อาร์โนด์ ปูเลย์ ไม่เคยต้องการออกจากเกาะอกาเลกาซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย แต่ในปีนี้เขาเก็บกระเป๋าและออกเดินทางจากมา หลังอกหักกับสิ่งที่เขามองว่ามันกำลังทำให้บ้านเกิดของเขากลายเป็นฐานทางทหาร
ก่อนหน้านี้มีเพียง 350 คนที่อาศัยอยู่บนเกาะอกาเลกา พวกเขาทำประมงและปลูกมะพร้าว ส่วนอาหารอื่น ๆ ถูกส่งมาที่นี่ปีละ 4 ครั้งด้วยเรือจากเมืองหลวงของประเทศมอริเชียสซึ่งอยู่ห่างออกไป 1,100 กิโลเมตรทางตอนใต้ ขณะที่ลานบินขนาดเล็กแทบไม่ได้ใช้ นอกจากว่ามีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์
แต่ในปี 2015 มอริเชียสซึ่งมีเกาะอกาเลกาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ได้ลงนามในข้อตกลงที่ช่วยให้อินเดียสร้างรันเวย์ขนาดใหญ่ 3,000 เมตร และท่าเทียบเรือขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่นั่น อันเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในด้านความมั่นคงทางทะเลของทั้ง 2 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ชาวเกาะอกาเลกาบางคนกลัวว่าสิ่งนี้อาจขยายตัวไปสู่การเป็นที่ประจำการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบ
ขณะที่ปูเลย์ ช่างซ่อมบำรุงและนักดนตรีเรกเก้วัย 44 ปี ได้นำการรณรงค์ต่อต้านโครงการนี้
“ผมรักเกาะของผม และเกาะแห่งนี้ก็รักผม” เขาบอก “แต่หากฐานทัพเปิดตัวเมื่อไร ผมก็ต้องจากไป”
หมู่เกาะอกาเลกา ประกอบด้วยเป็นเกาะเล็ก ๆ สองเกาะ (เกาะเหนือและเกาะใต้) มีพื้นที่ครอบคลุมราว 25 ตร.กม. ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรอินเดีย และมันยังเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับอินเดียในการตรวจการจราจรทางทะเล โดยจากการตรวจสอบและเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมนับตั้งแต่ปี 2019 กับภาพอื่น ๆ ที่ถ่ายในเดือน ก.ค. ปีนี้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเพียงใด
ต้นปาล์มจำนวนมากถูกโค่นเพื่อเปิดทางให้กับการสร้างรันเวย์ขนาดใหญ่ ซึ่งทอดยาวไปตามแนวยาวของเกาะเหนือระหว่างหมู่บ้านหลัก 2 แห่ง ได้แก่ หมู่บ้านลาฟูร์ช ในเกาะเหนือ และหมู่บ้านวิงต์-ซิงก์ ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะใต้
อาคารสองหลังกว้าง 60 เมตร ตั้งอยู่บนลานจอด อย่างน้อยหนึ่งหลังอาจเป็นโรงเก็บเครื่องบิน P-8I ของกองทัพเรืออินเดีย จากรายงานของซามูเอล แบชฟีลด์ นักวิชาการระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
การเปลี่ยนแปลงของอกาเลกาในช่วงที่ผ่านมา
เครื่องบิน P-8I เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่ดัดแปลงเพื่อไล่ล่าและโจมตีเรือดำน้ำ รวมถึงตรวจสอบการสื่อสารทางทะเล โดยชาวเกาะได้ถ่ายภาพเครื่องบินบนลานบินไว้ได้แล้ว
ส่วนทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็นท่าเทียบเรือแห่งใหม่ที่ยื่นออกมาในมหาสมุทร ซึ่งแบชฟีลด์กล่าวว่า มันอาจถูกใช้งานโดยเรือลาดตระเวนผิวน้ำของอินเดีย เช่นเดียวกับเรือที่นำเสบียงไปส่งยังเกาะอกาเลกา
“เมื่อมีภาพถ่ายดาวเทียมที่ใหม่กว่า เราจะเข้าใจบทบาทของหมู่เกาะอกาเลกาในด้านการติดต่อสื่อสารในมหาสมุทรอินเดียได้ดีขึ้น” เขากล่าว
สถาบันการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Institute for Strategic Studies) อ้างถึงสถานที่แห่งนี้ว่า “เป็นสถานีเฝ้าระวัง” และกล่าวว่ามันมีแนวโน้มที่จะมีระบบเฝ้าระวังเรดาร์ชายฝั่งที่คล้ายกับอุปกรณ์ที่อินเดียสร้างขึ้นในที่อื่น ๆ ของมอริเชียส
รัฐบาลอินเดียปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับอกาเลกา และอ้างถึงแถลงการณ์ต่าง ๆ บนเว็บไซต์ก่อนหน้านี้ ซึ่งส่วนหนึ่งของเนื้อหาเหล่านั้น มีช่วงหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย กล่าวว่าอินเดียและมอริเชียสเป็น “หุ้นส่วนโดยธรรมชาติ” ในด้านความมั่นคงทางทะเล ซึ่งเผชิญกับความท้าทายแบบเดิมและแบบใหม่ในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย
ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่ใกล้ชิดมานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ไม่ว่าจะเป็นในระดับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาชายฝั่ง และหัวหน้าฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจ ล้วนเป็นชาวอินเดียทั้งหมดและเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยข่าวกรองภายนอกของอินเดีย ไม่ก็กองทัพเรือหรือกองทัพอากาศของอินเดีย
ทั้งสองฝ่ายต้องการให้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ถูกมองว่าเป็น “เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถ มากกว่าการใช้งานทางทหารอย่างเปิดเผย” ศ.ฮาร์ช แพนท์ จากสถาบันด้านอินเดีย ที่คิงส์คอลเลจลอนดอน กล่าว
อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่ความลับว่า การปรากฏตัวขึ้นของจีนในมหาสมุทรอินเดียนั้น เป็นความวิตกกังวลของอินเดียรวมถึงพันธมิตรจากชาติตะวันตก
แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศใหญ่ ๆ จะจัดตั้งด่านหน้าทางทหารในดินแดนของพันธมิตรขนาดเล็ก แต่งานก่อสร้างบนเกาะอกาเลกาได้สร้างปัญหาให้กับชาวเกาะบางคน
พวกเขาบอกว่า พื้นที่หลายแห่งรวมถึงหาดทรายขาวที่ล้อมรอบด้วยปาล์มบางส่วนถูกปิดกั้น นอกจากนี้ยังมีข่าวลืออย่างต่อเนื่องว่าหมู่บ้านลา ฟูร์ชจะถูกกลืนกินโดยโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัวขึ้นรอบ ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ 10 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่นั่นต้องถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ไป
“มันกลายเป็นพื้นที่หวงห้าม และมีไว้สำหรับชาวอินเดียเท่านั้นโดยสิ้นเชิง” ลาวาล ซูปรามาเนียน ประธานกลุ่มเพื่อนแห่งอกาเลกา กล่าว
เขากลัวว่า “อกาเลกาจะกลายเป็นเหมือนกับหมู่เกาะชากอส” โดยมีบทเรียนที่เห็นได้จากชีวิตของบิลลี เฮนรี ซึ่งเป็นลูกชายของชาวเกาะอกาเลกาที่แต่งงานกับหญิงที่ถูกขับไล่ออกจากเกาะชากอส
“แม่ของผม [สูญเสีย] เกาะของเธอไป” เฮนรีกล่าว “พ่อของผมก็คงเป็นคนต่อไป”
ผู้อยู่อาศัยในอกาเลกาจำนวนหนึ่งมาจากครอบครัวที่ยังมีบาดแผลในความทรงจำจากเหตุถูกขับไล่ออกจากหมู่เกาะชากอสซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกราว 2,000 กม. หลังจากรัฐบาลของสหราชอาณาจักรประกาศในปี 1956 ว่าเป็นดินแดนของอังกฤษและอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาสร้างสถานีสื่อสารบนเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มีชื่อว่า ดิเอโก การ์เซีย และสิ่งนี้ค่อย ๆ กลายเป็นฐานทัพอย่างสมบูรณ์ในเวลาต่อมา
บิลลี อองรี กลัวว่ารัฐบาลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดบนเกาะอกาเลกา และเป็นนายจ้างเพียงรายเดียว กำลังพยายามทำให้สภาพที่นี่เลวร้ายลงจนทุกคนต้องออกจากเกาะไป
