By Spengler
การที่ประชาคมข่าวครองสหรัฐฯเกิดความระวังตื่นภัยจากเรื่องที่จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านบรอดแบนด์เคลื่อนที่ 5 จี (5G mobile broadband) นั้น มีสาเหตุมาจากภัยคุกคามที่จีนอาจแอบดักจับสัญญาณการสื่อสารเพื่อสอดแนมสืบความลับ น้อยเสียยิ่งกว่าความเป็นไปได้ที่การแอบดักจับสัญญาณการสื่อสารเพื่อสอดแนมสืบความลับกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่แทบเป็นไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ต้องขอบคุณวิทยาการเข้ารหัสลับด้วยเทคโนโลยีควอนคัม (quantum cryptography) ผมได้สนทนาว่าด้วยหัวข้อนี้อยู่หลายครั้งหลายครากับบรรดาแหล่งข่าวทั้งของสหรัฐฯและของจีน แต่อันที่จริงข้อสรุปเช่นนี้มีปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในพวกแหล่งข้อมูลข่าวสารสาธารณะอยู่แล้ว
ประชาคมข่าวกรองของอเมริกา ใช้จ่ายงบประมาณปีละเกือบๆ 80,000 ล้านดอลลาร์ [1] โดยยอดนี้ครอบคลุมทั้งจำนวนราว 57,000 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Program) และ 20,000 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการข่าวกรองทหาร (Military Intelligence Program) ทั้งนี้การข่าวกรองด้านสัญญาณการสื่อสาร (Signals intelligence ใช้อักษรย่อว่า SIGINT) ซึ่งงานหลักคือการสืบความลับด้วยการแอบดักจับสัญญาณการสื่อสารนั้น เป็นด้านซึ่งได้รับงบประมาณส่วนใหญ่ไป โดยที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency) [2] นอกเหนือจากปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ แล้ว งานสำคัญคือการบันทึกรายการพูดคุยโทรศัพท์และการรับส่งข้อความเป็นตัวอักษรของคนอเมริกัน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 500 ล้านครั้งในปี 2017 หลังจากถูกสหภาพสิทธิเสรีภาพประชาชนอเมริกัน (American Civil Liberties Union) ฟ้องร้องโดยอ้างอิงอำนาจตามรัฐบัญญัติ เสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Act) สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติได้ตอบสนองด้วยการยอมรับ –เป็นครั้งที่สอง— ว่าตนเองมีการแอบดักจับสัญญาณการสื่อสารของชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง [3] ความสามารถของหน่วยงานจารกรรมรายนี้ในการแอบดักฟังเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ของพวกที่ทำท่าว่าอาจเป็นผู้ก่อการร้าย, พวกผู้นำต่างประเทศอย่างเช่น นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี[4], และกระทั่งใครคนไหนก็ตามที่หน่วยงานนี้ต้องการ คือแหล่งที่มาแห่งอำนาจอันมากมายมหาศาล ตลอดจนเป็นเหตุผลความชอบธรรมซึ่งทำให้สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติยังคงได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้กำลังจะถึงจุดอวสาน และหน่วยงานจารกรรมเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องหางานอะไรอย่างอื่นทำเสียแล้ว เรื่องนี้นี่เองที่มีความสำคัญเป็นอันมากกับสงครามเทคโนโลยีที่กำลังเริ่มต้นขึ้นมาระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
