กรณีเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อ 11 กันยายน 2544
ตอน 2/3 : ข้อสังเกตเกี่ยวกับท่าอากาศยานต้นทางของแต่ละเที่ยวบินและเครื่องบินที่ถูกปล้นยึด
การเปิดเผยข่าวสารโดยสื่อมวลชนในภายหลังเชื่อได้ว่า กลุ่มคนร้ายนำอาวุธและอุปกรณ์ป้องกันตัวขึ้นไปบนเครื่องบินโดยสาร ได้แก่ สเปรย์พริกไทย (Oleoresin Capsicum spray/OC spray) หรือแก๊ซน้ำตา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ผู้โดยสารในเหตุการณ์ส่งผ่านโทรศัพท์จากบริการแอร์โฟนเคบินและโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า การปล้นยึดเครื่องบินแต่ละลำ มีคนร้ายปฏิบัติการหลายคน ใช้สเปรย์พริกไทยหรือแก๊ซน้ำตาเป็นอาวุธ ทั้งยังทำร้ายผู้ที่อยู่ในเครื่องบินด้วยการแทง ซึ่งตามรายงานของคณะทำงานเพื่อพิสูจน์ทราบกรณี 9/11 ระบุว่า คนร้ายสังหารนักบิน พนักงานต้อนรับประจำเครื่อง และผู้โดยสารด้วยการแทง จึงประเมินว่า คนร้ายจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัว มีด และใบมีดติดตัวขึ้นไปบนเครื่องบิน เพราะช่วงเวลานั้นอุปกรณ์ป้องกันตัวยังไม่ถือเป็นสิ่งต้องห้าม สามารถพกพาระหว่างโดยสารเครื่องบินได้
ในส่วนข้อมูลจากพนักงานต้อนรับประจำเที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ ผู้โดยสารเที่ยวบินที่ 175 และเที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ต่างแจ้งว่าคนร้ายมีระเบิด ขณะที่ผู้โดยสารบางคนเห็นว่า ระเบิดเป็นของปลอม ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ปรากฎในรายงานของสำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation, FBI) ไม่พบร่องรอยวัตถุระเบิดหรือสารระเบิดในบริเวณที่เครื่องบินตก คณะทำงานเพื่อพิสูจน์ทราบกรณี 9/11 จึงสรุปว่า วัตถุระเบิดที่ใช้ปล้นยึดเครื่องบินอาจเป็นของปลอม ส่วนกรณีที่คนร้ายสามารถบุกรุกเข้าไปในห้องนักบิน (cockpit) เพราะขณะนั้นยังไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาเหมือนปัจจุบัน ฉะนั้นการเข้าไปสังหารนักบินและนำเครื่องบินมาเป็นอุปกรณ์สำหรับก่อวินาศกรรมแบบพลีชีพ จึงนับเป็นกรณีเหนือความคาดหมายที่ไม่สามารถดำเนินการป้องกันได้
อีกสาเหตุหนึ่งที่ควรพิจารณาถึง คือ มาตรการรักษาความปลอดภัยภาคพื้นดินของท่าอากาศยานต้นทาง เนื่องจากเที่ยวบินที่เกิดเหตุทั้งหมดเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ จึงควรประเมินถึงการตรวจค้นตัวผู้โดยสาร ณ ขณะนั้นไม่น่าจะเข้มงวด เพราะช่วงก่อนเกิดกรณี 9/11 สหรัฐฯ ไม่เคยเผชิญกับความรุนแรงจากปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายต่างชาติในดินแดนของตน การปล้นยึดเครื่องบินโดยสารที่เคยเกิดขึ้น ส่วนใหญ่มักเป็นปฏิบัติการของคนร้ายด้วยมีด ปืนพก หรือวัตถุระเบิดปลอมที่ซ่อนพรางขึ้นไป และคนร้ายมักตั้งข้อเรียกร้องต่อสายการบินและทางการสหรัฐฯ ให้ตนได้เดินทางออกจากดินแดนสหรัฐฯ พร้อมเงินค่าไถ่ จะเห็นได้จาก ระหว่างปี 2504 – 2534 เหตุปล้นยึดเครื่องบินโดยสารของสายการบินต่างๆ ในสหรัฐฯ ทั้งเที่ยวบินภายในและระหว่างประเทศ เกิดขึ้น 26 ครั้ง ในลักษณะของอาชญากรรมมิใช่การก่อการร้าย ยกเว้นการปล้นยึดของกลุ่ม Black Liberation Army เมื่อปี 2515 ที่มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง สาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนผิวดำนอกกฎหมาย