีซีไทย และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการรักษาความปลอดภัยให้กับเมืองสแกมเมอร์ในเมียวดีนั้น “ยังมีการรักษาความปลอดภัยโดยองค์กรอาชญากรรมที่มาจากจีนซึ่งดำเนินงานในลักษณะเอกชน โดยพบว่าจำนวนมากเป็นอดีตแนวร่วมกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army–PLA) จากประเทศจีน รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัยสัญชาติจีนซึ่งถูกฝึกอบรมมาจากประเทศอื่น นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการรักษาความปลอดภัยชาวจีนโพ้นทะเลบางรายที่มีฐานทำงานอยู่ที่อื่นในภูมิภาคนี้ เช่น กัมพูชา และบางครั้งก็พบว่าอยู่ในประเทศไทยด้วย”
เจสันตั้งข้อสังเกตว่าองค์กรอาชญากรรมกำลังขยายการลงทุนไปทางใต้สุดของเมียวดี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยหรือดีเคบีเอ (Democratic Karen Buddhist Army-DKBA) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่ก่อตั้งหลังกะเหรี่ยง BGF
จากรายงานล่าสุดของ USIP เรื่อง China Forces Myanmar Scam Syndicates to Move to Thai Border ระบุว่า DKBA เป็นกองกำลังติดอาวุธที่แยกตัวออกมาจาก พ.อ.ชิต ตุ เนื่องจากไม่ต้องการทำงานเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงให้กับกองทัพเมียนมา โดยพบว่า ซาย จอ หล่า (Sai Kyaw Hla) ซึ่งมาจากรัฐฉานตอนเหนือและเคยมีประวัติอาชญากรรมที่นั่น ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ DKBA ในช่วงกลางทศวรรษ 2010-2020 จากนั้นเขาร่วมกับกลุ่มนักลงทุนจีนซึ่งย้ายฐานการลงทุนจากสีหนุวิลล์ ร่วมกันก่อตั้งเมืองใหม่โดยใช้ชื่อว่า “เขตไท่จาง” (Taichang Zone) อยู่ตรงข้ามวัดช่องแคบ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งต่อมาพบว่ากลายเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนของกลุ่มอาชญากรจีนเทาในช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา
ความท้าทายของ พ.อ.ชิต ตุ ขณะนี้
เจสันเห็นว่าการที่ พ.อ.ชิต ตุ ประกาศตัดขาดกับกองทัพเมียนมาและสถาปนากองกำลัง KNA ขึ้นมาแทนกะเหรี่ยง BGF เพราะประเมินแล้วว่ากองทัพเมียนมาไม่สามารถปกป้องกิจกรรมทางอาชญากรรมในพื้นที่ควบคุมของเขาได้อีกต่อไป
“หากคุณดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับกองกำลังพิทักษ์ชายแดนของเมียนมาซึ่งประจำการอยู่ในโกก้าง (หมายถึง Kokang BGF) จะเห็นว่าปฏิบัติการ 1027 ขององค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น สามารถเอาชนะกองทัพเมียนมาและกำจัดองค์กรอาชญากรรมสแกมเมอร์ได้ด้วย ทำให้กองทัพเมียนมาต้องถอนร่นออกจากพื้นที่และมอบตัวหัวหน้ากองกำลังพิทักษ์ชายแดนโกก้างให้กับทางการจีน ซึ่งเป็นผู้ออกหมายจับบุคคลเหล่านี้
ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลอย่างมากต่อกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง [ของ พ.อ.ชิต ตุ] เพราะพวกเขาเห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นที่โกก้าง กลุ่มทุนอาชญากร ธุรกิจผิดกฎหมาย และผลประโยชน์จากธุรกิจต่าง ๆ เหล่านี้กำลังตกอยู่ในความไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เนื่องจากรัฐบาลเมียนมากำลังถูกจีนกดดันอย่างหนักเพื่อให้จัดการกับอาชญากรเหล่านี้”
