สถานการณ์ก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2561
ในห้วงปี 2561 แม้สถานการณ์ก่อการร้ายโดยรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะบรรเทาความรุนแรงลงตามทิศทางสถานการณ์โลก แต่กลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคยังคงเคลื่อนไหวและมีอุดมการณ์เข้มแข็ง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์แบบปิดลับมากขึ้น ทั้งยังคงพบแผนการโจมตีในภูมิภาคทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มก่อการร้ายที่มีความเชื่อมโยงหรือได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม Islamic State (IS) ในห้วงปี 2561 กลุ่มหัวรุนแรงท้องถิ่นซึ่งสวามิภักดิ์กับกลุ่ม IS สามารถก่อเหตุโจมตีสำเร็จในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกัน ยังพบความเคลื่อนไหวของต่างชาติที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มแนวคิดรุนแรง ซึ่งมีทั้งที่ต้องการเข้ามาสู้รบกับกองกำลังท้องถิ่น หรือต้องการใช้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางผ่าน หรือพื้นที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ
การสูญเสียพื้นที่ยึดครองของกลุ่ม IS ในซีเรียและอิรัก ทำให้กลุ่ม IS ให้ความสำคัญกับข่ายงานและผู้สนับสนุนในภูมิภาคอื่นมากขึ้น รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีฟิลิปปินส์เป็นพื้นที่สู้รบ ทำให้ผู้สนับสนุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้สึกฮึกเหิมและมีกำลังใจในการต่อสู้ และยังเป็นการชักชวนทางอ้อมให้นักรบจากภูมิภาคอื่น เข้ามาร่วมต่อสู้ในภูมิภาคด้วย สำหรับกลุ่ม AL-Qaeda (AQ) แม้ความเคลื่อนไหวในระยะหลังจะไม่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สาขาของกลุ่ม AQ หลายกลุ่มในเอเชียยังคงเคลื่อนไหวเข้มแข็ง ขณะที่กลุ่ม AL-Jemaah al-lslamiyah (JI) ในอินโดนีเซียอยู่ในช่วงการรื้อฟื้นศักยภาพของกลุ่ม ซึ่งในระยะยาวกลุ่มต่าง ๆ ยังคงเป็นภัยคุกคามที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป โดยสามารถจับตามองสถานการณ์ในแต่ละประเทศ ดังนี้
อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่น่าห่วงกังวลเรื่องการบ่มเพาะและการเผยแพร่แนวคิดรุนแรงอย่างมาก ในประเทศมีทั้งข่ายงานกลุ่ม IS และกลุ่ม AQ รวมทั้งผู้สนับสนุนและผู้เห็นใจกลุ่มก่อการร้ายทั้งสองขั้วเคลื่อนไหวจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะผันตัวมาเป็นสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงต่อไป
ฟิลิปปินส์ แม้กองกำลังที่สนับนุนกลุ่ม IS ถูกปราบปรามอย่างหนักตั้งแต่เกิดเหตุยึดเมืองมาราวีเมื่อปี 2560 แต่กองกำลังท้องถิ่นยังคงพยายามฟื้นตัวและมีความต้องการจัดตั้งจังหวัดสาขาของ IS ในพื้นที่ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ทั้งยังมีนักรบต่างชาติจำนวนหนึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ เฉพาะอย่างยิ่งชาวอินโดนีเซียและชาวมาเลเซีย
มาเลเซีย นับแต่ปี 2560 ยังไม่ปรากฏเหตุโจมตีรุนแรงในประเทศ เพราะมาเลเซียสามารถสกัดกั้นแผนการก่อเหตุของข่ายงานก่อการร้ายและกลุ่มแนวคิดรุนแรงได้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2561 สามารถสกัดกั้นแผนก่อเหตุได้ไม่น้อยกว่า 18 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งโจมตีต่อกลุ่มชนที่นับถือศาสนาคริสต์และฮินดู
เมียนมา สถานการณ์โรฮีนจาในเมียนมายังคงน่าห่วงกังวลและมีความสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นพื้นที่ดึงดูดนักรบก่อการร้าย นอกจากนี้ ยังทำให้เมียนมาตกเป็นเป้าหมายโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่ม
ไทย ปี 2561 แม้ไม่ปรากฏเหตุรุนแรงจากการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายสากลในไทย แต่ยังคงปรากฏความเคลื่อนไหวของสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายสากล หรือผู้ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มก่อการร้ายในลักษณะอื่น ทั้งนี้ จากรายงานของทั้งรัฐบาลต่างประเทศและสถาบันวิชาการต่างประเทศ ซึ่งประเมินสถานการณ์ก่อการร้ายด้วยการรวบรวมข้อมูลสถิติก่อการร้ายทั่วโลกตลอดปี 2560 พบว่า กล่าวถึงไทยในเชิงบวก และได้รับการประเมินสถานะในลำดับที่ดีขึ้นจากปี 2559 แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไข
แนวโน้มสถานการณ์ก่อการร้ายในปี 2562
แม้ในห้วงปี 2561 ข้อมูลของสถาบันด้านความมั่นคงในต่างประเทศต่างแสดงสถิติการเกิดเหตุที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (ปี 2559-2561) แต่ภัยคุกคามก่อการร้ายยังคงไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากสถานการณ์ก่อการร้าย ยังมีประเด็นเปราะบางอยู่มาก และบางพื้นที่ยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมกันเฝ้าระวัง อย่างใกล้ชิด แนวโน้มสำคัญ ได้แก่
การฟื้นตัวของกลุ่ม IS ที่ยังคงพยายามที่จะรื้อฟื้นความเข้มแข็งและการเคลื่อนไหวของกลุ่ม โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนทั้งจำนวนกองกำลัง เงินทุนสำรอง การสนับสนุนจากจังหวัดสาขา/เครือข่าย และผู้สนับสนุนที่มีอยู่ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก
การก่อเหตุของข่ายงานก่อการร้ายในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะข่ายงานกลุ่ม IS กลุ่มนักรบต่างชาติและนักรบที่ย้ายไปเคลื่อนไหวยังพื้นที่อื่น เพราะเป็นกลุ่มที่มีทักษะการต่อสู้และอาจเข้ามามีบทบาททำให้ความขัดแย้งและการต่อสู้ในพื้นที่ต่าง ๆ รุนแรงและซับซ้อนขึ้นได้
การก่อเหตุโดยผู้ก่อเหตุโดยลำพังหรือกลุ่มขนาดเล็ก ยังคงเป็นปัญหาท้าทายและตรวจสอบได้ยาก
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายในสื่อสังคมออนไลน์ ภายหลังการสูญเสียพื้นที่ทางกายภาพ กลุ่ม IS ให้ความสำคัญและเร่งเคลื่อนไหวเชิงรุกทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่กลุ่มก่อการร้ายศึกษาการทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล และการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบยากขึ้น
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงอื่น ๆ ซึ่งยังมีหลายกลุ่มในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ยังต้องเฝ้าติดตาม
ประเด็นการแพร่ขยายแนวคิดรุนแรง ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และมีพัฒนาการหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเผยแพร่ในมัสยิด การบรรยายธรรม สถาบันการศึกษา และการแพร่ขยายทางสื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยม
————————————————————————
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
25 มกราคม 2562