Fake News เป็นศัพท์นิยมขณะนี้เกี่ยวกับพฤติกรรมใส่ร้ายหรือหลอกลวงด้วยข่าวสาร การรายงานหรือนำเสนอด้วยข้อมูลเท็จ หรือการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารสำหรับใช้โจมตีหรือทำลายฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะกระทำเป็นการเฉพาะเจาะจงที่ตัวบุคคล กลุ่มบุคคล หรือมุ่งให้เกิดความล่มสลายต่อเนื่องแบบโดมิโนในระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือการทหารก็ได้ ในอดีตการสร้างเรื่องราวใส่ร้ายหรือการหลอกลวงด้วยข้อมูลข่าวสารเสมือนจริงเช่นเดียวกับ Fake News คือ การบ่อนทำลาย ซึ่งนับเป็นวิธีที่ยากลำบากต่อการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยหรือคุ้มครองป้องกัน แต่มีจุดอ่อนที่ต้องดำเนินการด้วยระยะเวลายาวนาน ที่อาจเป็นเหตุให้บรรดาเป้าหมายตรวจสอบพบก่อนที่การบ่อนทำลายจะบรรลุผล
ปัจจุบันการคุ้มครอง ป้องกัน และเผชิญกับ Fake News นับเป็นความยากลำบากที่ยิ่งทวีมากขึ้น เนื่องมาจากการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารผ่านระบบเทคโนโลยีการสื่อสารในขณะนี้เป็นไปอย่างไร้ขอบเขตและรวดเร็ว ถึงแม้นานาประเทศพยายามที่จะให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้แยกแยะและต่อต้าน Fake News ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเท็จ ข่าวสารลวง และข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือนเหล่านั้น อย่างเช่น องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จัดทำ “Journalism, ‘Fake News’ and Disinformation” และเผยแพร่รายละเอียดผ่านทาง https://en.unesco.org คู่มือของ UNESCO ดังกล่าวนำเสนอข้อมูลและแนวการอบรมสำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเข้ามาศึกษา ฝึกอบรม ประกอบการเรียนการสอน หรือปฏิบัติงาน ซึ่งเนื้อความบางส่วนน่าสนใจสำหรับนำมาเรียนรู้กับยุคสังคมดิจิทัลของประเทศไทย เพราะสภาพการติดต่อสื่อสารที่ปรับเปลี่ยนไป นับเป็นสาเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบ คุณภาพ และความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะที่มาจากสื่อมวลชน
เนื่องจากข่าวสารที่ปราศจากความจริงยังคงกระจายสู่สังคมออนไลน์ ซึ่งคล้ายกับความเป็น Fake News ตามข้อมูล UNESCO ประกอบด้วย Misinformation (ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม) เป็นข้อมูลข่าวสารที่สร้างขึ้นโดยปราศจากความตั้งใจจะให้เกิดความเสียหาย ประเด็นต่อมาคือ Disinformation (ข้อมูลข่าวสารบิดเบือน) เป็นข้อมูลข่าวสารเท็จที่จงใจสร้างขึ้น และประเด็นสุดท้ายคือ Mal-information (ข้อมูลข่าวสารผิดพลาด) เป็นข้อมูลข่าวสารลวงที่มาจากพื้นฐานความเป็นจริง โดยเจตนาของทั้ง 2 ประเด็นหลังนี้จงใจนำมาใช้ใส่ร้าย โจมตี สร้างความเสียหาย หรือทำลายฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมาย
ตัวอย่าง Fake News
Misinformation (ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม)
ข้อความแชร์ว่า “เสาร์นี้ # ปิดถนนราชดำเนิน 15:00-24:00 งานแข่งจักรยานของสิงห์ ธรรมศาสตร์ รับปริญญาท่าพระจันทร์…”
ข้อมูลจริง : ไม่ใช่เสาร์(ปัจจุบัน) แต่เป็นข้อความเก่าปี 2558
Disinformation (ข้อมูลข่าวสารบิดเบือน)
ข้อมูลหลอกแจก กินฟรี เครื่องสำอางฟรี มือถือฟรี ฯลฯ จากเว็บไซต์ปลอม เพื่อให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือสมัครบริการ
Mal-information (ข้อมูลข่าวสารผิดพลาด)