ผอ.ฝ่ายเมียนมาจาก USIP มองว่า พ.อ.ชิต ตุ ให้ความสำคัญกับการปกป้องเมืองสแกมเมอร์ทุนจีนที่ตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของเขาเท่านั้น ดังนั้น เขาจึงจะจับมือกับสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติหรือ KNU และกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นแอลเอ (Karen National Liberation Army–KNLA) ซึ่งเป็นปีกทหารของ KNU ก็ต่อเมื่อเห็นว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการปกป้องผลประโยชน์ให้กับกลุ่มอาชญากรรม เพราะจากอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า พ.อ.ชิต ตุ ไม่ได้มีความสนใจสนับสนุนขบวนการปฏิวัติของชาวกะเหรี่ยงที่นำโดย KNU แต่อย่างใด
“ผมคิดว่าทั้ง KNU และ BGF (หมายถึง KNA ในปัจจุบัน) เป็นตัวแปรสำคัญแทบจะเท่า ๆ กันภายใต้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียวดีขณะนี้ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ เราเห็นแล้วว่าต่างก็เป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีศักยภาพทั้งคู่ แต่อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ สุดท้ายแล้วเขา [พ.อ. ชิต ตุ] มีความสนใจหลักอยู่ที่จะทำให้กิจกรรมอาชญากรรมในพื้นที่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไร เขาไม่จำเป็นต้องเอาชนะกองทัพเมียนมาก็ได้ ไม่ต้องทำให้ KNLA ถอยร่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายทางทหารใด ๆ เลย ขอเพียงไม่ให้ตกอยู่ในวงล้อม [ความขัดแย้งเหล่านี้] เพื่อให้กิจกรรมอาชญากรรมต่าง ๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ก็พอ” เจสันบอกกับบีบีซีไทย
ตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 21 เม.ย. การสู้รบในเมียวดีหยุดลงชั่วคราว ก่อนจะมีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นอีกครั้งเมื่อเช้าวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ต่อจากนั้นพบว่าสื่อหลายสำนักทั้งในไทยและเมียนมารายงานตรงกันว่า กองกำลัง KNA ของ พ.อ.ชิต ตุ ให้ความคุ้มกันทหารเมียนมากลับมายังกองพันทหารราบที่ 275 (ค่ายผาซอง) ก่อนจะนำธงชาติเมียนมาขึ้นสู่เสา
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู บอกกับบีบีซีไทยว่า การสู้รบในเมียวดีหยุดลงชั่วคราว เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายกำลังพยายามเจรจาเพื่อหาทางออกกันอยู่ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าผู้เจรจาคือ พ.อ.ชิต ตุ ตามที่ทางบีบีซีแผนกภาษาพม่าได้ข้อมูลมาหรือไม่
ในวันเดียวกัน พะโด ซอ ตอ นี โฆษกสหภาพกะเหรี่ยงหรือ KNU บอกกับบีบีซีแผนกภาษาพม่าว่า ไม่มีการเจรจาระหว่างกองทัพพม่ากับ KNU อย่างแน่นอนเพื่อยุติการสู้รบในเมียวตี
“ในแผนของเราสำหรับเมียวตี เมืองนี้คือเมืองในรัฐกะเหรี่ยง และเราเชื่อว่าเมืองนี้จะต้องอยู่ในมือของชาวกะเหรี่ยง” โฆษก KNU กล่าว
ด้านแหล่งข่าวของ DKBA และ KNA บอกกับบีบีซีแผนกภาษาพม่าตรงกันว่า ผู้นำกะเหรี่ยงบางคนเห็นว่าการสู้รบสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้กับประชาชน จึงมีการปรึกษาหารือกัน และพยายามหาหนทางประนีประนอมมากขึ้น เพื่อหาหนทางที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยกว่า
จึงทำให้เกิดการคุ้มกันทหารเมียนมากลับมายังค่ายผาซองในเวลาต่อมา ธง KNU ถูกนำลงจากเสา และเปลี่ยนเป็นธงชาติเมียนมา ดังที่เห็นตามสื่อต่าง ๆ
นอกจากนี้ ทางโฆษก KNU ยังยอมรับกับบีบีซีแผนกภาษาพม่าด้วยว่า ทางกลุ่มของตนเองยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่เมียวดีได้ในขณะนี้
