รายการ “File on Four” ของสถานีวิทยุบีบีซี เรดิโอ 4 แฉ พลเมืองในสหราชอาณาจักรหลายพันคนซื้อ “ปริญญาปลอม” จากบริษัทต้มตุ๋นในปากีสถาน ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจหลายล้านปอนด์
“เอแซค” (Axact) ซึ่งอ้างตนว่าเป็น “บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ทำธุรกิจสร้างมหาวิทยาลัยออนไลน์ปลอมหลายร้อยแห่ง ซึ่งดำเนินการโดย พนักงานคอลเซนเตอร์ในนครการาจี ในปากีสถาน
รายการ “File on Four” รายงานว่า ระหว่างปี 2013-2014 ลูกค้าในสหราชอาณาจักรซื้อใบปริญญาปลอมมากกว่า 3 พันใบ ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก
บริษัทดังกล่าวบริหารจัดการมหาวิทยาลัยปลอม เช่น “มหาวิทยาลัยบรูคลิน พาร์ค”, “มหาวิทยาลัยนิกสัน” โดยในเว็บไซต์มีรูปนักศึกษาวิทยาลัยยิ้มแย้ม และมีแม้กระทั่งบทความปลอม ๆ ที่เขียนเยินยอสถาบัน
ผู้ที่ซื้อปริญญาดังกล่าวมีตั้งแต่พนักงานของบริษัทจัดซื้อจัดจ้างอาวุธและยุทธภัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของ สหราชอาณาจักร (NHS) ไม่ว่าจะเป็น อายุรแพทย์ จักษุแพทย์ จิตแพทย์ และพยาบาล
แพทย์รายหนึ่งที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในลอนดอนซื้อปริญญาตรีด้านอายุรศาสตร์จากสถาบันเถื่อนในนาม “มหาวิทยาลัยเบลฟอร์ด” ในขณะที่แพทย์อีกคนหนึ่งบอกว่าเขาซื้อปริญญาด้านการจัดการโรงพยาบาล แต่บอกว่าไม่ได้ใช้ใบวุฒิการศึกษานี้ในสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่มีคุณวุฒิที่เหมาะสมสำหรับวิชาชีพทางการแพทย์
ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น
แพทยสภาอังกฤษ ระบุว่า เป็นเรื่องของผู้ว่าจ้างที่ต้องตรวจสอบใบวุฒิการศึกษาของพนักงานที่นอกเหนือไปจากปริญญาด้านการแพทย์
เจน โรว์ลีย์ ประธานบริหารขององค์กรตรวจสอบปริญญาระดับการศึกษาขั้นสูง (Higher Education Degree Datacheck) บอกว่า มีนายจ้างในสหราชอาณาจักรเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ตรวจสอบคุณวุฒิของผู้สมัครงานอย่างถี่ถ้วน เธอบอกว่า แพทยสภาอังกฤษพูดถูกแล้วที่แพทย์สามารถประกอบอาชีพได้หากพวกเขามีปริญญาด้านการแพทย์ แต่การซื้อปริญญาอื่นที่เป็นของปลอมเป็นการฉ้อโกงและพวกเขาก็อาจถถูกดำเนินคดีได้
กฎหมายของสหราชอาณาจักรไม่ถือว่าการซื้อปริญญาปลอมเป็นความผิด แต่การใช้เอกสารดังกล่าวในการสมัครงาน ถือเป็นการฉ้อโกง โดยการบิดเบือนความจริง และมีโทษจำคุกถึง 10 ปี
เมื่อปี 2015 เอแซคขายหนังสือรับรองการศึกษาปลอมมากกว่า 2 แสนใบทั่วโลก โดยให้ผ่านมหาวิทยาลัยและโรงเรียนปลอมราว 350 แห่ง และทำเงินได้ 51 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.6 พันล้านบาท ในปีนั้น
