“โรงไฟฟ้าชีวมวล” เป็นสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบของ “โรงงาน” ที่ผุดขึ้นหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คล้ายคลึงกับจังหวัดอื่นๆ ในเกือบทุกภาคของประเทศไทย
ความหมายของโรงไฟฟ้าชีวมวล คือ โรงไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟจากพลังงานทดแทนที่ได้จากการแปรรูปวัสดุชีวมวลและสารอินทรีย์ประเภทต่าง ๆ นำเศษวัสดุที่เป็นชีวมวลในพื้นที่ ได้แก่ รากไม้ยางพาราสับ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ มาเป็นเชื้อเพลิง ด้วยการเผา การหมัก การบ่มก๊าซเพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อน หรือก๊าซ แล้วนำผลผลิตเหล่านั้นไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า
วัสดุ “ชีวมวล” ที่นำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ยังมีจำพวก แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ใบและยอดอ้อย เศษไม้ กะลาปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว ส่าเหล้า รวมถึงขยะมูลฝอย หรือแม้กระทั่งมูลสัตว์ต่าง ๆ
โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ถูกคนร้ายบุกเผาและวางระเบิด 1 ใน 2 แห่ง เป็นของ บริษัท ประชารัฐชีวมวล แม่ลาน จำกัด ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี
เดิมโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล จะมีการตั้งโรงไฟฟ้า 3 แห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีก 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าของบริษัทประชารัฐชีวมวล บันนังสตา จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลา และ โรงไฟฟ้าของ บริษัทประชารัฐชีวมวล นราธิวาส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล นราธิวาส ได้ถูกพักโครงการเอาไว้ก่อน เนื่องจากยังติดปัญหาผังเมืองไม่สามารถจัดหาที่ดินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าได้
โรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งที่ปัตตานีและยะลา มีการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2.85 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตติดตั้ง 3.00 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงจากเศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก
ส่วน โรงไฟฟ้ารุ่งทิวาไบโอแมส ที่บ้านปลักบ่อ หมู่ 2 ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็น 1 ใน 2 โรงไฟฟ้าที่ถูกเผาและลอบวางระเบิด ดำเนินการโดย บริษัทรุ่งทิวา ไบโอแมส จำกัด โดยกลุ่มการเมืองท้องถิ่นของสงขลา ใช้เงินลงทุน 800 ล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เน้นเชื้อเพลิงจากไม้ยางพารา พร้อมสร้างงานให้กับคนใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา
ผุดแล้ว 15 โรง – แผนสร้างอีกเพียบ – ชาวบ้านค้าน
ส่วนภาพรวมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโรงไฟฟ้าชีวมวล 15 โรง เป็นของภาคเอกชนในพื้นที่ มีกำลังการผลิตกว่า 230 เมกะวัตต์ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้ผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าชีวภาพชีวมวล อีก 150 เมกะวัตต์ รวม ๆ แล้วก็อีกนับสิบโรง
เอกชนที่ลงทุนกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ บางส่วนเชื่อมโยงกับการเมืองท้องถิ่น หลายโครงการถูกคัดค้านจากประชาชนบางส่วนในพื้นที่ เพราะหวาดกลัวผลกระทบ เช่น โครงการสร้างโรงไฟฟ้า ในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี, อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
แกนนำในพื้นที่ซึ่งเคยมีส่วนร่วมคัดค้านโรงไฟฟ้า ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านบางส่วนไม่เห็นด้วยเพราะกลัวมลพิษ เกรงว่าจะมีการปล่อยควันในช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากใช้ความร้อนจากการเผาเศษวัสดุต่าง ๆ นอกจากนั้นการบำบัดน้ำที่อ้างว่าเป็นกระบวนการบำบัดกันภายใน และไม่กระทบแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ก็มีรายงานการแอบปล่อยน้ำอยู่บ่อย ๆ ทั้งยังมีเสียงดังจากโรงไฟฟ้า ข้อมูลเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่ว จนกลายเป็นกระแสต้านในหลายพื้นที่
———————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 24 เม.ย. 2567
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/128120-biomasssouth.html