สัปดาห์ที่ผ่านมา DeepSeek โมเดลเอไอจากจีนสร้างปรากฏการณ์และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการพัฒนาเอไอ โดยเฉพาะเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ประเทศที่ไม่ใช่สหรัฐ หรือยุโรปก็สามารถพัฒนาเอไอระดับโลกได้ จีนแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนมหาศาลเสมอไป
ปรากฏการณ์ DeepSeek ทำให้หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ผันผวน และสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในตลาดเอไอทั่วโลก ทำให้ที่เชื่อกันว่าเงินลงทุนมหาศาลที่เข้าไปในอุตสาหกรรมเอไอจนเกิดฟองสบู่อาจจะเป็นความจริง
ในทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำนวัตกรรมในหลายด้าน เราได้เห็นการมาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีบริษัทอย่าง BYD (Build Your Dreams) บริษัท GAC Aion และบริษัท XPENG ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเทสล่าแห่งเมืองจีน ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เราได้เห็น Huawei Technologies ผู้นำด้านโทรคมนาคมและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บริษัท Xiaomi Corporation ผู้นำด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาประหยัด และบริษัท DJI Innovation ผู้นำในด้านโดรน
เราเห็นแอปพลิเคชันอย่าง TikTok ที่พัฒนาโดยบริษัท ByteDance รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ทั้ง WeChat Pay และ Alipay รถไฟแมกเลฟที่ทำความเร็วสูงสุดถึง 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดวงอาทิตย์เทียม (Artificial Sun) ควอนตัวคอมพิวเตอร์จุยจัง (Jiuzhang) ซึ่งมีความเร็วและประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก ไปจนถึงสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station)
หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้จีนสามารถพัฒนานวัตกรรมระดับแนวหน้าได้ นอกจากความแข็งแกร่งในด้านการศึกษาและการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ระดับสูงของประเทศจีนแล้ว ระบบการสร้างนวัตกรรมยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น ผ่านโมเดล “Juguo System” หรือการขับเคลื่อนระดับชาติแบบองค์รวม ซึ่งเป็นแนวทางหลักที่ใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้จีนสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำระดับโลกในเวลาไม่ถึงสิบปี
โมเดลนี้ทำให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐาน การประสานงานภายในห่วงโซ่อุปทาน และการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สามารถนำมาใช้กับอุตสาหกรรมเอไอจนเกิด Deepseek และโมเดลอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย
ศาสตราจารย์ Keyu Jin ผู้เขียนหนังสือ “The New China Playbook: Beyond Socialism and Capitalism” ชี้ว่าหัวใจสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรมของจีนเกิดจากระบบที่เรียกว่า “Mayor Economy” หรือระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการแข่งขันกันของรัฐบาลท้องถิ่น
“Mayor Economy” เป็นแนวคิดที่นายกเทศมนตรีและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ตนเอง รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เมืองต่างๆ จึง “แข่งขันกัน” เพื่อดึงดูดบริษัทเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ และนักลงทุน ทำให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมในหลายพื้นที่ของจีน
ในทางปฏิบัติ รัฐบาลท้องถิ่นทำหน้าที่เสมือนนักลงทุนรายใหญ่หรือ Venture Capitalist ที่สามารถให้เงินอุดหนุนและที่ดินราคาถูกเพื่อจูงใจบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนห่วงโซ่อุปทาน เช่น พัฒนาเขตอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ หรือปัญญาประดิษฐ์ และยังมีบทบาทในการกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจนวัตกรรม เช่น การลดภาษีและให้สิทธิพิเศษทางกฎหมาย
ทั้งยังเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับท้องถิ่น ซึ่งช่วยเร่งกระบวนการสร้างนวัตกรรมและกระจายเทคโนโลยีสู่ภาคเศรษฐกิจที่กว้างขึ้น
เซินเจิ้น ซึ่งเคยเป็นเพียงเมืองอุตสาหกรรมขนาดเล็ก แต่ด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นที่ลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้เมืองนี้กลายเป็น “Silicon Valley of China” และเป็นศูนย์กลางของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น Huawei, Tencent, DJI และ BYD ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของจีน
ในด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งมีบทบาทสำคัญในการลดการพึ่งพาการนำเข้าชิปจากสหรัฐ ผ่านการสนับสนุนบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ เมืองอย่างหวู่ฮั่น หนานจิง และเซี่ยงไฮ้ ได้ให้ทุนสนับสนุนบริษัทที่มีศักยภาพ เช่น SMIC และ Yangtze Memory Technologies เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศและเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีขั้นสูง
ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าก็ได้รับการส่งเสริมอย่างเข้มข้นจากรัฐบาลท้องถิ่น เมืองเฉิงตู หนานจิง และหางโจว สนับสนุนเงินอุดหนุนแก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ เช่น NIO และ XPENG ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาด EV อย่างรวดเร็ว และทำให้จีนกลายเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด
กรณีของบริษัท NIO บริษัทพัฒนารถยนต์ EV ที่เกือบล้มละลาย แต่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมืองเหอเฟย ทั้งในรูปแบบของเงินลงทุนโดยตรงและการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่ออุตสาหกรรม ในเวลาเพียงปีเดียว NIO สามารถพลิกสถานการณ์และกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก
การที่ DeepSeek สามารถพัฒนาเอไอระดับโลกได้ ภายใต้ข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์และการคว่ำบาตรจากสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดสามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีชั้นสูงได้หากมีแนวทางที่ถูกต้อง จากระบบ “Mayor Economy” นี้ เราจะเห็นโมเดลเอไอจากจีนอีกมากมายทั้งในด้านความสามารถและต้นทุน ที่ทำให้การแข่งขันในวงการเอไอโลกรุดหน้าไปอีกระดับหนึ่งอย่างแน่นอน
————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 5 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/business/economic/1165183