การโจมตีทางไซเบอร์ที่พุ่งเป้าไปยังหน่วยงานต่างๆ ของไต้หวันเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2024 มาอยู่ที่เฉลี่ย 2.4 ล้านครั้งต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติการของกองกำลังไซเบอร์ในจีน ตามข้อมูลจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติไต้หวัน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไต้หวันร้องเรียนว่าถูกปักกิ่งข่มขู่ด้วยกลยุทธ์พื้นที่สีเทา (grey zone harrassment) ซึ่งมีตั้งแต่การเปิดซ้อมรบทางทหาร การส่งบอลลูนเข้าน่านฟ้าไต้หวัน และปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ เพื่อที่จะบีบบังคับให้เกาะประชาธิปไตยแห่งนี้ยอมรับว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน
รายงานของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติไต้หวันที่เผยแพร่วานนี้ (5 ม.ค.) ระบุว่า เครือข่ายบริการแห่งรัฐบาลไต้หวัน (Government Service Network – GSN) ตรวจพบการโจมตีทางไซเบอร์ต่อหน่วยงานต่างๆ เฉลี่ย 2.4 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากค่าเฉลี่ย 1.2 ล้านครั้งต่อวันในปี 2023
ทางสำนักงานยังออกมาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเหตุโจมตีเหล่านี้ โดยโทษว่าส่วนใหญ่เป็นฝีมือกองกำลังไซเบอร์จีน และมีเครือข่ายโทรคมนาคม การขนส่ง และหน่วยงานด้านกลาโหม เป็นเป้าหมายหลัก
“แม้การโจมตีส่วนใหญ่จะถูกตรวจจับและป้องกันไว้ได้ทัน แต่ความถี่ที่เพิ่มขึ้นก็ชี้ให้เห็นถึงกิจกรรมการแฮกข้อมูลของจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น” รายงานระบุ
สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนยังไม่ออกมาให้ความเห็นในประเด็นนี้
รัฐบาลจีนยืนกรานปฏิเสธเรื่อยมาว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแฮกข้อมูลในลักษณะนี้ แต่ก็ยังถูกรัฐบาลต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐฯ กล่าวหามาโดยตลอด และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสหรัฐฯ ก็เพิ่งจะออกมาเผยว่าแฮกเกอร์จีนได้เจาะระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงการคลังและขโมยเอกสารไปได้บางส่วน
รายงานของไต้หวันยังเผยด้วยว่า ปฏิบัติการแฮกข้อมูลบางส่วนเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่กองทัพจีนเปิดซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน ซึ่งรวมถึงการโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการแบบกระจาย หรือ denial-of-service (DDos) เพื่อทำให้เว็บไซต์ของหน่วยงานด้านคมนาคมและการเงินของไต้หวันล่ม
ทางการไต้หวันเชื่อว่า ปฏิบัติการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ยกระดับการข่มขู่และการคุกคามทางทหารให้ได้ผลมากขึ้น”
จีนได้เปิดซ้อมรบใหญ่รอบเกาะไต้หวัน 2 ครั้งในปีที่แล้ว ครั้งแรกในเดือน พ.ค. และครั้งที่สองในเดือน ต.ค. โดยใช้ชื่อภารกิจว่า Joint Sword 2024A และ B ตามลำดับ
แฮกเกอร์จีนยังมีการเจาะอีเมลของข้าราชการไต้หวัน และใช้วิศวกรรมสังคม (social engineering) เพื่อหลอกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งยังใช้เทคนิคอื่นๆ เช่น ภัยคุกคามต่อเนื่องขั้นสูง (Advanced Persistent Threats – APT) และซอฟต์แวร์ประตูหลัง (backdoor software) เพื่อแทรกซึมและเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ อย่างเช่น ทางหลวง และท่าเรือต่างๆ เป็นต้น
“ความพยายามเหล่านี้ก็เพื่อที่จะขัดขวางการทำงานของรัฐบาลไต้หวัน และเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง การทหาร เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ” รายงานระบุ
ที่มา : รอยเตอร์
———————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 6 ม.ค.68
Link : https://mgronline.com/around/detail/9680000001338