เขาชี้ให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับบริการดูแลสุขภาพและการศึกษา การลงทุนในเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีอย่างจำกัด การขาดโอกาสในการทำงาน ซึ่งรวมถึงการห้ามคนท้องถิ่นเปิดธุรกิจของตนเอง
โฆษกรัฐบาลมอริเชียสบอกกับบีบีซีว่า จะไม่มีใครถูกขอให้ออกจากเกาะไป และคนในท้องถิ่นถูกป้องกันไม่ให้เข้าไปในสนามบินและท่าเรือเท่านั้น ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นจะช่วยประเทศควบคุมโจรสลัด การลักลอบขนส่งยาเสพติด รวมถึงการประมงที่ไม่ถูกกฎหมาย
มอริเชียสยังปฏิเสธข้อบ่งชี้ที่ระบุว่า อกาเลกากำลังกลายเป็นที่ตั้งของฐานทัพทหาร โดยกล่าวว่าตำรวจแห่งชาติยังคงวางกำลังควบคุมที่นั่นอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามทางอินเดียยอมรับว่าจะช่วยในงาน “บำรุงรักษาและการดำเนินงาน” ของสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ที่สร้างขึ้นด้วยงบประมาณของอินเดีย
รัฐบาลมอริเชียสและอินเดียกล่าวว่าการปรับปรุงการขนส่งทางทะเลและทางอากาศได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวเกาะ และมันช่วยยกระดับพวกเขาให้พ้นจากความยากจน แต่คนในท้องถิ่นบอกว่าสิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะในทุก ๆ ปี ยังมีแค่เรือข้ามฟากไปยังเกาะหลักของมอริเชียสเพียง 4 ลำ และไม่มีเที่ยวบินโดยสาร
ชาวเกาะอกาเลกาบอกว่า พวกเขาถูกห้ามไม่ให้เข้าโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นโดยชาวอินเดีย แม้ว่าข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลมอริเชียสจะอวดโฉมห้องผ่าตัด เครื่องเอ็กซเรย์ และอุปกรณ์ทันตกรรมต่าง ๆ
บิลลี อองรี กล่าวว่า เด็กชายคนหนึ่งต้องทนทรมานจากอาการไหม้เนื่องจากน้ำมันปรุงอาหาร ซึ่งต้องการความช่วยเหลือมากกว่าที่ศูนย์สุขภาพของเกาะเหนือจะให้ได้ แต่พวกเขาก็ถูกไม่ให้เข้ารับการรักษาดังกล่าวเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา
“ที่นี่มีไว้สำหรับชาวอินเดียเท่านั้น” เขากล่าว
เด็กชายที่ได้รับบาดเจ็บและพ่อแม่ของเขาถูกส่งไปยังเกาะหลักของมอริเชียสแทน ด้านลาวาล ซูปรามาเนียน กล่าวว่า เด็กชายยังคงรักษาตัวอยู่ที่นั่น และครอบครัวจะอยู่บนเกาะหลักจนกว่าเรือลำต่อไปจะออกเดินทางมายังอกาเลกา
รัฐบาลมอริเชียสไม่ตอบคำถามเมื่อถูกขอให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับชะตาของเด็กชายที่ถูกไฟไหม้ เช่นเดียวกับรัฐบาลอินเดีย
ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภามอริเชียสเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกรัฐมนตรีปราวินด์ จูกโนธ กล่าวว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนเกาะอกาเลกานั้นสูงกว่าที่เคยเป็นมา ระหว่างแถลงวาระการประชุมรัฐบาลของเขา
เขากล่าวว่า “แผนแม่บท” ได้ถูกร่างขึ้นเพื่อปรับปรุงด้านสาธารณสุขและการศึกษา การเชื่อมต่อขนส่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสันทนาการสำหรับผู้อยู่อาศัยบนเกาะ รวมถึงพัฒนาภาคการประมงและผลประโยชน์จากผลพลอยได้จากมะพร้าว
แต่ความไม่ไว้วางใจถูกกระตุ้นโดยข้อเท็จจริงที่ว่าอินเดียและมอริเชียสไม่ได้เผยแพร่รายละเอียดของบันทึกความเข้าใจปี 2015 ดังนั้น แผนการในอนาคตของพวกเขาจึงยังคงไม่มีความแน่ชัด
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : บีบีซี / วันที่เผยแพร่ 10 พ.ย.67
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c79zlxnp7eyo