Loading

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎหมายหรือระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยหรือการรักษาความลับของทางราชการ เพื่อการบังคับใช้หรือเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในราชการทหารและพลเรือน โดยในปี พ.ศ.2478 มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติว่าด้วยเขตต์ปลอดภัยในราชการทหาร พุทธศักราช 2478” เนื่องจากเห็นว่า ราชการทหารเป็นกิจการเกี่ยวกับประโยชน์แห่งชาติ สมควรกำหนดเขตโดยรอบบริเวณที่ทหารให้เป็น“เขตต์ปลอดภัย” และจึงมีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติคุ้มครองความลับในราชการ พุทธศักราช 2483” อีกประการหนึ่งเพื่อรองรับภาวการณ์จากสงครามโลก ครั้งที่ 2 พร้อมด้วย โดยกำหนดให้ “ที่สงวน” ทั้งในส่วนของราชการทหารและราชการพลเรือน ถือเป็นความลับในราชการ ผู้ใดมิได้มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ห้ามกระทำการคัดลอก เขียน จำลอง หรือถ่ายภาพ

เมื่อสถานการณ์โลกในระยะต่อมาเข้าสู่สภาพสงครามเย็นระหว่างฝ่ายโลกเสรีและฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มประชาคมโลก การจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างพันธมิตรร่วมในการป้องกันการรุกรานที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการรุกรานจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ ขณะนั้น รัฐบาลไทยจึงจัดตั้งหน่วยงานกลางด้านการข่าวกรองขึ้น คือ กรมประมวลราชการแผ่นดิน เมื่อ 1 มกราคม 2497 โดยให้มีหน้าที่ด้านการข่าวกรอง ส่วนความรับผิดชอบในด้านการรักษาความปลอดภัยยังมิได้กำหนดแน่ชัด

อย่างไรก็ดี สภาพการณ์ภายนอกประเทศขณะนั้นส่งผลกระทบถึงประเทศไทยมาโดยตลอด ประกอบกับหลังจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัดตัน เมื่อ พ.ศ.2494 สภาพการเมืองภายในประเทศไทยอยู่ในภาวะหวาดระแวง ด้วยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีมิได้มีอำนาจเด็ดขาด ทั้งในด้านการปกครองและการทหาร การสร้างมิตรประเทศจึงนับเป็นนโยบายที่สำคัญ เพื่อสร้างดุลอำนาจทางการเมืองไว้ ดังนี้ ประเทศไทยจึงเข้าร่วมกับประเทศมหาอำนาจฝ่ายโลกเสรี ทำการลงนามในกติกามะนิลา (Manila Pact) ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ เมื่อ 8 กันยายน 2497 กับประเทศต่าง ๆ 8 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย

ถึงแม้จะเกิดการร่วมเป็นภาคีตามกติกามะนิลา แต่การขยายอำนาจเข้าสู่เอเชียของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งนำโดยจีน ยังคงสร้างความหวาดเกรง โดยเฉพาะต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลให้มีการรวมกลุ่มประเทศขึ้นอีก โดยจัดตั้ง “องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สปอ.” (Southeast Asia Treaty Organization : SEATO) ขึ้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2498 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการป้องกันร่วมกัน และธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคง และ ได้จัดตั้งสำนักงาน สปอ. ขึ้นในประเทศไทย เมื่อ 12 มิถุนายน 2498 พร้อมกับประกาศใช้ “ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยขององค์การสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ( SEATO’s Security Policy and Procedures) ในเดือนกรกฎาคม 2498 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยภายในองค์การดังกล่าว

แต่ด้วยแนวทางและมาตรฐานการปฏิบัติ โดยเฉพาะการดำเนินการต่อสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการของกลุ่มภาคี สปอ.ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา มีความต่างกัน จึงมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดมาตรฐานการดำเนินงานที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม “มีนโยบายที่จะรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับการรักษาความลับของทางราชการให้เกิดความมั่นคงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ประกอบกับขณะนั้นแต่ละกลุ่มอำนาจของโลกต่างพยายามแสวงหาข้อมูลข่าวสาร ความลับ รวมถึงทำการจารกรรม ดังนี้ การป้องกันและการดำเนินการเพื่อรักษาความลับของทางราชการ เพื่อให้เกิดความความปลอดภัยแก่ประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องเร่งกระทำและให้เป็นไปอย่างรัดกุม

ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเข้าร่วมในสนธิสัญญาการป้องกันกับมิตรประเทศนี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับต่อกัน ส่งผลให้จำเป็นต้องวางระเบียบเพื่อการรักษาความลับของทางราชการที่เป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับมิตรประเทศ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อ 21 ธันวาคม 2498 แต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน 16 คน มี พล.ร.อ.หลวงธารพฤฒิไกร เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาร่างระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ โดยถือแนวทางตามนัยของระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยขององค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประกาศใช้เมื่อ 14 กรกฎาคม 2499 เรียกว่า “ระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ

ระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการนี้กำหนดวัตถุประสงค์สำคัญในการป้องกัน รักษาความปลอดภัย คือ การรักษาสิ่งที่เป็นความลับให้พ้นจากการจารกรรม การรั่วไหล หรือการเปิดเผยที่มิใช่เป็นทางการ และกำหนดสิ่งที่เป็นความลับ หมายถึงข่าวสารที่เป็นคำพูด ที่เป็นภาพ หรือที่เป็นเอกสาร และวัสดุในรูปหรือลักษณะใดๆ อันจำเป็นต้องพิทักษ์รักษาไว้ในลักษณะและขอบเขตที่กำหนดตามความสำคัญ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศชาติและพันธมิตร โดยมีหลักการสำคัญคือ “การจำกัดให้ทราบเท่าที่จำเป็น” อันนับเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความปลอดภัยทุกประเภท

สำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าทีรับผิดชอบนั้น ระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการดังกล่าว ได้กำหนดไว้ที่ข้อ 112 ให้มีองค์การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ โดยระบุให้ กรมประมวลราชการแผ่นดิน เพียงหน่วยงานเดียว ทำหน้าที่ “องค์การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ” มีหน้าที่แนะนำ ช่วยเหลือให้ส่วนราชการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีได้ออก “ระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2500” เมื่อ 26 ธันวาคม 2500 สาระสำคัญคือ ให้ปรับความในข้อ 57 แห่งระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ โดยให้มีตำแหน่งนายทะเบียนเอกสารลับ เพื่อรับผิดชอบในการรับ-ส่งเอกสารราชการที่กำหนดชั้นความลับในชั้นลับที่สุดและลับมาก เพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินการและเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น

ภายหลังการปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลปรับเปลี่ยนชื่อจากกรมประมวลราชการแผ่นดินมาเป็น“กรมประมวลข่าวกลาง” เมื่อเดือนธันวาคม 2502 โดยยังคงหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านการข่าวและการรักษาความปลอดภัยเช่นเดิม

ในระหว่างนี้ กรมข่าวทหาร กระทรวงกลาโหม ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยพลเอกถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ขอทำการปรับปรุงระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ด้วยเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวประกาศใช้มาเป็นเวลานาน เนื้อความบางส่วนไม่รองรับกับสภาพการขณะนั้น และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติขององค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะรัฐมนตรีจึงผ่านความเห็นชอบ เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2507 ให้ตั้งคณะกรรมการร่างระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ เพื่อทำการปรับปรุงระเบียบนี้ ประกอบด้วย พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน แลคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจาก 10 ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุด, กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, กรมประมวลข่าวกลาง และกรมตำรวจ จากนั้น คณะกรรมการดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 1 คณะ เพื่อพิจารณายกร่างระเบียบใหม่ โดยทำการประชุมครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2508 ณ ห้องประชุมกรมประมวลข่าวกลาง การดำเนินการยกร่างระเบียบเสร็จสิ้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2510 รวมการประชุมถึง 109 ครั้ง ระเบียบใหม่นี้เรียกว่า “ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2511” ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2511 อย่างไรก็ดี ระเบียบฉบับนี้มิได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีเพียงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ลงชื่อในระเบียบเท่านั้น และเพื่อให้การถือปฏิบัติตามระเบียบนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลก่อนการบังคับใช้ใน 1 พฤษภาคม 2511 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2511 อนุมัติให้คณะกรรมการร่างระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ชี้แจงและอบรมผู้แทนในระดับสูงของส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร ให้เข้าใจและเตรียมการปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้อย่างถูกต้อง

ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2511 นี้ยังคงจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อพิทักษ์ รักษา และป้องกันสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการเช่นเดียวกับระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ ที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2499 สำหรับการปรับเปลี่ยนสำคัญของระเบียบฉบับใหม่ คือ การกำหนให้แยกหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย โดยให้กรมประมวลข่าวกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน และให้เพิ่มศูนย์รักษาความปลอดภัย กระทรวงกลาโหม เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายทหาร

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในด้านอื่นเพื่อให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น ได้แก่ การประกาศใช้ “ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติเกี่ยวกับการจ้างเอกชนทำการสำรวจและทำแผนที่ พ.ศ. 2516” โดยระเบียบฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2511 ซึ่งระบุไว้ในข้อ 4

