ประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,850 แห่ง แบ่งเป็น อบจ. 76 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อีก 5,300 แห่ง ยังมีองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 2 แห่งคือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
การบริหารราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น เป็นเรื่องซับซ้อนมาก เรามีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย นายก อบจ. นายกเทศบาล และนายก อบต. ที่มาจากการเลือกตั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ผู้ว่าฯ มีหน้าที่ประสานการปฏิบัติงานของข้าราชการในจังหวัด อบจ.ดูแลงบประมาณที่เกี่ยวกับการพัฒนาระดับจังหวัด เช่น การก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างอำเภอ การดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และ อบต. ดูแลพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนแตกต่างกันไปตามลำดับ โดยอยู่ในเขตทับซ้อนกับพื้นที่จังหวัดที่ดูแลโดย อบจ. นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เป็น “ด่านแรกสุด” ในการดูแลประชาชนอย่างแท้จริงก็คือ เทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบล
เทศบาลและ อบต. มีหน้าที่ตั้งแต่ดูแลการจัดการขยะ แก้ไขปัญหาร้องเรียน และการอนุมัติอนุญาต มีหลายงานที่ไม่ได้มีอำนาจอนุมัติจบใน อปท. แต่ต้องส่งต่อไปยังจังหวัดหรือส่วนกลาง การทำงานของ อปท.เกือบทั้งหมดยังใช้กระดาษอยู่ ทำให้ประชาชนยังต้องเดินทางไปติดต่อที่สำนักงาน การเดินงานและติดตามเรื่องมีความล่าช้า บางครั้งก็สูญหาย ใช้เวลานานกว่าจะแล้วเสร็จ
อปท.หลายแห่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บ้างแล้ว แต่ อปท.อีกจำนวนมาก ทำไม่ได้เพราะขาดงบประมาณและบุคลากรด้านไอที บางแห่งแม้จะมีงบประมาณ แต่ก็หาบริษัทเอกชนมาพัฒนาระบบไม่ได้ หรือเมื่อมีระบบแล้วก็ไม่ได้รับการดูแลให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง หรือมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพียงพอ
เทศบาลเมืองแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นต้นแบบขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลจากสำนักงาน กพร. และหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ได้พัฒนาระบบงานออนไลน์เพื่อให้บริการ
1) รับแจ้งเรื่องร้องเรียน เช่น ไฟดับ ถนนชำรุด 2) การขออนุญาตก่อสร้างสำหรับพื้นที่ไม่เกิน 150 ตร.ม. ซึ่งไม่ต้องมีการไปสำรวจหน้างาน 3) การออกหนังสือรับรองการแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสะสมอาหาร 4) การชำระค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะ และ 5) ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์
จะเห็นได้ว่า บริการเหล่านี้ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนแต่มีจำนวนมาก เมื่อนำระบบมาใช้ ทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาเดินทางหลายกิโลเมตรเพียงเพื่อมาแจ้งเหตุ ขออนุญาต หรือจ่ายค่าธรรมเนียมขยะเพียงไม่กี่สิบบาท ผู้บริหารของ อปท.สามารถอนุมัติผ่านระบบได้โดยไม่ต้องวิ่งเข้าสำนักงานตอนเย็นเพื่อลงนามหนังสือ สามารถติดตามเรื่องได้ว่าไปอยู่ที่กองไหน ดำเนินการแล้วเสร็จหรือไม่ เพียงดูผ่านโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
จากปัญหาความพร้อมที่แตกต่างกันของ อปท. แนวทางที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนไปสู่ดิจิทัลของ อปท. ทั่วประเทศ จึงไม่ใช่การปล่อยให้ อปท.แต่ละแห่งต่างคนต่างพัฒนาระบบขึ้นมา ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าทุกแห่งจะพร้อมและทำระบบเสร็จ ทางออกคือ การนำระบบแพลตฟอร์มกลาง (common platform) ไปให้ อปท.ทุกแห่งใช้
