23 ธ.ค. 2558 ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา จากกรณีที่ปล่อยให้มีการโพสต์ผิดกฎหมายในเว็บบอร์ดประชาไทนาน 20 วัน
ศาลฎีการะบุถึงพฤติการณ์แวดล้อมที่ชี้ว่า จำเลยไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ โดยไม่ส่งข้อมูล IP address ของผู้ใช้บริการเว็บบอร์ดที่มีข้อความเข้าข่ายหมิ่นสถาบันให้เอง จนเลยระยะเวลา 90 วันตามกฎหมายที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ต้องเก็บ IP address ไว้ ทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ใช้รายอื่นได้
จีรนุช เปรมชัยพร แสดงความผิดหวังต่อคำพิพากษาและแสดงความกังวลต่อประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอินเทอร์เน็ต หากมีการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ โดยอาจสร้างความยากลำบากในการปฏิบัติตัวของผู้ให้บริการ เพราะข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการเป็นข้อมูลสำคัญ หากไม่มีเหตุอันควร การยื่นข้อมูลเหล่านี้ให้เจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องร้องขอ ผู้ให้บริการอาจละเมิดต่อผู้ใช้บริการได้
ด้านธีรพันธ์ พันธุ์คีรี ทนายจำเลยแสดงความกังวลหลังฟังคำพิพากษาว่า กรณีนี้อาจก่อให้เกิดภาระรับผิดชอบที่กว้างขวางของผู้ให้บริการ ซึ่งอาจเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติด้วยซ้ำไป
สำหรับบรรยากาศวันนี้ มีตัวแทนจากสถานทูตฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา และ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์
ทั้งนี้ คดีนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.2552 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นสำนักงานประชาไทและควบคุมตัวจำเลย มีการแจ้งข้อกล่าวหาและระบุการกระทำผิดในการลบความเห็นในเว็บบอร์ดประชาไทช้า รวมแล้วถึง 10 ข้อความหรือ 10 กรรม อย่างไรก็ตาม จำเลยได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน
ต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 30 พ.ค. 2555 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ในการพิจารณาลดโทษให้เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีจำเลยในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นสถาบันในเว็บบอร์ด 1 ข้อความ และยกฟ้องข้อความอีก 9 ข้อความ เนื่องจากดำเนินการตรวจสอบปิดกั้นในระยะเวลาที่เหมาะสม ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ทั้งนี้ มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กำหนดให้ผู้ให้บริการรับโทษเท่ากับผู้กระทำผิดนำเข้าข้อมูลปลอม ข้อมูลเท็จ ข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ย้อนดูคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สำหรับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2556 กรณีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาล ศาลอ่านคำพิพากษาพิจารณาประเด็นเรื่องการลบข้อความในเว็บบอร์ด 9 ข้อความของจำเลย ว่าลบในกรอบเวลาอันสมควร (1-11 วัน) จึงมิอาจฟังว่าจำเลยได้รู้ถึงการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นการยินยอมให้มีการกระทำความผิดตาม มาตรา 14 ดังที่โจทก์อุทธรณ์
ขณะที่อีกข้อความซึ่งปรากฏในเว็บบอร์ดนาน 20 วันโดยจำเลยอ้างว่า จำเลยดูแลเพียงคนเดียว และหลังรัฐประหาร 2549 มีผู้ใช้งานมากขึ้น และได้เพิ่มมาตรการดูแลมากขึ้น แต่ศาลเห็นว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการทำหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ข้อความตามฟ้องยังปรากฏอยู่ในช่วงเดียวกับที่มีการโพสต์หมิ่นฯ ถึง 9 ครั้ง ประกอบกับจำเลยมีการศึกษาและเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่มูลนิธิควรต้องตระหนักถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์ การปล่อยให้มีข้อความเข้าข่ายหมิ่นฯ นาน 20 วันจึงเป็นความยินยอม
พร้อมกันนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยังได้อธิบายถึงความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในบริบทสังคมไทย รวมถึงแนวทางถวายความจงรักภักดีไว้ด้วย
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ให้เพิ่มโทษหนักขึ้นนั้น ศาลเห็นว่าเหมาะสมแก่สภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว รวมถึงกรณีให้รอลงอาญา ก็เหมาะสมแล้ว เพื่อให้จำเลยได้ปรับตัวเป็นพลเมืองดีนอกเรือนจำ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง มาตรการสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง และข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ให้ความเห็นชอบไว้
ที่มา : ประชาไท 2015-12-23 10:47
Link : http://www.prachatai.org/journal/2015/12/63117