“ไทย-มาเลเซีย” คือมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กันเหนียวแน่น ตั้งแต่ระดับ “ผู้นำ” จนถึง “พลเมือง”
ไม่ใช่แค่ดินแดนของประเทศอยู่ติดกัน แต่ชาติพันธุ์ การตั้งถิ่นฐาน และการเดินทางทำมาหากิน ก็ยังทับซ้อนเชื่อมโยงกันไปมาด้วย
ในมาเลเซียมีชุมชน “ชาวสยาม” ดั้งเดิมที่มีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายกับคนไทยในประเทศไทย
และก็ยังมีคนไทยในมาเลเซียอีกจำนวนหนึ่งที่มีสถานะสัญชาติตกหล่น
สภาพปัญหาสุดซับซ้อน
ทั้งหมดนี้จึงเป็นภารกิจ “การทูตเชิงรุก” ของกระทรวงการต่างประเทศ ในการช่วยเหลือคนไทยกลุ่มนี้ ผ่านการตรวจ DNA
”รัฐกลันตัน เชื่อมโยงกับนราธิวาส จะมีคนไทยเดินทางเข้ามาทำงาน ส่วนใหญ่รับจ้างตัดยางในป่ายาง หรือทำการเกษตรปาล์มน้ำมัน เมื่อมาอยู่ในมาเลเซียเป็นระยะเวลานาน ก็มีครอบครัว มีลูก แต่ไม่แจ้งเกิด เอกสารต่าง ๆ ก็ไม่มี จนเป็นปัญหาสะสม”
“ไม่เฉพาะคนไทยในมาเลเซีย แต่คนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีปัญหาไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน ศอ.บต.มีสถิติการตรวจแล้วกว่า 2,000 ราย โดยมีการยืนยันตัวตนจะต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ คือ การตรวจ DNA”
เป็นคำอธิบายจาก ภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
ความแตกต่างด้านแรงงานระหว่างพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับภาคอื่น ๆ ของไทยนั้น มีอยู่อย่างชัดเจน โดยในพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันวันออก และตะวันตก จะเป็นการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างชาติ เช่น จากเมียนมา สปป.ลาว หรือกัมพูชา
แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้ จะเป็นแรงงานไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ออกไปทำงานในมาเลเซีย และบางคนต้องทำงานอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะไม่มีสัญชาติไทยด้วย คือ เป็นปัญหาตกหล่นอยู่เดิมแล้วจากสถานการณ์ในพื้นที่ จึงทำให้ไม่มีบัตรประชาชน และหนังสือเดินทาง ไร้สถานะ แต่ยังต้องทำงานดำรงชีพเพื่อปากท้อง หารายได้เพื่อครอบครัว แล้วก็เดินทางไปทำงานในมาเลเซีย
ดังนั้นจึงทำให้ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่สามารถกลับไปต่อใบอนุญาตการทำงาน หรือ Work Permit ได้อย่างถูกต้อง ลูกเกิดมาก็ไม่มีทั้งสัญชาติไทยและมาเลเซีย ตัวเองก็ไม่มีแม้แต่บัตรประชาชนไทยอยู่แล้ว ทำให้ขาดโอกาสหลาย ๆ อย่าง ทั้งการศึกษา การทำมาหากิน การเข้าถึงระบบสาธารณสุข และสวัสดิการอื่น ๆ
ตรวจ DNA คือทางออก
ดังนั้น การตรวจ DNA เพื่อช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรตกหล่น หรือยังไร้สัญชาติไทย เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในการให้ความช่วยเหลือพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้ได้รับสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์และไม่มีค่าใช่จ่าย สามารถออกสูติบัตร จนนำไปสู่การออกบัตรประชาชน เพื่อรับสวัสดิการจากรัฐได้ ทั้งระบบการศึกษา และระบบสาธารณสุข
เพราะผู้ที่มีสถานะตกหล่นในมาเลเซียมาจากหลายปัจจัย และส่วนใหญ่ตนเองไม่ได้ก่อ ทั้งจากเหตุการณ์ขีดเส้นเขตแดนในอดีต (ไทย-มาเลเซีย ในยุคล่าอาณานิคม และดินแดนแหลมมลายูอยู่ในความครอบครองของอังกฤษ) การกำเนิดบุตรแต่ไม่แจ้งเกิด หรือการทำงานข้ามแดน ประกอบอาชีพกรีดยางในป่า จนเป็นปัญหาสะสม
