IN FOCUS
- การส่งพัสดุระเบิดของเขากินเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 17 ปี และนับเป็นการติดตามหาตัวคนร้ายที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อาชญากรรมของสหรัฐอเมริกา
- ที่ฮาร์เวิร์ด คาซินสกีเข้าร่วมการทดลองของเฮนรี เมอร์เรย์ (Henry Murray) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ที่ทดลองเทคนิค OSS หรือการควบคุมความคิด สำหรับหน่วยงานของซีไอเอ ผลจากการทดลองนี้เองที่ทำให้เท็ดเกิดความคิดเกี่ยวกับการโจมตีและการก่อการร้าย
- คาซินสกีเลือกเหยื่อของเขาแบบไม่ตั้งใจ สำหรับเขาแล้ว มันคือสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตที่ใช้เทคโนโลยีในการทำลายความสงบสุขของสังคม
- คดีฆาตกรรมของคาซินสกีมีโทษถึงประหารชีวิต ครอบครัวของเขาให้ข่าวกับสื่อว่า เป็นเพราะสภาพจิตของเขาไม่ปกติ จิตแพทย์คนหนึ่งตรวจและพบอาการโรคจิตเภทแบบหวาดระแวง
สายตาของเขาเหม่อลอย ระหว่างที่ภรรยาของผู้ตายซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อสังหารของเขาเอ่ยปากถาม “คุณชอบหรือที่จะมีใครขโมยความเป็นไปได้ในการมองเห็นแสงเดือน แสงตะวัน หรือความงดงามของธรรมชาติจากคุณไปตลอดชีวิตที่เหลือ”
ก่อนที่ผู้พิพากษาจะประกาศคำตัดสินในวันที่ 4 พฤษภาคม 1998 ลงโทษจำคุก เธโอดอร์ จอห์น คาซินสกี (Theodore John Kaczynski) หรือที่ผู้คนรู้จักกันในชื่อ ‘ยูนาบอมเมอร์’ (Unabomber) ตลอดชีวิตถึง 8 ครั้ง และให้คุมขังไว้ในเรือนจำซึ่งมีการดูแลความปลอดภัยขั้นสูงสุด
นับแต่นั้น คาซินสกีต้องไปชดใช้กรรมความผิดที่ เอดีเอ็กซ์ ฟลอเรนซ์ ในรัฐโคโลราโด ที่ซึ่งจัดเป็นเรือนจำที่มีมาตรการควบคุมนักโทษที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ห้องขังของเขามีความกว้างขนาด 3.60 x 3.60 เมตร หรือขนาดใกล้เคียงกับกระท่อมที่เขาใช้เป็นสถานที่ประดิษฐ์ระเบิด
เท็ด คาซินสกี เริ่มประดิษฐ์พัสดุบรรจุระเบิดที่กระท่อมในป่าเขตรัฐมอนทานาตั้งแต่ปี 1978 และจัดส่งไปทั่วประเทศ ระเบิดของเขาคร่าชีวิตเหยื่อไป 3 ราย บาดเจ็บอีก 23 คน ส่วนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส
การส่งพัสดุระเบิดของเขากินเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 17 ปี และนับเป็นการติดตามหาตัวคนร้ายที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อาชญากรรมของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป้าหมายระเบิดครั้งแรกเขามุ่งไปที่มหาวิทยาลัยและสายการบิน เจ้าหน้าที่สืบสวนจึงตั้งฉายาเขาว่า ‘ยูนาบอมเมอร์’ จากอักษรตัวแรกของเป้าหมายระเบิด
คาซินสกีเลือกเหยื่อของเขาแบบไม่ตั้งใจ สำหรับเขาแล้ว มันคือสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตที่ใช้เทคโนโลยีในการทำลายความสงบสุขของสังคม
คาซินสกีเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 1942 ในชิคาโก มีอาการช็อกภาวะภูมิแพ้รุนแรงเมื่ออายุได้เพียง 9 เดือน แพทย์ต้องพรากทารกน้อยจากอ้อมอกพ่อแม่เพื่อบำบัดรักษาอย่างโดดเดี่ยว แวนดา (Wanda) แม่ของเขามีอาการฝันร้ายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น และต่อมา กลายเป็นปมให้เท็ด – ลูกชายเกิดความรู้สึกหวาดกลัวสังคม ทั้งที่เขามีแววเป็นเด็กฉลาดตั้งแต่วัยเยาว์ ไอคิวของเขาอยู่ในระดับ 167 และสามารถเรียนข้ามชั้นเมื่อตอนอยู่เกรด 6 และเกรด 11
ด้วยความเป็นเด็กร่วมชั้นที่อายุอ่อนกว่า สภาพร่างกายไม่ทัดเทียมเพื่อนคนอื่น ทำให้เท็ดตกที่นั่งเป็น ‘เด็กนอกคอก’ อีกครั้ง ตอนอายุ 16 ปีเขาเลือกเรียนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปไกลถึง 1,500 กิโลเมตร แต่เป็นเรื่องที่พ่อของเขาภาคภูมิใจมาก
ที่ฮาร์เวิร์ด คาซินสกีเข้าร่วมการทดลองของเฮนรี เมอร์เรย์ (Henry Murray) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ที่ทดลองเทคนิค OSS หรือการควบคุมความคิด สำหรับหน่วยงานของซีไอเอ ผลจากการทดลองนี้เองที่ทำให้เท็ดเกิดความคิดเกี่ยวกับการโจมตีและการก่อการร้าย แต่ผลลัพธ์ภายหลังการทดลองของเมอร์เรย์ถูกเก็บงำไว้ตราบถึงทุกวันนี้ จะเป็นที่รับรู้กันก็เพียงรหัสลับของคาซินสกี นั่นคือ ‘Lawful’-ซื่อสัตย์ต่อกฎหมาย
ปี 1962 เท็ด คาซินสกีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน หลังจากนั้น หนุ่มวัย 25 ปีก็ได้ตำแหน่งงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ แต่เขาทำงานได้เพียงสองปีก็ยื่นใบลาออก และย้ายกลับไปอยู่ที่เมืองลอมบาร์ด รัฐอิลลินอยส์ ใกล้บ้านพ่อแม่
ไม่ช้า เขาเข้าทำงานร่วมกับเดวิด (David) น้องชายซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานแห่งหนึ่ง และตกหลุมรักหญิงสาวซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน แต่เมื่อสาวปฏิเสธ เขาจึงเขียนบทกวีด่าทอเธอไปปิดไว้ตามผนังของโรงงาน และไม่ยอมหยุดการกระทำ เดวิดจึงต้องขอให้พี่ชายของตนออกจากงาน หลังจากนั้นเท็ด คาซินสกีก็เริ่มรู้สึกแตกแยกกับสังคม
ตั้งแต่ปี 1971 เขาย้ายเข้าไปอยู่ในกระท่อมขนาด 3 x 3.50 เมตรที่เขาสร้างเองในป่าเขตรัฐมอนทานา ที่นั่นไม่มีทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา ความเกลียดชังสังคมของเขาเริ่มก่อตัว จนถึงขั้นประทุเป็นความรุนแรง
“ผมขอย้ำว่า แรงจูงใจทั้งหมดของผมมาจากความแค้นส่วนตัว ผมไม่ได้อำพรางด้วยเหตุผลด้านปรัชญาหรือคุณธรรมใดๆ ทั้งสิ้น” เขาเขียนลงในสมุดบันทึกเมื่อปี 1977 “เป้าหมายของผมก็คือ การฆ่านักวิชาการ นักธุรกิจคนสำคัญ เจ้าหน้าที่รัฐบาล หรือบุคคลใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นผมยังอยากฆ่าคอมมิวนิสต์สักคนหนึ่งด้วย”
ระเบิดชุดแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1978 ในอาคารของมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์เทิร์น เมืองอีแวนสตัน รัฐอิลลินอยส์ มีตำรวจนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บเป็นแผลรอยบาดและไฟไหม้ ราวหนึ่งปีต่อมา มีนักศึกษาคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากแรงระเบิด คาซินสกีนำระเบิดไปวางที่มหาวิทยาลัยในบ้านเกิดที่เขาแทบไม่เคยไปเยือน และนั่นเป็นการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวครั้งสุดท้ายของเขา หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับครอบครัวก็มีแต่ความบาดหมาง เพราะนอกจากใครอื่นแล้ว เขายังโทษพ่อแม่ของเขาเองด้วยที่ทำให้เขากลายเป็นกลัวสังคม
ไม่ช้า เขาก็ทำให้คนทั้งประเทศหวาดกลัว การระเบิดบนเครื่องบินลำหนึ่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1979 ทำให้เกิดควันกระจายรุนแรงจนกัปตันต้องนำเครื่องบินลงจอดฉุกเฉิน ในปีต่อๆ มา คาซินสกียังส่งระเบิดไปให้ประธานบริษัทของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส มหาวิทยาลัยยูทาห์ แวนเดอร์บิลต์ เบิร์กลีย์ และมิชิแกน รวมถึงบริษัทโบอิง เจ้าหน้าที่เอฟบีไอไม่สามารถหาความเชื่อมโยงของเหยื่อระเบิดได้ อีกทั้งคาซินสกีจงใจส่งระเบิดของเขาแบบสะเปะสะปะ และทิ้งร่องรอยให้คนตรวจสอบไขว้เขว
ปี 1985 ระเบิดที่ซุกซ่อนไว้ในท่อนไม้ก็คร่าชีวิต ฮิวจ์ สครุตตัน (Hugh Scrutton) เจ้าของร้านขายคอมพิวเตอร์ในเมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย “หนังสือพิมพ์บีของซาคราเมนโตรายงานว่าเจ้าของร้านเสียชีวิต ความว่า…สภาพร่างกายแหลกเหลว วันที่ 12 ธันวาคม สุดยอด เขาคงไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร มีการตั้งรางวัลนำจับ 25,000 ดอลลาร์ ฟังดูขี้ประจบชะมัด” คาซินสกีเขียนลงในสมุดบันทึก
เดือนกุมภาพันธ์ 1987 เขาวางระเบิดลูกถัดมาใกล้กับร้านคอมพิวเตอร์อีกแห่งหนึ่ง ทำให้เจ้าของร้านได้รับบาดเจ็บสาหัส คราวนี้มีพยานเห็นเหตุการณ์ ทำให้มีภาพสเก็ตช์รูปลักษณ์คนร้ายขึ้นมา จนเป็นที่โจษจัน นั่นคือ ชายผู้สวมแจ็กเก็ตมีฮูด และสวมแว่นตากันแดด
เท็ด คาซินสกีพักมือไปราวเจ็ดปี กระทั่งในเดือนมิถุนายน 1993 เขาเริ่มส่งระเบิดอีกครั้ง ในระยะเวลาห่างกันเพียงสองวัน ชุดหนึ่งส่งไปที่ชาร์ลส์ เอปสไตน์ (Charles Epstein) นักวิจัยเรื่องยีน และเดวิด เกเลิร์นเตอร์ (David Gelernter) ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ บุคคลทั้งสองได้รับบาดเจ็บสาหัส
ปีถัดมา โธมัส มอสเซอร์ (Thomas Mosser) ที่ปรึกษามือโปรฯ ถูกระเบิดสังหาร และวันที่ 24 เมษายน 1995 กิลเบิร์ต เบรนต์ เมอร์เรย์ (Gilbert Brent Murray) ล็อบบียิสต์ ก็ถูกระเบิดปลิดชีวิตเช่นกัน นับเป็นครั้งแรกที่มือระเบิด ‘ยูนาบอมเมอร์’ แสดงตัวตนต่อสาธารณะ ภายใต้นามแฝงว่า ‘เอฟซี’ (ฟรีดอม คลับ) เรียกร้องหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส และวอชิงตัน โพสต์ ให้ตีพิมพ์ต้นฉบับ ‘Industrial Society and Its Future’ เพื่อแลกเปลี่ยนด้วยการยุติการส่งระเบิด
