ตัวอย่างไวรัส 323 หลอด หายไปจากห้องปฏิบัติการในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย แต่ทางการยืนยันไม่มีความเสี่ยงต่อประชาชน เนื่องจากไวรัสจะสลายตัวอย่างรวดเร็วหากอยู่นอกตู้แช่แข็ง
ตัวอย่างไวรัส 323 หลอด หายไปจากห้องปฏิบัติการในรัฐควีนส์แลนด์ แต่ทางการยืนยันไม่มีความเสี่ยงต่อประชาชน ขณะที่รัฐบาลของรัฐควีนส์แลนด์ได้ประกาศการสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ที่เกิดขึ้นห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาสาธารณสุขของรัฐ หรือหนึ่งปีหลังจากมีการรายงานการสูญหายครั้งแรก
โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าวให้บริการวินิจฉัยเฉพาะทาง เฝ้าระวัง และวิจัยไวรัสและเชื้อก่อโรคที่แพร่กระจายผ่านยุงและเห็บ ขณะที่ตัวอย่างไวรัสเฮนดรา ไลซาไวรัส และฮันตาไวรัส ถูกค้นพบว่าหายไปในเดือนสิงหาคม 2023 แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจะรับรองว่าไม่มีความเสี่ยงต่อชุมชน แต่ห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถระบุได้ว่าวัสดุถูกนำออกจากที่เก็บที่ปลอดภัยหรือถูกทำลาย
นายทิม นิโคลส์ รัฐมนตรีสาธารณสุขรัฐควีนส์แลนด์ ประกาศว่านายมาร์ติน ดอบนีย์ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาจะเป็นผู้นำการสอบสวน ส่วนนายจูเลียน ดรูซ อดีตหัวหน้าห้องปฏิบัติการระบุไวรัส ประจำห้องปฏิบัติการอ้างอิงโรคติดเชื้อวิกตอเรีย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ร่วมสอบสวน
“ด้วยการละเมิดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่ร้ายแรงเช่นนี้ และอาจไม่มีตัวอย่างไวรัสติดเชื้อให้เห็นอีก กระทรวงสาธารณสุขควีนส์แลนด์จำเป็นต้องสืบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก”
นายนิโคลส์กล่าวว่า “การสืบสวนตามมาตรา 9 จะทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการละเลยใด ๆ ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ และตรวจสอบนโยบายและขั้นตอนต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในห้องปฏิบัติการในปัจจุบัน”
นายนิโคลส์กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขควีนส์แลนด์ได้ใช้มาตรการป้องกันตั้งแต่ค้นพบการสูญหาย รวมถึงการอบรมพนักงานใหม่ และใบอนุญาตตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีความรับผิดชอบและจัดเก็บวัสดุอย่างถูกต้อง
จอห์น เจอราร์ด หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของควีนส์แลนด์ ย้ำว่าไม่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชนจากการสูญหายดังกล่าว เขากล่าวว่าไม่มีการตรวจพบกรณีไวรัสเฮนดรา หรือไลซาไวรัสในมนุษย์ในรัฐควีนส์แลนด์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และไม่มีรายงานการติดเชื้อฮันตาไวรัสในมนุษย์ในออสเตรเลีย “สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือตัวอย่างไวรัสจะสลายตัวอย่างรวดเร็วเมื่ออยู่ภายนอกตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำ และไม่สามารถแพร่เชื้อได้”
“มีแนวโน้มสูงสุดที่ตัวอย่างจะถูกทำลายด้วยหม้อนึ่งฆ่าเชื้อตามแนวทางปฏิบัติทั่วไปของห้องปฏิบัติการ และไม่มีการบันทึกอย่างเหมาะสม และมีแนวโน้มน้อยมากที่ตัวอย่างจะถูกทิ้งเป็นขยะทั่วไป เนื่องจากจะถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกแนวทางปฏิบัติทั่วไปของห้องปฏิบัติการโดยสิ้นเชิง”.
ที่มา news.com.au
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 11 ธ.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2830429