DGA จึงขอนำระบบต้นแบบของเทศบาลเมืองแม่เหียะ ไปทดลองใช้กับเทศบาลอื่น จำนวน 45 แห่ง ทั่วประเทศ แล้วพัฒนาต่อยอดเป็น “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล” ซึ่งขยายให้รองรับผู้ใช้งานจากหลายหน่วยงาน (Multi-tenant Users) ด้วยการใช้ระบบคลาวด์กลาง จึงขยายระบบได้ง่าย และเพิ่มการดูแลเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
เราพบว่า อปท.ที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้บริหารระดับสูงสุดของ อปท. คือนายกเทศมนตรีกับปลัดเทศบาลหรือ นายกกับปลัด อบต.ต้องมี “วิสัยทัศน์เดียวกัน” ที่ต้องการปรับเปลี่ยน อปท.ให้เป็นดิจิทัล
จากนั้นก็ต้องสร้างการรับรู้ร่วมกันของเจ้าหน้าที่ทุกคน DGA จึงเริ่มจากการเข้าพบผู้บริหารระดับสูงผ่านที่ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วก็ต้องติดตามไปยัง อปท.ต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม และท้ายสุดก็ยังต้องจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่ทุกคนใน อปท.แต่ละแห่งที่จะนำระบบ “ท้องถิ่นดิจิทัล” ไปใช้ด้วย
จะเห็นได้ว่า การขยายผลนั้นไม่ใช่เมื่อมีระบบแพลตฟอร์มกลางแล้ว จะเนรมิตให้ อปท.ทุกแห่งเปลี่ยนได้ในช่วงข้ามคืน หากแต่ต้อง “สร้างความเข้าใจและความเต็มใจในการปรับเปลี่ยน” จึงจะเกิดแรงขับเคลื่อนและความยั่งยืน
DGA ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ร่วมจัดอบรมให้ อปท.แล้วเกือบ 1 พันแห่ง และใช้งานระบบแล้วหลายร้อยแห่ง นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมาธิการปฏิรูปราชการแผ่นดินของวุฒิสภา ก็ช่วยผลักดันให้ท้องถิ่นใช้ระบบท้องถิ่นดิจิทัลและแอป “ทางรัฐ” สำหรับประชาชนอีกด้วย
แน่นอนว่างานในท้องถิ่นไม่ได้มีเพียงการรับเรื่องร้องเรียน อนุมัติอนุญาต และจ่ายค่าธรรมเนียมเท่านั้น แต่ยังมีภารกิจอื่นๆ อีกมากมาย DGA จึงจัดประกวดนวัตกรรมเพื่อมอบรางวัล “ท้องถิ่นดิจิทัล” ให้แก่ อปท.ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล เช่น เทศบาลนครยะลา พัฒนาระบบ Big Data เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ เทศบาลตำบลครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย พัฒนาระบบบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการด้วยแอปถังเงิน ถังทอง เป็นต้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปขยายผลกับ อปท.อื่น ๆ ต่อไป
ระบบท้องถิ่นดิจิทัล ที่ DGA พัฒนาขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นการ “ผูกขาด” หรือ “บังคับ” ให้ อปท.ต้องใช้ระบบนี้เท่านั้น วัตถุประสงค์คือต้องการให้ อปท.เริ่มการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ลดภาระในการพัฒนาและดูแลระบบ
ต่อไปอาจจะมีเอกชนพัฒนาระบบงานใหม่ ๆ ไปเสนอให้ อปท. ทำให้บางแห่งอาจจะยกเลิกการใช้งาน “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล” แต่ก็ถือว่า DGA และหน่วยงานพันธมิตรได้ช่วยกัน “สร้างความตื่นตัว” ให้กับ อปท. เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นดิจิทัล “สำเร็จ” แล้ว
เป้าหมายต่อไปคือการขยายจำนวน อปท.ที่ใช้งานระบบให้ได้ถึงอย่างน้อยหนึ่งพันแห่ง และพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องให้มีเวอร์ชันใหม่ทุกปี ในระยะยาวเราต้องการให้ “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล” กลายเป็น “แพลตฟอร์มเปิด” เพื่อสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ให้ระบบงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนมาทำงานร่วมกันได้
บทความโดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ | อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) | www.facebook.com/DrSupot
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 15 พ.ค.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/tech/innovation/1126745