อัลเลน เอเซล อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ซึ่งสืบสวนเรื่องเอแซคมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 บอกว่า เราอยู่ในโลกที่สังคมให้ความสำคัญกับคุณวุฒิ และตราบใดที่กระดาษใบหนึ่งมีค่า ก็จะมีคนพยายามปลอมแปลงและพิมม์มันออกมาเสมอ
เรื่องใหญ่หลวง
ระหว่างปี 2013-2015 บริษัทจัดซื้อจัดจ้างอาวุธและยุทธภัณฑ์ เอฟบี เฮลิเซอร์วิสเซส (FB Heliservices) ซื้อใบปริญญาปลอมให้กับพนักงานตัวเอง 7 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ 2 คน
ปริญญาปลอมที่ทางบริษัทต้มตุ๋นเสนอให้กับผู้สื่อข่าวบีบีซี
หนึ่งในพนักงานเหล่านั้นบอกกับบีบีซีว่า ซื้อปริญญามาหลังจากได้สัญญาไปทำงานที่เกาะกือราเซาในทะเลแคริบเบียน ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นกำหนดว่า ใครก็ตามที่จะทำงานที่นั่นต้องมีใบปริญญา
ในเวลาต่อมา คอบแฮม บริษัทแม่ของเอฟบี เฮลิเซอร์วิสเซส ออกมาบอกว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทางบริษัทได้จัดการกับประเด็นปัญหานั้นแล้ว และบอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการดำเนินการของบริษัทแต่อย่างใด
บทความเปิดโปงโดย นสพ.นิวยอร์กไทมส์ เมื่อปี 2015 ทำให้ประธานบริหารของเอแซคถูกจับกุมและทำให้ทางการปากีสถานเริ่มต้นการสืบสวน นายอูมาร์ ฮามิด ผู้จัดการอาวุโสของบริษัทถูกตัดสินจำคุก 21 เดือนในสหรัฐฯ เมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การสืบสวนโดยทางการปากีสถานก็ยุติลงท่ามกลางข้อกล่าวหาคอร์รัปชันของรัฐบาล
อัลเลน เอเซล บอกว่า เอแซคยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป และสร้างมหาวิทยาลัยออนไลน์ปลอมขึ้นใหม่ตลอดเวลา และถึงขั้นเริ่มมีการกรรโชกทรัพย์โดยขู่ว่าจะเปิดโปงความลับแล้ว
เซซิล ฮอร์นเนอร์ วิศวรกรชาวอังกฤษที่เคยทำงานอยู่ซาอุดีอาระเบียถูกโทรศัพท์มาข่มขู่แม้กระทั่งหลังจากเขาจ่ายเงินเกือบ 5 แสนปอนด์ หรือราว 22 ล้านบาท เพื่อให้ได้เอกสารปลอมมา นายฮอร์นเนอร์เสียชีวิตเมื่อปี 2015 และลูกชายของเขาเชื่อว่า พ่อซื้อปริญญาเพราะว่ากลัวจะตกงาน
Action Fraud ศูนย์แจ้งอาชญากรรมทางไซเบอร์ของสหราชอาณาจักรระบุว่า ไม่มีอำนาจที่จะปิดเว็บไซต์ปลอมของเอแซค และต้องให้ข้อมูลหลักฐานกับผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนเว็บไซต์แทน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน
โฆษกกระทรวงศึกษาธิการสหราชอาณาจักรระบุว่า การโกงปริญญาเป็นการเอาเปรียบทั้งผู้ที่ตั้งใจศึกษาหาความรู้จริง ๆ และผู้ว่าจ้าง และได้เริ่มลงมือปราบปราบผู้ที่หาประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้แล้ว
บีบีซีพยายามขอสัมภาษณ์เอแซค แต่ไม่มีการตอบรับแต่อย่างใด
—————————————————————————————
ที่มา : BBC Thai / 16 มกราคม 2018
Link : http://www.bbc.com/thai/international-42704774