ความท้าทายของ KNU หากได้สถาปนาในรัฐกะเหรี่ยงจริง
เมื่อประมาณต้นเดือน เม.ย. ทาง KNU อ้างว่าฝ่ายต่อต้านสามารถยึดครองเมืองเมียวดีได้ทั้งหมด และมีแผนบริหารเมืองนี้ด้วยตัวเอง
บีบีซีไทยสอบถาม ผอ.ฝ่ายเมียนมาจาก USIP ว่า ทาง KNU จะต้องเผชิญความท้าทายใดบ้างหากเขาต้องการบริหารเมียวดีตามที่ตั้งใจ เพราะที่ผ่านมาทาง KNU มีจุดยืนต่อสาธารณะที่ชัดเจนว่าไม่ยอมรับธุรกิจผิดกฎหมายไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม
เจสันมองว่าการจัดการกับเมืองทุนจีนสีเทาที่ตั้งฐานอาชญากรรมในเมียวดีนั้น ถือว่าเป็นความท้าทายของ KNU อย่างยิ่ง นอกจากว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากนานาประเทศ เช่น ไทย ในการตัดสายส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต ระงับการส่งขายไฟฟ้า รวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่เอื้อให้กลุ่มอาชญากรเหล่านี้ดำเนินกิจกรรมหลอกลวงออนไลน์ได้
“ความท้าทายที่สุดของ KNU คือ โรเจอร์ ขิ่น ผู้นำกองพลที่ 7 ของ KNLA ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ พ.อ.ชิต ตุ และ DKBA และยังพบว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับมาเฟียจีนที่ดำเนินกิจกรรมอาชญากรรมภายในพื้นที่ของเขา อย่างน้อยก็นับตั้งแต่ปี 2019”
ผอ.ฝ่ายเมียนมาของ USIP กำลังพูดถึงเมืองใหม่หวันหยาซึ่งตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของโรเจอร์ ขิ่น ซึ่งตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเมย ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด ของไทย โดยผู้ลงทุนก่อสร้างเมืองใหม่นี้เป็นกลุ่มชาวจีนสีเทาที่ย้ายฐานมาจากสีหนุวิลล์
“ถ้าหากมีกองพลอื่นของ KNLA ต้องการโจมตีเมืองชเวโก๊กโก่ กองพลที่ 7 ของโรเจอร์ ขิ่น ก็อาจเรียกร้องให้หยุดการกระทำดังกล่าวหรือต้านทานการโจมตีนั้นไว้ เพราะเขามีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอย่างมากกับกองกำลังของ พ.อ.ชิต ตุ ซึ่งผมคิดว่านั่นคือความท้าทายอย่างยิ่งต่อ KNU ขณะที่อีกด้านหนึ่ง DKBA ก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาและให้ความคุ้มครองเมืองใหม่ทุนจีนสีเทาที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของเมียวดีอย่างมากเช่นกัน ดังนั้น นี่ก็เป็นสิ่งท้าทายของ KNU”
จับตาท่าทีของจีน ไทย สหรัฐฯ และนานาชาติ
ผอ.ฝ่ายเมียนมาของ USIP บอกว่า หลังเกิดปฏิบัติการ 1027 ที่เขตปกครองพิเศษโกก้าง เขาพบว่าองค์กรอาชญากรรมที่เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวชายจีนได้เคลื่อนย้ายฐานไปที่อื่น ๆ เช่น กัมพูชา ลาว ฯลฯ นอกจากนี้ ทางการจีนยังกดดันให้กองทัพเมียนมาประสานงานกับทางการไทยเพื่อช่วยเหลือชาวจีนบางส่วนที่ถูกบังคับใช้แรงงานและถูกคุมขังอยู่ในเมียวดี รวมถึงผู้มีเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ประมาณ 900 คน ให้เดินทางกลับประเทศ โดยทางการจีนส่งเครื่องบินมารับที่สนามบินแม่สอด เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
“ผมคิดว่า สิ่งที่ยังไม่เห็นเลยคือจีนจะดำเนินการเพิ่มเติมเหมือนกับที่เกิดขึ้นที่โกก้างหรือไม่ ซึ่งมีการออกหมายจับผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดนผู้อนุญาตให้กลุ่มหลอกลวงต่าง ๆ ใช้โกก้างเป็นฐานปฏิบัติการ และยังพบว่าทำงานร่วมกับแก๊งอาชญากรออนไลน์โดยตรงด้วย คุณยังไม่เห็นจีนทำแบบเดียวกัน ถึงแม้ว่ากิจกรรมอาชญากรรมจำนวนมาก [ในเมียวดี] พุ่งเป้าไปที่ชาวจีนด้วย นั่นทำให้เกิดคำถามว่าจีนจะดำเนินการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้ต่อเนื่องมากน้อยอย่างไร”