ข้อมูลข่าวสารเป็นการตัดข้อความบางส่วนจากบทความเก่า ซึ่งไม่สามารถอ้างอิงกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด มุ่งโจมตีผู้พูด
จนถึงปัจจุบัน Fake News ที่ถูกสร้างขึ้น ยังคงมีรูปแบบเดิมเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและคาดว่าจะคงรูปแบบเช่นนี้ตลอดไป โดยขอยกตัวอย่าง Fake News จากประวัติศาสตร์ไทย ได้แก่ กรณีรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ.2440 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ปรากฏนักการเมืองกลุ่มอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่สนับสนุนการล่าอาณานิคม และมีเป้าหมายที่จะยึดสยามเป็นเมืองขึ้น พยายามดำเนินการขัดขวางการเสด็จเยือนฝรั่งเศสในครั้งนั้น ด้วยการสร้างและเผยแพร่ข่าวสารแบบ Disinformation ในฝรั่งเศส เช่น เสนอข่าวสารกรณีที่หมู่บ้านชายแดนพรหมบุรี (อำเภอในจังหวัดสิงห์บุรี) ซึ่งเป็นหมู่บ้านภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสว่า ถูกโจมตีและมีการสังหารบาทหลวง แต่ข่าวสารนี้ไม่ส่งผลให้เกิดการต่อต้านการประพาสฝรั่งเศสครั้งนั้น เพราะเมื่อตรวจสอบภายหลังปรากฏว่า เป็นข่าวที่เขียนเกินความจริงโดยนักข่าวชาวอังกฤษ
ทั้งช่วงเดียวกัน Le Courrier d’ Haiphong หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสในเวียดนามที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองกลุ่มอาณานิคม ยังนำเสนอรายงานข่าวสารแบบ Misinformation อีกหลายครั้ง เพื่อให้รัฐบาลและชาวฝรั่งเศสเกิดทัศนคติด้านลบกับสยาม เป็นต้น (ศิลปวัฒนธรรม : เมื่อ“ฝรั่ง” ใช้สื่อปล่อยข่าวโจมตีสยาม หวังขัดขวางรัชกาลที่ 5 ในการเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ.2440 ผู้เขียน : พันธวัช นาคสุข เผยแพร่ วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2562 https://www.silpa-mag.com/History/ article_34538) สำหรับการใช้ข้อมูลเท็จเช่นเดียวกับกรณีเสด็จประพาสยุโรปข้างต้นยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างเช่น กรณี Facebook ตรวจสอบพบและสั่งปิด Facebook ของ Tony Cartalucci ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตน แต่มีการอ้างอิงว่า เป็นนักวิจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่พยายามแทรกแซงและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยด้วยข้อมูลข่าวสารปลอม
เฟซบุ๊กประกาศลบ 10 เพจเผยแพร่ข้อมูลเท็จในไทย ระบุเกี่ยวข้องกับรัสเซีย ยิงโฆษณา 540,000 บาท
เฟซบุ๊กประกาศว่าได้แบนเพจจำนวน 10 เพจ และบัญชีผู้ใช้รวม 12 บัญชีในประเทศไทย ในฐานะที่บัญชีเหล่านี้มีพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตน (coordinated inauthentic behavior – CIB) โดยวิจารณ์นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทย และรายงานของเฟซบุ๊กระบุว่าเพจและบัญชีเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับวารสาร New Eastern Outlook ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลรัสเซีย พร้อมกับระบุว่ามีผู้ติดตามบัญชีทั้งหมด รวมกันประมาณ 38,000 คน และใช้เงินน้อยกว่า 18,000 ดอลลาร์ หรือ 540,000 บาท เพื่อโฆษณารายงานของเฟซบุ๊กไม่ได้ระบุว่ามีเพจใดถูกแบนในกรณีนี้บ้าง แต่รายงานจาก Matthew Tostevin นักข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่าหนึ่งในบัญชีที่ถูกแบนคือ Tony Cartalucci ที่เขียนลง New Eastern Outlook ผมตรวจสอบดูพบว่า บัญชีทวิตเตอร์ของเขาก็ถูกแบนเช่นกัน โดยรายงานของ Cartalucci ถูกอ้างอิงในสื่อไทยกลุ่มหนึ่งอยู่หลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ที่มา – จดหมายข่าวเฟซบุ๊ก