“การปฏิวัติอุตสาหกรรมและผลที่ตามมาได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นภัยพิบัติสำหรับมนุษยชาติ” นั่นคือบทเริ่มต้นสาส์นของยูนาบอมเมอร์ คาซินสกีระบุว่า เทคโนโลยีกำลังทำลายเสถียรภาพของสังคม และผลักดันให้ผู้คนเข้าสู่ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ ความก้าวหน้าทางเทคนิคจะทำให้มนุษยชาติถูกกลืนเข้าระบบ ทั้งๆ ที่มันไม่ควรเป็นเช่นนั้น ทางออกที่เขาเสนอก็คือ การหวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ทั้งทนาย อัยการ และเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ต่างมีเห็นพ้องกันว่าควรตีพิมพ์บทความนั้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อาชญากรรมเช่นกันที่ฝ่ายสืบสวนต้องมาวิเคราะห์ภาษาของอาชญากร เพื่อสืบค้นและเทียบเคียงหาประวัติ พวกเขาคาดหวังว่า อาจจะมีใครสักคนที่มักคุ้นกับสไตล์การเขียนของคนร้าย
และแล้วพวกเขาก็ค้นพบได้จริงเสียด้วย นั่นคือน้องสะใภ้-ภรรยาของเดวิด ผู้เป็นน้องชาย ด้วยความกลัวว่าเท็ดจะส่งระเบิดมาฆ่า แม้จะเก็บงำข้อสงสัยเกี่ยวกับพี่ชายไว้เป็นความลับ แต่ท้ายที่สุดเดวิดก็ติดต่อกับทนายความ ซึ่งมีการแจ้งข่าวต่อไปยังนักสืบ เมื่อเจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ได้มากพอแล้ว วันที่ 3 เมษายน 1996 ก็มีการบุกเข้าจับกุมตัวคาซินสกีที่กระท่อมกลางป่า
คดีฆาตกรรมของคาซินสกีมีโทษถึงประหารชีวิต ครอบครัวของเขาให้ข่าวกับสื่อว่า สาเหตุเป็นเพราะสภาพจิตของเขาไม่ปกติ จิตแพทย์คนหนึ่งตรวจและพบอาการโรคจิตเภทแบบหวาดระแวง ทีมทนายของเขาวางแผนจะแก้ต่างคดีให้เขาเป็นคนไร้ความสามารถ คาซินสกีพยายามยื่นความจำนงขอเปลี่ยนทีมทนายและจะแก้ต่างด้วยตนเอง แต่ผู้พิพากษาปฏิเสธคำร้อง
เหตุเพราะเขายืนกรานว่า การกระทำของเขานั้นไม่ได้เกิดจากความฟั่นเฟือน ในวันที่ 22 มกราคม 1998 เท็ด คาซินสกีจึงสารภาพผิด และสี่เดือนต่อมาเขาก็ถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต
ระหว่างต้องโทษในเรือนจำพิเศษ เอดีเอ็กซ์ ฟลอเรนซ์ คาซินสกี เขียนจดหมายโต้ตอบกับบุคคลภายนอกราว 400 คน รายชื่อของบุคคลที่สื่อสารทางจดหมายกับเขาจะถูกเก็บไว้เป็นความลับไปจนถึงปี 2049
อ้างอิง:
- https://motherboard.vice.com
- Alston Chase, Harvard and the Unabomber: The Education of an American Terrorist, W W Norton & Co Inc. (2003)
———————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : The Momentum / วันที่ 7 ก.ค.61
ลิงก์ : https://themomentum.co/something-between-unabomber/