ผ่านมา 3 ปีเต็ม พร้อมย่างก้าวสู่ปีที่ 4 แล้ว… สำหรับ “กลุ่มกติกาสัญญาความมั่นคงไตรภาคีระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา” หรือที่เรียกชื่อย่อจนฮิตติดปากว่า “ออคัส (AUKUS)” ซึ่งเป็นการนำอักษรตัวย่อชื่อประเทศที่เป็นภาษาอังกฤษของชาติสมาชิก มาเป็นชื่อกลุ่ม คือ
“A” หมายถึง ออสเตรเลีย (Australia)
“UK” หมายถึง สหราชอาณาจักร (United Kingdom)
และ “US” หมายถึง สหรัฐอเมริกา (United States of America)
กลุ่มกติกา “ออคัส” นี้ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2021 (พ.ศ. 2564) นับถึงวันนี้ก็ครบ 3 ปีกว่าแล้ว
แรกเริ่มเดิมทีภายใต้กติกา “ออคัส” ก็จะเป็นข้อตกลงที่ทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ช่วยเหลือออสเตรเลีย ในการพัฒนาและใช้งาน “เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์”
เรียกการพัฒนา “เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์” ข้างต้นว่า “เสาหลักที่ 1 (Pillar I)”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่กองทัพออสเตรเลียในเชิงนาวี และในขณะเดียวกัน ทางสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ก็จะได้เพิ่มบทบาททางการทหารของพวกเขาในภูมิภาคแปซิฟิก
อย่างไรก็ดี โครงการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลียข้างต้น อันเป็นการยกระดับเพิ่มสมรรถนะให้แก่กองทัพเรือออสเตรเลีย จากเดิมที่ใช้เรือดำน้ำพลังงานอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า ก็นำมาซึ่งข้อบาดหมางกับพันธมิตรชาติมหาอำนาจตะวันตกด้วยกันเอง นั่นคือ “ฝรั่งเศส”
ทั้งนี้ ก็เพราะโครงการพัฒนาเรือดำน้ำดังกล่าว ก็เท่ากับ “ล้มดีล” คว่ำข้อตกลงที่ออสเตรเลียทำไว้กับฝรั่งเศสก่อนหน้า ที่ออสเตรเลียจะให้ฝรั่งเศสสร้างเรือดำน้ำพลังงาน “ดีเซล-ไฟฟ้า” ให้จำนวนถึง 12 ลำ คิดเป็นเงินก็มีมูลค่ามากถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยก็ราวกว่า 2.43 ล้านล้านบาท) ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่ผิดอะไรกับการถูกพันธมิตรชาติมหาอำนาจตะวันตกด้วยกัน “ลอบแทงข้างหลัง”
ถึงขนาดที่รัฐบาลปารีส ทางการฝรั่งเศส เรียกตัวเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่ประจำการในสหรัฐฯ กลับประเทศกันเลยทีเดียว เพราะไม่พอใจอย่างรุนแรงจากโครงการของออคัส ที่ทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียรายได้จากการก่อสร้างเรือดำน้ำให้แก่ออสเตรเลีย จำนวนมหาศาล ซึ่งยังถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐฯ ที่ต้องระหองระแหง บาดหมางกันอย่างหนักเยี่ยงนี้แบบที่ไม่เคยมีก่อน
กระทั่งทางประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ต้อง “เคลียร์ใจ” ด้วยการต่อสายโทรศัพท์ มางอนง้อขอคืนดีกับ “ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส” กันเลยทีเดียว จนประธานาธิบดีมาครง ได้ส่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสกลับมาประจำการที่สหรัฐฯ ดังเดิม
นอกจากฝรั่งเศสแล้ว ปรากฏว่า พญามังกรจีน คือ จีนแผ่นดินใหญ่ ก็แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง ต่อโครงการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของกลุ่มออคัสด้วยเช่นกัน