พวกหน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯโต้แย้งโดยอ้างเหตุผลว่า ถ้าหัวเว่ย กิจการแชมเปี้ยนระดับชาติของจีน กลายเป็นผู้ครอบงำมีบทบาทเหนือล้ำยิ่งกว่ารายอื่นๆ ในการติดตั้งบรอดแบนด์เคลื่อนที่ 5 จี หัวเว่ยก็จะสามารถสร้าง “ประตูหลัง” เข้าไปในฮาร์ดแวร์ของตน เพื่อโจรกรรมข้อมูลข่าวสาร และบางทีในกรณีที่เกิดการขัดแย้งสู้รบขึ้นมา อาจจะกระทั่งก่อวินาศกรรมบ่อนทำลายการสื่อสารและเครือข่ายควบคุมต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรม ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯยังข่มขู่เหล่าชาติพันธมิตรของตนว่าจะถูกตัดลดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันทางด้านข่าวกรองถ้าหากพวกเขาขืนใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ ยังไม่มีประเทศใดเลยยกเว้นญี่ปุ่น ซึ่งยินยอมกระทำตามความต้องการของฝ่ายอเมริกัน หัวเว่ยนั้นปฏิเสธเสียงแข็งว่าตนเองไม่ได้มีศักยภาพตลอดจนไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะโจรกรรมข้อมูล ทว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ประเภทนี้ย่อมเป็นเรื่องยากลำบากที่จะพิสูจน์ให้เห็นกันชัดๆ ได้ว่าไม่เป็นความจริง
“ประเด็นปัญหานี้กำลังมาถึงจุดที่ว่า เป็นฝ่ายเราที่ได้ข้อมูลของทุกๆ คน หรือว่าเป็นฝ่ายจีนที่ได้ข้อมูลของทุกๆ คน” อดีตผู้อำนวยการคนหนึ่งของสำนักงานข่าวกรองกลางแห่งชาติ (Central Intelligence Agency ใช้อักษรย่อว่า CIA) บอกผมเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ผมนั้นไม่คิดว่านี่เป็นประเด็นปัญหาอะไรเอาเลย เนื่องจากเวลานี้ปรากฏเทคโนโลยีมากกว่า 1 ชนิด ซึ่งจะทำให้การแอบดักจับสัญญาณการสื่อสารกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ –ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้การแอบดักจับสัญญาณการสื่อสารทำได้อย่างยากลำบากมากหรือมีราคาแพงมาก หากแต่ทำให้มันอยู่นอกปริมณฑลของความเป็นไปได้ในทางกายภาพกันเลยทีเดียว
รูปแบบสูงสุดของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางข้อมูล คือ การสื่อสารด้วยเทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้กฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ที่มีจีนเป็นผู้บุกเบิกริเริ่มขึ้นมา [5] เมื่อ 2 ปีก่อนคณะนักวิทยาศาสตร์จีนได้ติดต่อสื่อสารแบบวิดีโอคอลล์กับพวกเพื่อนร่วมงานในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยสร้างสัญญาณด้วยการพัวพันอะตอม (entangling atoms) ซึ่งอยู่ห่างกันครึ่งโลก ระบบเช่นนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่การสื่อสารจะไม่ถูกแอบดักจับสัญญาณ เพราะการแทรกแซงจากภายนอกใดๆ ก็ตามจะกลายเป็นทำลายตัวสัญญาณเองทีเดียว มันคล้ายๆ กับจดหมายที่จะสลายตัวไปในทันทีที่สายตาของคุณเคลื่อนผ่านมันไป การประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ของเทคโนโลยีนี้น่าจะไม่ใช่สิ่งที่อยู่ห่างไกลเกินไปนัก ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อปี 2018 หัวเว่ยได้ดำเนินการทดลองภาคสนาม [6] เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของการรับส่งข้อมูลในเครือข่ายออปติก โดยทดลองร่วมกับ เตเลโฟนิกา (Telefónica) บริษัทโทรศัพท์ของสเปน
อย่างที่หัวเว่ยได้เขียนเอาไว้ในเวลานั้น ดังนี้:
“การเติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในเรื่องศักยภาพของการคำนวณ (computational capacity) ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มพูนขึ้นอย่างสม่ำเสมอในเรื่องขนาดของคีย์ (key sizes) และ ในเรื่องความซับซ้อนของ คีย์ เจเนอเรชั่น อัลกอริธึมส์ (key generation algorithms) แต่เทคนิคต่างๆ เหล่านี้อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว จากความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์ควอนตัม ซึ่งสามารถที่จะนำเอาหลักการต่างๆ ของกลศาสตร์ควอนตัม (quantum mechanics) มาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้มองกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขได้ โดยรวมไปถึงการไขคีย์ต่างๆ ที่เคยใช้กันอยู่ด้วยวิธีการต่างๆ ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จึงกำลังทำให้โครงสร้างความมั่นคงปลอดภัยของเราแทบทั้งหมดกลายเป็นสิ่งที่ใช้การไม่ได้ … เทคโนโลยีต่างๆ ทางควอนตัมโดยตัวมันเองสามารถเสนอหนทางแก้ไขให้แก่จุดอ่อนเปราะของพวกวิธีการเข้ารหัสลับ คีย์ เจเนอเรชั่น ในปัจจุบัน หลักการต่างๆ ทางควอนตัมสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ปลายทางทั้งสองข้างของการต่อเชื่อมกันเพื่อการสื่อสาร สามารถแลกเปลี่ยนแบ่งปันคีย์ตัวหนึ่งๆ โดยที่คีย์ตัวนี้จะยังคงมีความมั่นคงปลอดภัยไม่ว่าจะถูกโจมตีอย่างไรก็ตามที เวลาเดียวกัน ความพยายามที่จะเข้าโจมตีใดๆ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่สามารถติดตามตรวจพบได้”
ยังมีกลุ่มวิจัยอื่นๆ อีกจำนวนมากที่กำลังทำงานเรื่องการนำเอ วิทยาการเข้ารหัสลับด้วยเทคโนโลยีควอนตัม มาประยุกต์ใช้กับบรอดแบนด์ 5 จี เป็นต้นว่า ทีมนักฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) [7], เอสเค เทเลคอม (SK Telecom) [8], และ โตชิบา รีเสิร์ช (Toshiba Research) [9] เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเทคโนโลยีนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นไปได้ในการทดสอบภาคสนามตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว การนำมันมาประยุกต์ใช้ในฐานะเป็นหนทางแก้ไขทั่วไปสำหรับปัญหาต่างๆ ของวิทยาการเข้ารหัสลับ จึงไม่ควรที่จะต้องใช้ระยะเวลายาวนานต่อไปอีกเท่าใดนัก
วัตถุประสงค์ของจีนนั้นไม่ใช่เพื่อโจรกรรมข้อมูลของทั่วโลก (ถึงแม้พวกหน่วยงานข่าวกรองของจีน ย่อมน่าที่จะแอบฉกเอาสิ่งที่พวกเขาสามารถฉวยโอกาสกระทำได้) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จีนกลับมีความต้องการที่จะเข้าครอบงำการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการติดต่อสื่อสารของโลก ตลอดจนการอัปเกรดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต, การเชื่อมโยงการติดต่อสื่อสารนี้เข้ากับกระบวนการทางพาณิชย์ของจีน (โดยผ่าน อี-คอมเมิร์ช, อี-ไฟแนนซ์, และหนทางอื่นๆ), เข้ากับเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมของจีน (โดยผ่าน อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง Internet of Things), เข้ากับการเงินของจีน และโลจิสติกส์ของจีน คำเตือนทั้งหลายของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ [10] เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า หัวเว่ย มีความสัมพันธ์โยงใยอยู่กับรัฐจีนนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแน่ๆ ถ้าหากจะพิจารณากันอย่างเคร่งครัดเข้มงวดแล้วก็ต้องบอกว่า พวกผู้ผลิตอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคมรายสำคัญทุกๆ ราย ต่างมีความร่วมมือกับหน่วยงานข่าวกรองแห่งชาติของพวกเขากันทั้งนั้น อย่างที่ บริษัทซิสโก (Cisco) [11] ของอเมริกา มีอยู่กับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ นั่นแหละ
เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปสู่ข้อสรุปที่ว่า พวกหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯกำลังพิทักษ์ปกป้องอาณาจักร SIGINT ของพวกตน โดยที่ไม่ได้ใส่ใจพิจารณาถึงผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯเอาเสียเลย พวกที่มีแนวคิดสายเหยี่ยวต่อต้านจีน อย่างเช่น วุฒิสมาชิก มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio สังกัดพรรครีพับลิกัน จากรัฐฟลอริดา) และ มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney สังกัดพรรครีพับลิกัน จากรัฐยูทาห์) ต่างกำลังเรียกร้องให้ทรัมป์ยังคงคำสั่งที่ห้ามไม่ให้จำหน่ายแลกเปลี่ยนแบ่งปันชื้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ของอเมริกันให้แก่หัวเว่ย แต่ถ้าหากดำเนินการไปตามแนวทางนี้แล้ว มันกลับน่าจะสร้างผลต่อเนื่องในทางร้ายสำหรับผลประโยชน์ของอเมริกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนเตะตาตัวอย่างหนึ่งก็คือ การข่มขู่คุกคามที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้ หัวเว่ย สามารถเข้าถึงการอัปเกรดของระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” ของกูเกิล ซึ่งใช้อยู่ในเครื่องโทรศัพท์มือถือของหัวเว่ย ทั้งนี้ สิ่งที่หัวเว่ยจะทำเพื่อตอบโต้ก็คือ บริษัทนี้จะนำเอาระบบปฏิบัติการเคลื่อนที่ของตนเองออกมาใช้เพื่อแข่งขันกับแอนดรอยด์ ระบบปฏิบัติการดังกล่าวนี้ได้มีการพัฒนามานานแล้ว และการตัดสินใจที่จะเปิดตัวระบบที่จะเป็นทางเลือกแทนแอนดรอยด์นี้ ได้รับการเร่งตัวให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในเมื่อลู่ทางแนวโน้มส่อแสดงให้เห็นว่าอเมริกาจะยังคงสั่งห้ามการส่งออกให้แก่หัวเว่ย
developers to rewrite most of the 1.7 million native Android apps for its own operating system
ประเทศจีนนั้นซื้อเโทรศัพท์มือถือกันกันปีละ 400 ล้านเครื่อง และขนาดตลาดของแดนมังกรใหญ่โตเพียงพอที่จะโน้มน้าวให้พวกดีเวลอปเปอร์ทั้งหลายยินดีนำเอาแอปป์ส่วนใหญ่จาก 1.7 ล้านแอปป์ซึ่งเขียนขึ้นสำหรับใช้กับแอนดรอยด์มาตั้งแต่แรก มาปรับปรุงรีไรต์ใหม่เพื่อให้สามารถใช้กับระบบปฏิบัติการของหัวเว่ยเอง เมื่อมาถึงจุดนั้น บรรดาผู้บริโภคทั่วโลกก็จะสามารถเลือกเอาว่าจะใช้ระบบของกูเกิลหรือระบบของหัวเว่ย โดยที่ไม่มีความเสียหายในเรื่องความสามารถในการใช้งาน ในโลกนี้มีรัฐบาลต่างๆ จำนวนมากเพียงพอทีเดียว รวมทั้งพวกที่อยู่ในยุโรปด้วย ซึ่งมีความขุ่นเคืองไม่พอใจกูเกิลอยู่แล้ว และยินดีให้หัวเว่ยเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างสำคัญยิ่งในบรรดาตลาดสำคัญๆ ทั้งหลาย
ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของหัวเว่ย เป็นกิจการที่มีปริมาณสูงแต่อัตราผลกำไรต่ำ และทำหน้าที่เป็นตัวสนับสนุนวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์หลักๆ ของบริษัท บริษัทจีนแห่งนี้จะไม่เลือกสร้างความลำบากยุ่งยากให้ตนเองด้วยการแข่งขันกับกูเกิลหรอก ถ้าหากตนเองไม่ได้ถูกตัดหนทางเข้าถึงแอนดรอยด์ พวกบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันได้ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดของพวกตนเพื่ออธิบายให้ประธานาธิบดีทรัมป์เข้าอกเข้าใจว่า การแบนหัวเว่ยอาจจะสร้างความบาดเจ็บเสียหายให้แก่พวกเขาเองมากกว่าที่จะสร้างความบาดเจ็บเสียหายแก่บริษัทจีนแห่งนี้ และการท้วงติงเหล่านี้ดูเหมือนมีอิทธิพลต่อความคิดของประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้
ผมยังคงมีความเชื่อว่า สหรัฐฯไม่สามารถที่จะจำกัดสกัดกั้น ไม่ให้เทคโนโลยีหนึ่งภายใต้การนำของจีนแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางได้หรอก ถ้าหากไม่ได้มีการเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหนือชั้นกว่าของตนเองออกมาแข่งขันด้วย ข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐฯกำลังใช้ความพยายามที่จะบีบคั้นกีดกั้นฐานะการเป็นผู้นำตลาดของหัวเว่ย โดยที่ไม่ได้มีคู่แข่งสัญชาติอเมริกันใดๆ อยู่ในแวดวงนี้เลย ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์แปลกประหลาดที่สุด ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์แห่งนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ถ้าหากสหรัฐฯจะมีการประกาศจัดทำอะไรบางสิ่งบางอย่างระดับ “โครงการแมนแฮตตัน” (Manhattan Project) (โครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯใช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) สำหรับบรอดแบนด์ 5 จี และเรียกร้องหาความร่วมมือกับพวกชาติพันธมิตรในยุโรปและในเอเชียของตนแล้ว บางทีมันก็อาจจะได้รับเสียงตอบรับอย่างกระตือรือร้นขึ้นมาก็ได้ แต่ในเมื่อมันเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ความพยายามของอเมริกาในการหยุดยั้งหัวเว่ย จึงกำลังกลับกลายเป็นความน่าอับอายขายหน้า
สเปงเกลอร์ เป็นนามปากกาของคอลัมนิสต์ผู้โด่งดังของเอเชียไทมส์มายาวนาน ในปัจจุบันมีการเปิดเผยแล้วว่า ตัวจริงของ สเปงเกลอร์ คือ เดวิด พี. โกลด์แมน (David P. Goldman) ที่เวลานี้ทั้งเป็นผู้ถือหุ้นและทั้งมีข้อเขียนเผยแพร่ในเอเชียไทมส์เป็นประจำโดยใช้ชื่อจริง
เชิงอรรถ
[1] https://en.wikipedia.org/wiki/United_States_intelligence_budget
[2] https://www.reuters.com/article/us-usa-cyber-surveillance/spy-agency-nsa-triples-collection-of-u-s-phone-records-official-report-idUSKBN1I52FR
[3] https://www.technewsworld.com/story/86101.html
[4] https://www.theguardian.com/us-news/2015/jul/08/nsa-tapped-german-chancellery-decades-wikileaks-claims-merkel
[5] https://www.insidescience.org/news/china-leader-quantum-communications
[6] https://www.huawei.com/en/press-events/news/2018/6/Telefonica-Huawei-UPM-Field-Trial
[7] https://tech.newstatesman.com/security/quantum-cryptography-5g-networks
[8] https://www.idquantique.com/sk-telecom-continues-to-protect-its-5g-network-with-quantum-cryptography-technologies/
[9] https://www.information-age.com/quantum-cryptography-123477496/
[10] https://www.thetimes.co.uk/article/cia-warning-over-huawei-rz6xc8kzk
[11] https://www.reuters.com/article/us-usa-cyber-defense-idUSKBN17013U