ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวฐานข้อมูล MongoDB กว่า 27,000 แห่งถูกเจาะ ข้อมูลถูกขโมยออกไปเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นเงิน 0.2 Bitcoin (ประมาณ 8,200 บาท) และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง การโจมตีก็แพร่กระจายมายัง MySQL ด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าแฮ็คเกอร์เริ่มพุ่งเป้าการเจาะระบบฐานข้อมูลแล้วเรียกค่าไถ่มากขึ้น บทความนี้จะได้รวม Best Practices สำหรับปกป้องฐานข้อมูลของตนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ Ransomware
รู้จักวิธีโจมตีก่อน
การโจมตีฐานข้อมูลเรียกค่าไถ่มักเกิดจาก 2 กรณี คือ
- แฮ็คเกอร์โจมตีที่เครื่อง Client ซึ่งเปราะบางที่สุดในระบบ โดยใช้การส่งอีเมล Phishing เพื่อหลอกให้ผู้ใช้เปิดไฟล์แนบหรือเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีมัลแวร์แฝงอยู่ เมื่อเข้ายึดเครื่อง Client ได้แล้ว แฮ็คเกอร์จะค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในเครือข่ายจนกว่าจะยกระดับสิทธิ์ตัวเองให้เข้าถึงระบบฐานข้อมูลได้ จากนั้นจึงเข้ารหัส ขโมย หรือลบข้อมูลเพื่อเรียกค่าไถ่
- แฮ็คเกอร์โจมตีเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลโดยตรง โดยอาจผ่านทางเว็บแอพพลิเคชันที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เช่น SQL Injection หรือในกรณีที่เว็บและฐานข้อมูลอยู่บนเซิร์ฟเวอร์เครื่องเดียวกันยิ่งทำให้สามารถโจมตีได้ง่ายกว่าเดิม เพียงแค่หาช่องโหว่ของเซิร์ฟเวอร์เจอก็อาจจะยึดระบบฐานข้อมูลได้ทันที
ป้องกันและรับมือกับการโจมตีได้อย่างไร
การปกป้องระบบฐานข้อมูลให้มั่นคงปลอดภัยสามารถทำได้ไม่ยากนัก โดยอาศัยอุปกรณ์และโซลูชันบนระบบเครือข่ายที่มีอยู่ก็สามารถลดความเสี่ยงลงได้ ดังนี้
ปกป้องผู้ใช้
- จัดอบรมเพื่อสร้างความตระหนักด้านความมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบและรับมือกับการโจมตีแบบ Phishing
- ยกเลิกการอนุญาตให้แชร์ข้อมูลระหว่างผู้ใช้แบบ Peer-to-peer
- วางแผนการสำรองข้อมูลไปเก็บไว้ใน External Drives หรือ Virtual Drives
- ติดตั้งโปรแกรม Antivirus ที่เชื่อถือได้ลงบนเครื่อง Client เพื่อป้องกัน Ransowmare
ปกป้องเว็บไซต์
- ไม่ติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องเชื่อมต่อกับภายนอกและระบบฐานข้อมูลหรือระบบจัดเก็บข้อมูลไว้ในเครื่องเดียวกัน
- ทำ Segmentation ระหว่างเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการเว็บและเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลอย่างเหมาะสม
- คอยติดตามและอัปเดตแพทช์บนเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลและเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้จัดเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
- หมั่นตรวจสอบว่าฝ่าย IT มีแผนการสำรองข้อมูลสำหรับระบบฐานข้อมูลและระบบแชร์ไฟล์หรือไม่
- พิจารณาการสำรองข้อมูลหรือไฟล์สำคัญบนระบบ Cloud หรือ DR-as-a-Service
เพิ่มการป้องกันระดับสูง
- มีการจัดทำแผนตอบสนองต่อสถานการณ์ผิดปกติ เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ
- ศึกษาและหาข้อมูล NoMoreRansom.org ซึ่งเป็นเว็บที่บริษัทซอฟต์แวร์ Antivirus หน่วยงานบังคับใช้กฏหมาย และนักวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่ออัปเดตข่าวสาร วิธีรับมือกับ Ransomware และรวมเครื่องมือสำหรับใช้ปลดรหัส
- จ่ายหรือไม่จ่ายค่าไถ่ ? เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นตรงกันว่าอย่าจ่ายค่าไถ่ เพราะเหมือนเป็นการสนับสนุนแฮ็คเกอร์ให้ได้ใจ และมีเงินทุนสำหรับพัฒนามัลแวร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเราตกเป็นเหยื่อของ Ransomware จริงๆ คงตอบได้ยาก แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าพอจ่ายค่าไถ่แล้วจะได้ข้อมูลคืน
ดังนั้น วิธีการที่ดึที่สุดในการรับมือกับ Ransomware คือ การป้องกันไว้ก่อน โดยเฉพาะการสำรองข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
ที่มา: techtalkthai March 4, 2017
ลิงค์ : https://www.techtalkthai.com/best-practices-for-lowering-ransomare-risk/