ถึงขั้นที่รัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีน ออกมาแถลงตอบโต้ว่า ไม่ผิดอะไรกับการยั่วยุจีน ก่อนที่ทางการเกาหลีเหนือของผู้นำสูงสุดอย่าง “คิม จองอึน” ซึ่งมีขีปนาวุธพิสัยทำการต่างๆ สารพัด ออกมาแสดงจุดยืนเคียงข้างจีน ด้วยตำหนิวิจารณ์ต่อโครงการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของกลุ่มออคัส
นั่น! เป็นสถานการณ์และปฏิกริยาตอบโต้ที่มีต่อกลุ่มออคัส หลังจากที่สถาปนากลุ่มขึ้นเป็นปีแรก
ล่าสุด ในปีที่ 3 เต็มย่างเข้าสู่ปีที่ 4 นี้ ทางกลุ่มชาติสมาชิก “ออคัส” ทั้ง 3 ประเทศ ก็ได้บรรลุข้อตกลงในสิ่งที่เรียกว่า “เสาหลักที่ 2” หรือ “พิลลาร์ทู (Pillar II)”
โดยข้อตกลง “เสาหลักที่ 2” ข้างต้น ก็จะเป็นการร่วมกันของ 3 ชาติสมาชิก คือ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีของ “ระบบที่มีอัตราความเร็วเหนือเสียงชั้นสูง” หรือ “ไฮเปอร์โซนิกซิสเต็ม” (Hypersonic System)
ทั้งนี้ เทคโนโลยีของระบบ “อาวุธที่มีอัตราความเร็วเหนือเสียงชั้นสูง” หรือ “ไฮเปอร์โซนิก” ดังกล่าว จะถูกไปประยุกต์ใช้ในอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ สารพัดหลากหลายประเภทด้วยกัน ซึ่งหลักๆ แล้ว ก็สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน หากกล่าวอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีของระบบไฮเปอร์โซนิก ได้แก่ ขีปนาวุธร่อนแบบไฮเปอร์โซนิก และยานร่อนแบบไฮเปอร์โซนิก
โดยขีปนาวุธร่อนแบบไฮเปอร์โซนิก (Hypersonic Cruise Missile) ก็จะถูกขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ความเร็วสูงแบบที่ต้องอากาศในการเผาไหม้ เพื่อโจมตีเป้าหมาย
ส่วนยานร่อนแบบไฮเปอร์โซนิก (Hypersonic Glide Vehicle) ก็จะขับเคลื่อนโดยปล่อยออกจากจรวด ก่อนที่ยานร่อนจะแยกตัวออกจากจรวด และร่อนด้วยความเร็วอย่างน้อย 5 มัค (1 มัค เท่ากับ 1,225.04 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ในการเดินทางไปถึงเป้าหมายที่จะโจมตี
ส่วนประสิทธิภาพของอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีของระบบไฮเปอร์โซนิก ที่มีอัตราความเร็วเหนือเสียงชั้นสูงนั้น นอกจากเคลื่อนที่เดินทางได้อย่างรวดเร็วเหนือเสียงสมชื่อแล้ว พวกมันยังสามารถหลบหลีก และเปลี่ยนวิถีการบินในแบบฉับพลัน เฉียบพลัน จนยากต่อการตรวจจับ รวมถึงหลบหลีกระบบป้องกันภัยทางอากาศต่างๆ ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันได้อย่างน่าทึ่งอีกต่างหากด้วย
โดยปัจจุบันก็มีหลายประเทศ ที่ได้มีการทดสอบและพัฒนาจนมีความคืบหน้าไปเป็นอย่างมากแล้ว เกี่ยวกับอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีของระบบไฮเปอร์โซนิก ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ เป็นต้น ซึ่งอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว กำลังได้รับการจับตาในฐานะเป็นอาวุธที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในอำนาจภูมิยุทธศาสตร์ของโลก ด้วยพลานุภาพที่ทรงพลังอันน่าสะพรึงของอาวุธไฮเปอร์โซนิกนี้
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สยามรัฐ / วันที่เผยแพร่ 25 พ.ย.67
Link : https://siamrath.co.th/n/582702