ที่ต้องการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำและต่อต้านรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับมาตรการแก้ไขและปราบปรามการปล้นยึดเครื่องบินโดยสารของทางการสหรัฐฯ เท่าที่ปรากฎนั้น ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก ขั้นตอนแรกเป็นการเจรจาต่อรองและเกลี้ยกล่อมคนร้าย ขั้นตอนต่อมามักเป็นการส่งกลุ่มเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสอบสวนกลางปะปนกับพนักงานท่าอากาศยานที่เข้าไปบริการในช่วงเวลาเครื่องบินที่ถูกปล้นยึดลงจอดพัก เพื่อเติมเชื้อเพลิง เมื่อสบโอกาส กลุ่มเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะเข้าทำการจับกุมหรือวิสามัญฆาตรกรรมคนร้าย ซึ่งจะเห็นจากขณะเกิดเหตุ บรรดาตัวประกันที่ประกอบด้วยผู้โดยสารและพนักงานประจำเครื่องบินจะอยู่อย่างสงบจนกว่าทางการสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยไม่ค่อยปรากฎข่าวสารตัวประกันต่อต้านคนร้าย ฉะนั้น เมื่อเกิดกรณี 9/11 ผู้ที่เผชิญเหตุจึงไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน ทั้งน่าจะปราศจากความคิดว่าเป็นการก่อการร้ายแบบพลีชีพ จนกระทั่งได้รับข่าวสารในภายหลัง ที่อาจทำให้ผู้โดยสารเที่ยวบินที่ 93 สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ รวมตัวกันต่อสู้กับกลุ่มคนร้ายจนเครื่องบินโดยสารเที่ยวบินนี้ตกก่อนถึงเป้าหมายที่จะทำลายตามข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอไว้
เกี่ยวกับข่าวสารการรักษาความปลอดภัยสถานที่ของท่าอากาศยานนานาชาติเจเนอรัล เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ โลแกน (General Edward Lawrence Logan International Airport) ซึ่งเป็นท่าอากาศยานต้นทางของเที่ยวบินที่ 11 สายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ และเที่ยวบินที่ 175 สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นเครื่องที่พุ่งชนอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ นั้น เท่าที่เคยปรากฎรายงานในช่วงเวลาก่อนกรณี 9/11 ของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (Federal Aviation Administration, FAA) สหรัฐฯ พบการละเมิดมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่าอากาศยานแห่งนี้สูงเป็นลำดับที่ 5 ของสหรัฐฯ อีกทั้งสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติได้ทำการทดสอบวิธีการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานโลแกน โดยปลอมเป็นผู้โดยสารและซ่อนพรางอาวุธกับวัตถุระเบิด (234 guns, inert hand grenades and bombs) ติดตัวเข้าไป ปรากฎว่าสามารถผ่านทั้งการตรวจค้นร่างกายที่จุดตรวจและการตรวจสอบสัมภาระจากเครื่องเอ็กซ์เรย์ด้วย นอกจากนี้ยังเคยใช้วิธีการดังกล่าวทดสอบกับท่าอากาศยานแห่งอื่นด้วย ซึ่งทั้งท่าอากาศยานนานาชาตินูอาร์ก ลิเบอร์ตี (Newark Liberty International Airport) ที่เป็นต้นทางของเที่ยวบินที่ 93 และท่าอากาศยานนานาชาติ วอชิงตัน ดัลเลส ที่เป็นต้นทางของเที่ยวบินที่ 77 ต่างได้รับค่าเฉลี่ยจากการทดสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติในระดับใกล้เคียงกับท่าอากาศยานโลแกน