เพื่อให้การประสานงานในการถือปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยมีประสิทธิภาพ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้แต่งตั้ง“คณะกรรมการประสานการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2511” เมื่อ 8 มกราคม 2517 โดยกำหนดให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน แต่กระนั้นกระทรวงกลาโหมได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อขอปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2511 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2511 เมื่อ 20 พฤษภาคม 2512 โดยมี พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน และคณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากคณะกรรมการร่างระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติชุดเดิม และนำเสนอผลการปรับแก้ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อ 18 ธันวาคม 2517 โดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงชื่อและมีผลบังคับใช้เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2518 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ร.จ.1 ตอนที่ 37 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2518 ระเบียบฉบับใหม่นี้เรียกว่า “ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517” จุดมุ่งหมายของระเบียบนี้ยังคงเป็นไปตามแนวทางเดิม และเพื่อให้เกิดประสิทธิผลต่อการรักษาความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงมีการแต่งตั้ง“คณะกรรมการประสานการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ”(กก.ป.รปภ.) ขึ้น เมื่อ 19 มิถุนายน 2518 โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน

เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยมีหลักเกณฑ์ครอบคลุมการปฏิบัติงานที่สำคัญอื่นๆ คณะรัฐมนตรี นำโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้ “ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติเกี่ยวกับการสื่อสาร พ.ศ.2525” เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2525 ตามราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2525 ระเบียบฉบับนี้กำหนดประเภทของการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับการสื่อสารเป็น 3 ประเภท คือ

1) การรักษาความปลอดภัยในการส่งข่าว

2) การรักษาความปลอดภัยทางการรหัส และ

3) การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ทางการสื่อสาร

ต่อมาในสมัยรัฐบาล โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้“พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2528” พระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากการเปลี่ยนชื่อกรมประมวลข่าวกลางเป็น“สำนักข่าวกรองแห่งชาติ” เมื่อ 30 สิงหาคม 2528 แล้ว ยังบัญญัติถึงหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนในความรับผิดชอบของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งนับเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ตราถึงการรักษาความปลอดภัย

หลังจากนั้น จึงมีการปรับแก้ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติเกี่ยวกับการจ้างเอกชนทำการสำรวจและทำแผนที่ พ.ศ. 2516 ให้สอดคล้องกับระเบียบการรักษาความปลอดภัยฉบับใหม่นี้ และได้ประกาศใช้เป็น“ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติเกี่ยวกับการจ้างเอกชนทำการสำรวจและทำแผนที่ พ.ศ. 2534”

จากสภาพสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย โดยเน้นถึงการให้สิทธิแก่ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐและสามารถแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น รัฐสภาในสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายรัฐมนตรี ได้ผ่าน“พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 ธันวาคม 2540 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 9 กันยายน 2540

หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทำให้เกิดความเห็นที่ว่า การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 และระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติเกี่ยวกับการสื่อสาร พ.ศ. 2525 ทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในการรักษาความลับเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของทางราชการ อีกทั้งได้ประกาศใช้มาเป็นเวลายาวนาน จะไม่รองรับกับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ฉะนั้น ในการประชุมคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) เมื่อ 31 กรกฎาคม 2541 จึงเห็นความจำเป็นต้องกำหนดระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการขึ้น ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ที่ให้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผยขึ้น สำหรับให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติดังนั้น คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการดังกล่าว จึงให้คณะอนุกรรมการตราพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงหรือระเบียบ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทำการร่างระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความลับของทางราชการ โดยมีนายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาขณะนั้นเป็นประธาน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบใน “ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544” เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2543 และนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ลงชื่อเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2544 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2544 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2544

จากการประกาศใช้ระเบียบฉบับนี้ เป็นผลให้ต้องยกเลิกเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในส่วนที่เป็น “เอกสาร” ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 และให้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติเกี่ยวกับการสื่อสาร พ.ศ. 2525

เนื่องจากยังมีระเบียบที่เกี่ยงเนื่องกับระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 จึงมีการปรับระเบียบเหล่านั้น กล่าวคือ จากการประชุมเพื่อพิจารณาจัดตั้งองค์กรอวกาศแห่งชาติ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อ 3 กันยายน 2543 ได้มีการเสนอแก้ไขระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติเกี่ยวกับการจ้างเอกชนทำการสำรวจและทำแผนที่ พ.ศ.2534 เนื่องจากการกำหนดให้ระเบียบนี้เป็นส่วนหนึ่งของระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 จึงได้ปรับเนื้อความในข้อ 4 ของระเบียบฉบับดังกล่าวเป็น“ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ให้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ และระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ”และประกาศใช้ “ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยในการจ้างเอกชนทำการสำรวจและทำแผนที่ พ.ศ.2544” เมื่อเดือนมกราคม 2544 โดยเป็นการดำเนินการเพื่อรองรับระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและการรักษาความลับของทางราชการที่จะมีการประกาศใช้ต่อไป

