กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย สั่นไหวในพื้นที่ภาคใต้ครั้งสุดท้าย จนล่าสุดบ่ายวันนี้ (14 เม.ย. 68) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.5 ใน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาจับตา 9 รอยเลื่อนมีพลังในไทย
โดยกรมอุตุนิยมวิทยาเผยแพร่ข้อมูล 9 รอยเลื่อนมีพลัง ดังนี้
1. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
รอยเลื่อนนี้ตัดผ่านด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ต เข้าไปในอ่าวพังงา และตามแนวคลองมะรุ่ย คลองชะอุน และคลองพุมดวงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนกระทั่งไปออกอ่าวบ้านดอน ระหว่างอำเภอพุนพินกับอำเภอท่าฉาง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 150 กิโลเมตร แผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนนี้มีรายงานเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2476 ที่จังหวัดพังงา และทางด้านตะวันตกเฉียงใต้นอกฝั่งภูเก็ต เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2519, วันที่ 17 สิงหาคม 2542 และวันที่ 29 สิงหาคม 2542 และล่าสุดเมื่อเวลา 14.27 น. วันที่ 14 เมษายน 2568 เกิดแผ่นดินไหวบริเวณ ต.คลองเขม้า อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ขนาด 3.5 รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน
2. รอยเลื่อนเชียงแสน
รอยเลื่อนนี้วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนสุดของประเทศ มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากแนวร่องน้ำแม่จันไปทางทิศตะวันออกผ่านอำเภอแม่จัน แล้วตัดข้ามด้านใต้ของอำเภอเชียงแสนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวลำน้ำเงิน ทางด้านเหนือของอำเภอเชียงของ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่วัดได้ตามแนวรอยเลื่อนนี้ เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2521 มีขนาด 4.9 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่าระดับ 3 เกิดตามแนวรอยเลื่อนนี้ 10 ครั้ง และ 3 ครั้งมีขนาดใหญ่กว่า 4.5 แผ่นดินไหวทั้งหมดเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดในระดับตื้นกว่า 10 กิโลเมตร
3. รอยเลื่อนแพร่
รอยเลื่อนนี้อยู่ทางด้านตะวันออกของแอ่งแพร่ และวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือโดยเริ่มต้นจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเด่นชัย ผ่านไปทางด้านตะวันออกของอำเภอสูงเม่นและจังหวัดแพร่ ไปจนถึงด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอร้องกวาง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 115 กิโลเมตร มีแผ่นดินไหวขนาด 3-4 เกิดตามแนวรอยเลื่อนนี้กว่า 20 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนแผ่นดินไหวขนาด 3 ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2533 ที่ผ่านมา เกิดตามแนวรอยเลื่อนซึ่งแยกจากรอยเลื่อนแพร่ไปทางทิศเหนือ
4. รอยเลื่อนแม่ทา
รอยเลื่อนนี้มีแนวเป็นรูปโค้งตามแนวลำน้ำแม่วอง และแนวลำน้ำแม่ทาในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 55 กิโลเมตร จากการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (2523) พบว่า ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของการศึกษาในปี พ.ศ. 2521 มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดในระดับตื้นอยู่มากมายในบริเวณรอยเลื่อนนี้
5. รอยเลื่อนเถิน
รอยเลื่อนเถินอยู่ทางทิศตะวันตกของรอยเลื่อนแพร่ โดยตั้งต้นจากด้านตะวันตกของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือขนานกับรอยเลื่อนแพร่ไปทางด้านเหนือของอำเภอวังชิ้น และอำเภอลอง รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 90 กิโลเมตร เคยมีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.7 บนรอยเลื่อนนี้ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2521
6. รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี
รอยเลื่อนนี้วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งต้นจากลำน้ำเมยชายเขตแดนพม่ามาต่อกับห้วยแม่ท้อและลำน้ำปิงใต้จังหวัดตาก ต่อลงมาผ่านจังหวัดกำแพงเพชร และนครสวรรค์จนถึงเขตจังหวัดอุทัยธานี รวมความยาวทั้งสิ้นกว่า 250 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวเกิดตามรอยเลื่อนนี้ 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2476 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2518 ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก แผ่นดินไหวครั้งหลังนี้มีขนาด 5.6
7. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
รอยเลื่อนนี้อยู่ทางด้านตะวันตกของรอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี โดยมีทิศทางเกือบขนานกับแนวของรอยเลื่อน อยู่ในร่องน้ำแม่กลองและแควใหญ่ ตลอดขึ้นไปจนถึงเขตแดนพม่า รวมความยาวทั้งหมดกว่า 500 กิโลเมตร ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีรายงานแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายร้อยครั้งตามแนวรอยเลื่อนนี้ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่วัดได้ในระหว่างนี้ เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 มีขนาด 5.9
8. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
รอยเลื่อนนี้อยู่ในลำน้ำแควน้อยตลอดสาย และต่อไปจนถึงรอยเลื่อนสะแกง (Sakaing Fault) ในประเทศพม่า ความยาวของรอยเลื่อนช่วงที่อยู่ในประเทศไทยยาวกว่า 250 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนนี้มากมายหลายพันครั้ง
9. รอยเลื่อนระนอง
รอยเลื่อนระนองวางตัวตามแนวร่องน้ำของแม่น้ำกระบุรี มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 270 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2521 มีขนาด 5.6
————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 14 เมษายน 2568
Link : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2853081