สถานกงสุลใหญ่ไทย เมืองโกตาบารู ได้ดำเนินการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์สัญชาติไทยแก่ผู้ที่มีสถานะตกหล่นในมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2560 เรื่อยมาจนปัจจุบัน และมีผู้รับการตรวจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปี 2560 จำนวน 74 คน
ปี 2561 จำนวน 90 คน
ปี 2562 จำนวน 92 คน
ปี 2563-2565 ไม่มีการตรวจ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
ปี 2566 จำนวน 97 คน
และในปี 2567 นี้มีผู้ขอรับการตรวจทั้งสิ้น 235 คน
ยืนยันตัวตนผ่านฉลุยกว่า 90%
ในแต่ละปีสามารถพิสูจน์สารพันธุกรรม จนนำไปสู่การออกสูติบัตรยืนยันเป็นคนไทยได้ไม่น้อยกว่า 90% ซึ่งผู้ที่มีสถานะตกหล่น สามารถมีบัตรประชาชน รับสถานะคนไทย สามารถเดินทางเข้า-ออกไทย-มาเลเซียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องใช้ช่องทางธรรมชาติ สามารถขอใบอนุญาตทำงานในต่างแดนได้
และเมื่อมีสัญชาติไทยตามกฎหมายแล้ว บุตร หรือบุตรที่จะคลอด ก็จะพ้นจากบุคคลไร้สัญชาติ
”โครงการในลักษณะนี้ เราได้ปฏิบัติตามภารกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศ ในการดูแลคุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของคนไทยในต่างแดนอย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ ให้บริการแก่คนไทยทุกกลุ่ม โดยไม่แบ่งแยกศาสนา ความเชื่อ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะทำให้คนไทยได้รับสัญชาติไทย ได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ เป็นคนไทยที่ได้รับเอกสารที่จะนำไปสู่การได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงสวัสดิการ และการบริหารภาครัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย การได้เข้าโรงเรียนศึกษาหาความรู้ในฐานะพลเมืองไทย”
“ยิ่งไปกว่านั้น การได้รับสถานะเป็นคนไทย ทำให้คนไทยกลุ่มเหล่านี้สามารถมีเอกสารหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะทำให้สามารถพำนักอยู่ในมาเลเซียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการสร้างศักยภาพให้กับคนไทย หรือหากอยากกลับไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สามารถทำได้” กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองโกตาบารู กล่าว
เจออุปสรรคใหม่ขอบัตรใบแรก
แต่ปัญหายังไม่จบแค่นั้น เพราะแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถานกงสุลใหญ่, ศอ.บต. และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จะพยายามพิสูจน์ DNA เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีสถานะตกหล่น แต่ในเงื่อนไขการออกบัตรประชาชนใบแรกให้กับผู้ที่ไร้สัญชาตินั้น ก็ยังมีข้อจำกัด
เพราะตามระเบียบของกรมการปกครอง จะต้องยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการออกบัตร ซึ่งหมายถึงจะต้องไปออกบัตรที่ประเทศไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศไม่สามารถออกบัตรได้ จึงทำให้เกิดช่องว่างตามมาว่า ผู้ที่มีสถานะตกหล่น แม้จะมีผล DNA ยืนยันแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถข้ามแดนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อกลับไปทำบัตรประชาชนได้ จึงทำให้บางคนต้องอาศัยช่องทางธรรมชาติในการเข้าเมือง หรือบางคนก็ได้ทิ้งโอกาสที่ได้รับ
ฉะนั้นในอนาคตจะต้องมีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ สามารถเป็นศูนย์ One Stop Service แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
เรื่องและภาพโดย คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 3 มิ.ย.67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/129021-thaimalaysiadna.html