ในปี 2537 นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติขณะนั้น ดำริให้นายสัมฤทธิ์ ศรีสวัสดิ์ นักการข่าว 9 เชี่ยวชาญ จัดการหารือพิจารณาร่วมกับผู้อำนวยการและข้าราชการกอง 3 เพื่อกำหนดแนวทางปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 ซึ่งเห็นว่า เนื้อความไม่รองรับกับสภาพและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และนำเสนอต่อสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 และได้พิจาณาเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม 2539 พร้อมกับนำเสนอร่างระเบียบต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่สภาความมั่นคงแห่งชาติได้ส่งร่างระเบียบดังกล่าวคืนคณะอนุกรรมการฯ ทั้งนี้ด้วยพลเอกบุญศักดิ์ กำแหงฤทธิรงค์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติขณะนั้น ดำริให้เห็นควรให้เพิ่มเติมเรื่องการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญเข้ารวมไว้ในการปรับแก้ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติด้วย

การประชุมปรับแก้ระเบียบของคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 ดำเนินการยกร่างระเบียบนี้ระหว่าง 14 กุมภาพันธ์ – 5 กันยายน 2540 ซึ่งมีข้อพิจารณาที่สำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มเติมในระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติให้ครอบคลุมถึงเรื่องการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ด้วยมีข้อกังวลเกี่ยวกับการพกพาอาวุธของเจ้าหน้าที่อารักขาและรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เพราะกฎหมายได้ให้อำนาจเฉพาะแก่เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น แต่ส่วนราชการอื่นที่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ มิได้มีกฎหมายรองรับให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

สภาความมั่นคงแห่งชาติได้นำเสนอร่างระเบียบครั้งใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี ผ่านสำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี เมื่อ 9 มีนาคม2541 แต่เมื่อ 25 มีนาคม 2541 สำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรีได้หนังสือถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยเนื้อความของร่างระเบียบครั้งใหม่ขัดกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 กล่าวคือ มาตรา 43 ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารดังกล่าวบัญญัติให้ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 ในส่วนของข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ยังคงบังคับใช้ หากไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ แต่ร่างระเบียบฉบับใหม่ กำหนดให้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 ประการต่อมา ตามมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารนี้ กำหนดให้มีระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ ฉะนั้น ร่างระเบียบใหม่ดังกล่าวจึงควรส่งให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการพิจารณา ด้วยเหตุนี้ ในช่วงเวลานั้น จึงยังคงถือแนวปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 ต่อไปก่อน

จนกระทั่งเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2543 หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 แล้ว จึงดำริให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติทำการพิจารณาปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 ให้สอดคล้องกับระเบียบด้วยการรักษาความลับฉบับใหม่นี้คณะกรรมการประสานการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติแห่งชาติ จึงมีคำสั่งเมื่อ 31 พฤษภาคม 2544 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 (อป.รปภ.) โดยมีผู้แทน 17 หน่วยงาน โดยผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติเป็นประธาน ในการประชุมของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ได้ปรับเอาบทเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญออก

เมื่อ 9 เมษายน 2549 คณะกรรมการประสานการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 ชุดใหม่อีกครั้ง แต่ด้วยร่างระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวมีเนื้อหาจำนวนมาก ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติมากกว่าหลักเกณฑ์ดำเนินการ คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงท้วงติงในเรื่องนี้ และให้ข้อคิดเห็นว่าควรแยกเนื้อความของระเบียบให้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดำเนินการ ส่วนแนวทางปฏิบัติสามารถกำหนดเป็นประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งการกำหนดเป็นประกาศนี้จะง่ายต่อการปรับแก้ หรือเพิ่มเติมแนวทางปฏิบัติให้รองรับการพัฒนาทางวิทยาการสมัยใหม่ได้ง่ายกว่าการปรับแก้ที่ตัวระเบียบ ซึ่งเป็นแนวทางในการปรับร่างระเบียบนี้อีกครั้ง และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ“ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552” เมื่อ 20 มกราคม 2552 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 13 มีนาคม 2552 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2552 เป็นต้นมา