PwC ประเทศไทย คาด GenAI จะถูกนำมาใช้งานเพื่อบรรลุกลยุทธ์ทางธุรกิจมากขึ้นในปี 2568 แนะผู้ประกอบการบูรณาการ AI เข้ากับกระบวนการและรูปแบบการทำงานเพื่อสร้างคุณค่าทางธุรกิจใหม่ ระบุการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบจะเป็นพื้นฐานสำหรับความสำเร็จอย่างยั่งยืน
วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจบริการทางการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) ไม่ใช่แค่กระแส แต่กำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ
โดยการทำให้ AI เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญขององค์กรนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะกลยุทธ์ AI จะทำให้บริษัทต่างๆ สามารถก้าวหน้าไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและทำให้คู่แข่งตามทันได้ยาก
ในปีนี้ GenAI จะถูกพัฒนาและนำมาใช้งานเพื่อบรรลุกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างจริงจังและแพร่หลายมากขึ้น หลังจากในปีที่ผ่านมา GenAI ได้รับการตอบรับที่ดีมากในตลาดไทย โดยองค์กรหลายแห่งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นการสร้างคอนเทนต์ การตลาดแบบเฉพาะบุคคล การยกระดับการให้บริการลูกค้า การพัฒนาเกมและความบันเทิงให้มีความน่าสนใจ รวมไปจนถึงการใช้งานด้านการศึกษาและการฝึกอบรม”
กล่าวได้ว่าสำหรับภาคธุรกิจ AI เป็นเทคโนโลยีที่หลายอุตสาหกรรมนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเขียนโค้ด การสนับสนุนลูกค้าด้วยแชทบอท AI ที่มีการปฏิสัมพันธ์ใกล้เคียงกับมนุษย์และการจัดการคำถามที่ซับซ้อน รวมไปถึงการยกระดับทักษะและการฝึกอบรมพนักงานผ่านแพลตฟอร์ม AI ให้เหมาะกับรูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละคน
ข้อมูลจากศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Center หรือ AIGC) ภายใต้ ETDA ได้เผยผลสำรวจ ความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับบริการดิจิทัลประจำปี 2567 (AI Readiness Measurement 2024) โดยระบุว่า สัดส่วนขององค์กรไทยที่ประยุกต์ใช้งาน AI แล้วเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.8% จากปี 2566 อยู่ที่ 15.2% และยังมีองค์กรที่จะเตรียมใช้งาน AI ในอนาคตสูงถึง 73.3%
เมื่อเดือนธันวาคม 2567 บทความ ‘2025 AI Business Predictions’ ของ PwC ได้ระบุถึงการช่วยลูกค้าเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วย AI ว่า บริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจะเปลี่ยนจากการไล่ตามกรณีการใช้ AI ไปสู่การใช้ AI เพื่อเติมเต็มกลยุทธ์ทางธุรกิจ
โดยกระบวนการทำงานพื้นฐานจะเปลี่ยนแปลงไป แต่มนุษย์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสอนและจัดการ AI ในขณะที่พวกเขาจะสามารถทำงานในรูปแบบอัตโนมัติได้ง่ายขึ้น
-
- แนวโน้ม ‘การใช้งาน AI’ ปี 2568
1.การปรับแต่งเฉพาะบุคคลขั้นสูง: GenAI จะเสนอการปรับแต่งที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยระบบมีความสามารถในการสร้างเนื้อหาและประสบการณ์ที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคล โดยอิงจากการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งอาจบูรณาการ AI เข้ากับเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างโลกเสมือนและโลกแห่งความเป็นจริง (augmented reality: AR) และเทคโนโลยีความจริงเสมือน (virtual reality: VR) เพื่อเสริมประสบการณ์เฉพาะบุคคล
2.การร่วมมือกับมนุษย์ที่มากขึ้น: เครื่องมือ GenAI จะสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ในการสร้างสรรค์ เสนอแนะ และการทำซ้ำความคิดแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลากหลายโดเมน
3.กำหนดกรอบจริยธรรมและระเบียบข้อบังคับ: การใช้ GenAI อย่างแพร่หลายจะนำไปสู่แนวปฏิบัติและระเบียบข้อบังคับด้านจริยธรรมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเน้นถึงความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และการลดอคติ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ
4.ความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม: การพัฒนาเทคโนโลยี GenAI อาจเน้นที่ความยั่งยืน โดยใช้ AI เพื่อสร้างโซลูชันสำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากร หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
5.การรักษาความปลอดภัยของแอปพลิเคชันจะถูกยกระดับ: GenAI สามารถนำไปใช้เพื่อปรับปรุงมาตรการด้านความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน เช่น การสร้างโปรโตคอลความปลอดภัยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ หรือการจำลองภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือที่ดีขึ้น
6.AI ในศิลปะสร้างสรรค์: ศิลปินและผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอาจใช้ GenAI มากขึ้นเพื่อขยายขอบเขตของงานศิลปะ ซึ่งจะนำไปสู่ศิลปะประเภทใหม่ ๆ ที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์กับเนื้อหาที่สร้างโดยเครื่องจักร (machine-generated content)
-
- ‘Responsible AI’ หน้าที่ของทุกธุรกิจ
วิไลพร ย้ำว่า ภาคธุรกิจยังคงต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้งาน AI เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งที่ผ่านมา PwC ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและนำแนวทางปฏิบัติด้าน AI อย่างมีความรับผิดชอบ (responsible AI) ไปประยุกต์ใช้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ
โดยควรยึดหลักสี่ประการ ดังต่อไปนี้ คือ การออกแบบและการใช้งานตามจริยธรรม, การลดอคติ, ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว และการกำกับดูแลและความรับผิดชอบ
การกำกับดูแล AI อย่างมีความรับผิดชอบ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องมีเพื่อสร้างความไว้วางใจและจัดการความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบ โดยการกำกับดูแลที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะผ่านทีมตรวจสอบภายในที่มีทักษะสูง หรือผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมการใช้งาน AI และยังเป็นแนวทางที่จะดึงศักยภาพของ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล
ส่วนของการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม (AI ethics) นั้น ข้อมูลจากผลสำรวจ ความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับบริการดิจิทัลประจำปี 2567 ของศูนย์ AIGC โดย ETDA ระบุว่า มีเพียง 16.5% ขององค์กรไทยที่นำ AI ethics มาประยุกต์ใช้ภายในองค์กรแล้ว ในขณะที่ 43.7% กำลังเริ่มวางแนวคิดในการนำ AI ethics มาปรับใช้
——————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 3 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1164878