เมื่อตระหนักถึงภัยจาก Fake News สังคมปัจจุบันจึงพยายามหามาตราการเผชิญกับ Fake News โดยมีการนำเสนอในสื่อสาธารณะหลากหลายวิธี แต่สำหรับประเทศไทยควรทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า Fake ให้ชัดเจนตรงกัน เพื่อมิให้เกิดการตีความหรือแสวงหาประโยชน์จากการเบี่ยงเบนความหมาย กล่าวคือ พจนานุกรมอังกฤษ-ไทยทั่วไป Fake แปลว่า ปลอมแปลง ของปลอม เลียนแบบ หลอกลวง เมื่อนำคำแปลดังกล่าวมาขยายความตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยิ่งทำให้ความหมายเพิ่มขึ้น คือ คำว่า“ปลอม” หมายถึง ทำให้เหมือนคนอื่นหรือสิ่งอื่น เพื่อให้หลงผิดว่าเป็นคนนั้นหรือสิ่งนั้น, ไม่แท้หรือไม่จริงตามสภาพของสิ่งนั้น ส่วนคำว่า“ลวง” คือ ทำให้หลงผิด, ทำให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง ต่อเมื่อพิจารณาร่วมกับคำที่ให้ความหมายเพิ่มขึ้น ได้แก่ คำว่า“เท็จ” ที่หมายถึง ปด, โกหก, ไม่จริง และคำว่า“บิดเบือน” คือ ทำให้ผิดแผกไปจากข้อเท็จจริง, ทำให้ผิดแผกแปลกไปจากเดิม
ดังนั้น เมื่อสรุป Fake News ก็คือ การนำข้อมูลข่าวสารที่สร้างขึ้นเองให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม หรือสร้างจากพื้นฐานความจริงและเสริมด้วยข้อมูลข่าวสารที่สร้างขึ้นให้เสมือนจริง แล้วนำออกเผยแพร่ เพื่อให้เกิดความหลงเชื่อหรือยอมรับตามข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น อย่างไรก็ดี Fake News ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยส่วนใหญ่มักเริ่มจากการชี้นำด้วยข่าวสาร ส่วนใหญ่กระจายผ่าน social network ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อประกอบกับพื้นฐานสังคมที่การขาดความตระหนักคิดตระหนักรู้ อคติประจำสังคม ค่านิยมและความพอใจที่จะทำตามกระแสสังคม เหล่านี้อาจเป็นส่วนส่งเสริมให้ Fake News เข้ามามีอิทธิพลเหนือสังคมได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ๆ หรือถาวรก็ตาม
การสร้าง Fake News ให้มีอิทธิพลในสังคม ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ที่สำคัญได้แก่ พฤติกรรมของผู้รับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นกลุ่มไม่สนใจ Fake News กลุ่มขาดความตระหนักคิดและกระจาย Fake News และกลุ่มพร้อมกระจาย Fake News ประการต่อมาคือ อุปนิสัยพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่สอดคล้องกับค่านิยมการเสพ Fake News ในแต่ละสังคม อย่างเช่น สนับสนุนข่าวสารตามความพอใจไม่ว่าข่าวสาร นั้นเป็นข้อจริงหรือข้อเท็จ พอใจที่จะได้ซ้ำเติมบุคคลอื่นที่ประสบความล้มเหลวหรือไม่พอใจหากเห็นบุคคลอื่นประสบความสำเร็จเกินตนเอง เฝ้าสังเกตเพื่อจับผิดและพยายามหาเหตุผลสนับสนุนการคิดค้าน เป็นต้น อุปนิสัยตามที่กล่าวแล้วเป็นพื้นฐานที่เกิดขึ้นในสังคมปกติทั่วไปตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เหล่านี้นับเป็นสิ่งเสริมให้ Fake News ทรงอิทธิพลได้อย่างดียิ่ง
