“คน” เป็นหัวใจสำคัญที่สุดจาก 3 ปัจจัยหลักในการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล ซึ่งได้แก่ คน กระบวนการและเทคโนโลยี
สำหรับเป้าหมายของปัจจัยเรื่อง “คน” คือ การสร้างทัศนคติของคนในองค์กรให้พร้อมปรับเปลี่ยน (Growth Mindset) การสร้างความเป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยน และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์คือ บุคลากรภาครัฐที่มีประสิทธิผลในการทำงานสูงนั่นเอง
เราอาจแบ่งบุคลากรในองค์กรภาครัฐเป็นกลุ่มกว้างๆ ได้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้บริหารระดับสูง ซึ่งรวมผู้นำสูงสุดขององค์กรและผู้บริหารระดับรองถัดมา กลุ่มผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งคุมระดับกองหรือฝ่ายต่างๆ เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานโดยตรง กลุ่มเจ้าหน้าที่สายเทคโนโลยีดิจิทัลหรือเทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เหลือทั้งหมด
เนื่องจากแต่ละกลุ่มมี “บทบาทหน้าที่” ในการปรับเปลี่ยนองค์กรแตกต่างกัน จึงมีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นแตกต่างกัน
บทบาทสำคัญของผู้นำองค์กร คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ในการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลขององค์กร ผู้นำสูงสุดไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล เพียงแต่ต้องรู้ว่า เป้าหมายของหน่วยงานต้องการอะไร แล้วตอบคำถามให้ได้ว่า “ภาพสุดท้าย” ของการดำเนินภารกิจขององค์กรจะเปลี่ยนไปอย่างไรถ้านำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้
การพัฒนาของผู้บริหารระดับสูงจึงเป็นเรื่องการสร้างความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง สามารถกำหนดเป้าหมาย แต่งตั้งผู้บริหารระดับรองที่มาจากสายงานหลักให้มาขับเคลื่อนต่อจากเบอร์หนึ่ง แล้วทำหน้าที่คอยให้การสนับสนุนผ่านการกำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณและทีมงาน และที่สำคัญ ผู้นำต้องเป็น “ต้นแบบ” ของการเปลี่ยนแปลง ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในองค์กรด้วย
สำหรับผู้บริหารระดับกลาง เป็นผู้คุมกำลังคน มีหน้าที่ “สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง” ต้องเน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานข้ามหน่วยงานในระดับองค์กร จึงต้องได้รับการพัฒนาทักษะในการบริหารการเปลี่ยนแปลง ทักษะในการบริหารโครงการไอที และทักษะการบริหารคน
กลุ่มที่สามคือ กลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร ต้องได้รับการพัฒนาทักษะด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่องให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และกลุ่มสุดท้ายคือ เจ้าหน้าที่ที่เหลือทั้งหมดขององค์กร ต้องได้รับการพัฒนาทักษะให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และปรับกระบวนการทำงานให้มีความคล่องตัว ลดขั้นตอนมากขึ้น
ในอดีต การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรภาครัฐ มุ่งไปที่การจัดฝึกอบรม เป็นหลัก โดย DGA จะมีการจัดฝึกอบรม “ผู้บริหารระดับสูงสุด” ของหน่วยงาน ผู้บริหารระดับกลาง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปรับกระบวนการทำงาน รวม 3 หลักสูตรในแต่ละปี มีผู้ผ่านการฝึกอบรมไม่เกิน 100 คน รวมผู้ผ่านการอบรมในแต่ละปีทุกหลักสูตร ได้เพียงไม่เกิน 1 หมื่นคนต่อปี
อย่างไรก็ตาม บุคลากรภาครัฐ เฉพาะที่เป็นข้าราชการพลเรือนมี 4 แสนกว่าคน และยังมีบุคลากรที่เป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ ตุลาการ ครู และประเภทอื่นๆ อีก รวมเบ็ดเสร็จทั้งหมดถึงประมาณ 3.2 ล้านคน จะทำอย่างไรจึงจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
DGA จึงได้ร่วมกับคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา 68 แห่ง พัฒนา “หลักสูตรกลาง” ที่มุ่งพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ตามมาตรฐานทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ เพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล ของสำนักงานข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)
แล้วให้มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย สามารถนำหลักสูตรดังกล่าวไปจัดอบรมให้แก่ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้วยวิธีนี้เราจึงจัดอบรมได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ “ระบบการเรียนรู้ออนไลน์” เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น เราจึงจัดทำบทเรียนออนไลน์ขึ้น ทำให้รองรับจำนวนผู้เข้าเรียนทางออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นถึงปีละประมาณหนึ่งล้านคน ถือเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะดิจิทัลสำหรับบุคลากรภาครัฐ
สำหรับการพัฒนาบุคลากรด้านไอที ซึ่งจำเป็นต้องติดตามให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยี DGA ได้รับความร่วมมือจาก บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก จัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในหลักสูตรที่จำเป็นต่างๆ
เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การบริหารจัดการสื่อโซเชียล การดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การวิเคราะห์และบริหารจัดการข้อมูล เป็นต้น
เป้าหมายการจัดฝึกอบรมในช่วงที่ผ่านมา ได้กำหนดให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่มุ่งยกระดับไปสู่การเป็นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้ประโยชน์ด้านข้อมูล จึงเน้นหลักสูตรเกี่ยวกับ เรื่องธรรมาภิบาลข้อมูล ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
โดยเฉพาะในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้จัดทำ หลักสูตรเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภาครัฐ (DPO) นอกจากประกอบไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยทั่วไปแล้ว จะเน้นประเด็นปัญหาและกรณีศึกษาของภาครัฐโดยเฉพาะอีกด้วย
การพัฒนาบุคลากรสำหรับข้าราชการประเภทอื่นๆ DGA ต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานหรือสถาบันที่มีหน้าที่ในการพัฒนาข้าราชการทหาร ตุลาการ ครู และบุคลากรภาครัฐประเภทอื่นๆ โดยนำ “หลักสูตรกลาง” ไปใช้ ก็จะลดภาระของ DGA ไปได้
ในโลกที่ความรู้อายุสั้นลง ทุกคนต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต ในยุคปัจจุบันที่มีแหล่งเรียนรู้มากมายในโลกออนไลน์ แทนที่จะมองเรื่องการพัฒนาบุคลากรภาครัฐต้องเป็นภาระของหน่วยงานกลางในการจัดฝึกอบรม
เราควรจะตั้ง “มาตรฐานสมรรถนะด้านดิจิทัล”ของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับต่างๆ แล้วให้เป็น “หน้าที่” ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการประเมินสมรรถนะของตนเองเพื่อให้ทราบถึงทักษะที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม กำหนดแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้ (Learning Pathway) แล้วเลือกเรียนผ่านระบบออนไลน์หรือเข้ารับการฝึกอบรมจากที่ใดก็ได้ ขอเพียงแต่ให้ทดสอบผ่านการประเมินทักษะที่กำหนดไว้ก็พอ
สิ่งที่ยากและสำคัญที่สุดในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ คือ การปรับทัศนคติให้เปิดใจกว้าง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างสรรค์นวัตกรรมแนวทางใหม่ๆ ในการทำงาน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บุคลากรภาครัฐในอนาคตจะเป็นบุคลากรยุคใหม่ที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และมีประสิทธิภาพสูงในการปฏิบัติงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน.
บทความโดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ | อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) | www.facebook.com/DrSupot
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 3 ก.ค.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/1134101