นอกจากกลุ่มอาชญากรในเมืองใหม่ทุนจีนสีเทาจะพุ่งเป้าการหลอกลวงไปยังชาวจีนแล้ว ยังพบว่าพวกนี้มีเป้าหมายเป็นคนในประเทศอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย สหรัฐฯ หรือยุโรป
“ผมจึงคิดว่าควรมีการร่วมมือกันแบบพหุภาคีจากหลากหลายประเทศ โดยอาจให้ไทยเป็นผู้นำและให้สหรัฐฯ เข้ามาสนับสนุนร่วมด้วย อาจช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนในแง่การนำสันติภาพมาสู่พื้นที่รัฐกะเหรี่ยง คุณรู้ไหมว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของที่นี่คือต้องทำอย่างไรให้กองทัพเมียนมาหยุดคุกคามประชาชนชาวเมียนมาให้ได้ และผมคิดว่าทางกองทัพเมียนมาไม่ได้มีเจตจำนงจะหยุดการกระทำเช่นนั้นด้วยตัวเอง”
จนถึงตอนนี้ เราเห็นแล้วว่ากองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force – PDF) ประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันให้กองทัพเมียนมาออกไปจากดินแดนของพวกเขา เพราะกองทัพเมียนมาไม่ได้มีความชอบธรรมตั้งแต่แรกและกำลังอ่อนแอมากขึ้นเรื่อย ๆ
ตอนนี้ผมทราบว่าแนวทางของจีนคือการก้าวเข้ามาและบีบบังคับให้กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทำข้อตกลงกับกองทัพเมียนมา แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะว่ากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลาย ๆ กลุ่ม ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินธุรกิจกับกองทัพเมียนมา สิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจมากกว่าคือจะหยุดยั้งการทิ้งระเบิดของกองทัพเมียนมาได้อย่างไร จะป้องกันไม่ให้เกิดการรวมการปกครองเข้าด้วยกันได้อย่างไร” เจสัน กล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมกับเน้นย้ำว่ายุทธศาสตร์เดียวที่จะช่วยหาทางออกให้กับเมียนมาในระยะยาว คือต้องนำกองทัพออกจากการเมืองให้ได้
เขายังมองว่าภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในแนวชายแดนไทย-เมียนมา ขณะนี้ ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแนวชายแดนของไทยด้วย เพราะไทยต้องรับมือกับจำนวนผู้ลี้ภัยการสู้รบที่เพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไทยก็ควรตระหนักด้วยว่ากำลังตกอยู่ในวงล้อมของอาชญากรที่ตั้งฐานอยู่ตามแนวชายแดนและคุกคามคนไทยผ่านการหลอกลวงออนไลน์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ หรือลวงไปทำงานในเมืองดังกล่าว เป็นต้น
“หากไทยต้องการความมั่นคงชายแดน ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งลุกลามข้ามพรมแดนเข้ามา ก็อาจฉวยประโยชน์จากช่วงเวลานี้ที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากตามแนวชายแดน ในแง่ผู้ควบคุมชายแดนอย่างแท้จริง ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ กำจัดกิจกรรมอาชญากรรมและหยุดการเติบโตของเมืองอาชญากรเหล่านี้ได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ด้วย” เจสันกล่าวทิ้งท้ายกับบีบีซีไทย
บทความโดย จิราภรณ์ ศรีแจ่ม, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
———————————————————
ที่มา : บีบีซีไทย / วันที่เผยแพร่ 23 เม.ย. 2567
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c88zgg4jlp6o