นอกจากนี้ เมื่อศึกษาข้อมูลการรักษาความปลอดภัยอื่นที่น่าจะเชื่อมโยงถึงกรณี 9/11 ได้แก่ บริษัท Stratesec Incorporated ที่เกี่ยวข้องกับบางกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากกรณี 9/11 เนื่องจากบริษัทนี้รับผิดชอบในการจัดทำ “security-description plan” ซึ่งเป็นแผนผังระบบการรักษาความปลอดภัยด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ และท่าอากาศยาน นานาชาติ วอชิงตัน ดัลเลส (Washington Dulles International Airport) โดยระหว่างปี 2538-2541 บริษัทดังกล่าวทำหน้าที่จัดเตรียมระบบการรักษาความปลอดภัยด้วยอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ท่าอากาศยานแห่งนี้ รวมถึงการดูแลบำรุงรักษาระบบควบคุมการผ่านเข้าออกบริเวณลานบิน ระบบเฝ้าระวังด้วยกล้องโทรทัศน์วงจรปิด และระบบระบุตัวตนด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ถึงแม้รายงานของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ จะระบุว่า บริษัทนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น แต่มีข้อที่น่าสังเกต ดังนี้
- หากการพังถลายของอาคาร 1 อาคาร 2 และอาคาร 7 ของกลุ่มอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เหมือนกับการพังทลายจากวิธีการรื้อถอนอาคารด้วยวัตถุระเบิดแล้ว การนำวัตถุระเบิดจำนวนมากผ่านมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้าไปติดตั้งในพื้นที่แต่ละอาคารดังกล่าว เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เว้นแต่บริษัทที่ควบคุมดูแลการรักษาความปลอดภัยพื้นที่นั้นให้การสนับสนุน
- ท่าอากาศยานนานาชาติ วอชิงตัน ดัลเลส (Washington Dulles International Airport) เป็นท่าอากาศยานต้นทางของเที่ยวบินที่ 77 ของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ที่ถูกปล้นยึด คนร้ายไม่น่าจะสามารถซ่อนพรางสิ่งที่ใช้เป็นอาวุธ เช่น มีด ใบมีด และผ่านกรรมวิธีตรวจค้นร่างกายของเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานแห่งนี้ขึ้นไปบนเครื่องบินโดยสารได้
ประวัติของบริษัท Stratesec Incorporated เป็นที่น่าสนใจ คือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 ทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยให้กับกลุ่มธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ บริษัทนี้มีสาขาตั้งอยู่ตามเมืองต่างๆ หลายแห่ง และสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ เมื่อ 2 ตุลาคม 2540 และถูกปลดออกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 เนื่องจากปัญหาทางการเงิน อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) ระหว่างปี 2536 – 2543 ของบริษัทนี้ คือ นายมาร์วิน บุช น้องชายประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบุตรของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ร่วมอยู่ โดยในปี 2544 ซึ่งเป็นปีที่เกิดกรณี 9/11 นายมาร์วิน บุช ยังทำหน้าที่รักษาการประธานคณะกรรมการบริษัทนี้อีกด้วย
ข้อมูลประกอบการพิจารณาจาก
BOSTON GLOBE, 9/26/2001
BOSTON HERALD, 9/29/2001
BOSTON GLOBE, 9/30/2001
BOSTON GLOBE, 10/17/2001
Entity Tags: Newark International Airport, Washington Dulles International Airport,Virginia Buckingham, Federal Aviation Administration, Logan International Airport
Timeline Tags: Complete 911 Timeline