: จากบางส่วนของบทความ นายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
น.ส.พ.มติชน/12 มิถุนายน 2543
คำถาม กฎหมายใดให้อำนาจในการดักฟัง/ดักรับข้อมูลจากโทรศัพท์ และหากมีการดักฟัง/ดักรับข้อมูลจากโทรศัพท์โดยไม่ชอบ ผู้กระทำและการกระทำนี้มีผลตามกฎหมายอย่างไร
คำตอบ เนื่องจากมีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จึงเริ่มจาก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 105 บัญญัติว่า จดหมาย ไปรษณียบัตร โทรเลข สิ่งพิมพ์หรือเอกสารอื่น ซึ่งส่งทางไปรษณีย์และโทรเลข จากหรือถึงผู้ต้องหาหรือจำเลย และยังมิได้ส่ง ถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวนไต่สวน มูลฟ้อง พิจารณา หรือการกระทำอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายนี้ ให้ขอคำสั่งจากศาลถึงเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์โทรเลขให้ส่งเอกสารนั้นมา
ถ้าอธิบดีกรมตำรวจ หรือข้าหลวงประจำจังหวัดเห็นว่า เอกสารนั้นต้องการใช้เพื่อการดังกล่าวแล้ว ระหว่างที่ขอคำสั่งต่อศาล มีอำนาจขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไปรษณีย์โทรเลขเก็บเอกสารนั้นไว้ก่อน
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ใช้ถึงเอกสารโต้ตอบระหว่างผู้ต้องหา หรือจำเลยกับทนายความของผู้นั้น
พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477
วัตถุประสงค์หลักของมาตรา 105 คือ ต้องการได้ข้อมูลการติดต่อสื่อสารของตัวจำเลยหรือผู้ต้องหา ด้วยเหตุว่า ข้อมูลการติดต่อสื่อสารนั้นเป็นประโยชน์ต่อการสืบทราบข้อเท็จจริงในการจะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ความเหมาะสมในด้านสิทธิ/เสรีภาพของบุคคลของกฎหมายนี้ ต้องพิจารณา 2 เเง่ คือ
1. เพื่อประโยชน์ของรัฐในการดำเนินคดีอาญาขั้นการสืบสวน สอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง และการพิจารณาคดีตลอดจนการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้การได้ตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เเง่นี้ถือว่า เป็นเรื่องที่จำเป็นด้วยเหตุว่า การติดต่อสื่อสารของจำเลยหรือผู้ต้องหา ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการสืบทราบข้อเท็จจริง หากไม่มีมาตรการหรือข้อกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือให้กับเจ้าพนักงาน ย่อมเป็นการลำบากที่จะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่รัฐจะทำได้เท่าที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ เป็นการกระทำที่ได้รับคำสั่งศาล อันเป็น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพเพียงเท่าที่ไม่ขัดสาระสำคัญแห่งสิทธิ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
2. ต่อหลักการสำคัญของกฎหมายอาญาที่ต้องให้ตัวจำเลยหรือตัวผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าที่จะมีการพิสูจน์ทราบที่ชัดเจนได้ว่า ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยจะกระทำความผิดจริงตามที่ฟ้องกล่าวหา หลักการนี้ต้องย้ำให้เห็นว่า ก่อนที่มีคำพิพากษาว่า ได้กระทำผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ ฉะนั้นการที่บัญญัติกฎหมายให้มีการได้ทราบข้อมูลหรือข้อความที่มีการติดต่อของตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ย่อมขัดกับความพึงมี พึงได้ของบุคคลทั่วไป ฉะนั้น การติดต่อสื่อสารอย่างอิสระและข้อมูลจากการติดต่อสื่อสารจะถูกเปิดเผยได้ต้องผ่านการยินยอม เหล่านี้นับเป็นสิทธิส่วนบุคคล
แต่การติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามีขอบเขตมากกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรานี้ ฉะนั้น ปัจจุบันถือว่า มาตรานี้ไม่ครอบคลุมกับการติดต่อสื่อสารในทุกรูปแบบที่มาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่