อย่างกรณีการนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกลุ่มนักดนตรี GOT7 ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากในประเทศไทยมาโดยตลอด ข่าวสารที่ปรากฏจึงมีหลากหลายรูปแบบ รวมทั้ง Misinformation, Disinformation และ Mal-information แต่จุดประสงค์มีเพียงต้องการสร้างความพอใจให้แก่ผู้ติดตามส่วนใหญ่ อย่างเช่น Instagram ของ bnyoung_jbjy เสนอข้อมูลที่น่าจะเป็น Misinformation แต่ผลกลับแสดงให้เห็นถึงความพอใจ เพราะมีผู้เข้ามากดสัญลักษณ์ถูกใจเป็นจำนวน 2,863 ครั้งในเวลา 2 วันและมีการส่งต่ออีกด้วย การกดสัญลักษณ์ดังกล่าวแสดงออกถึงความรู้สึกพอใจจนไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงหรือผลความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งที่ผู้รับทราบข่าวสารน่าจะประเมินความเป็น Fake News ได้ทันทีจากรายละเอียดของข่าวที่นำเสนอ
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่เสริมอิทธิพลของ Fake News คือ การกระจายมาจากแหล่งข้อมูลข่าวสารที่ได้รับความเชื่อถือ จะเห็นได้จากตัวอย่างในประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 กล่าวคือ พระยาทรงสุรเดช หนึ่งในผู้นำคณะราษฎร ใช้ข้อมูลลวงว่า จะทำการฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถรบเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 โดยใช้นักเรียนนายร้อยทำหน้าที่ทหารราบและใช้รถรบจากกรมทหารม้ารักษาพระองค์ พร้อมกับให้แต่ละกรมส่งนายทหารเป็นผู้แทนไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งเป็นผลให้กำลังทหารแต่ละกรมกองออกมาชุมนุมรวมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จึงคล้ายกับมีกำลังทหารพร้อมอาวุธหนัก เข้าร่วมทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับคณะราษฎร จนเป็นผลสำเร็จ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้กำลังทหารปราศจากความสงสัย เมื่อได้รับคำสั่งให้ออกมาชุมนุมนั้น มาจากการอ้างบันทึกขอทำการฝึกจากพระยาทรงสุรเดชถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา รองจเรทหารบกและพันโท พระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก ประกอบกับความเคารพและเชื่อถือต่อพระยาทรงสุรเดชในฐานะอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก (ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า : พระยาทรงสุรเดช/ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์) สำหรับสังคมของประเทศไทยขณะนี้ความเปลี่ยนแปลง เพราะความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลข่าวสารมิใช่ประเด็นหลักที่จะนำมาหนุน Fake News แล้ว แต่ความพอใจกลับเป็นประเด็นสำคัญของผู้รับทราบข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นที่นำมาใช้เสริมการตัดสินใจที่จะกระจายข้อมูลข่าวสารต่อไป
อย่างเช่น กรณีเมื่อ 21 มิถุนายน 2562 มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารปลอมผ่านสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทยนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ถึงแม้จะยังไม่ส่งผลกระทบใด ๆ แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาชี้แจงว่า เอกสารและข้อมูลที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์ ทำปลอมขึ้นมาไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด พร้อมร้องขอประชาชนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยุติการกระจายข้อมูลเหล่านั้น เป็นต้น
การควบคุมและป้องกันการเผยแพร่ Fake News เป็นมาตรการที่ยากต่อการวางแนวทาง เพราะ Fake News มาจากความพอใจที่จะรับทราบและส่งต่อให้ผู้อื่นได้รับทราบด้วยนั้นเอง
———————————————————————————————————————————————————-
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย