จากเคยเป็นประเทศปลอดภาษี ตอนนี้ซาอุดีอาระเบียประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มสามเท่าจาก 5% เป็น 15% และยกเลิกเงินช่วยเหลือประชาชนรายเดือนตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป
นโยบายนี้เป็นผลมาจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงจนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของราคาเมื่อปีที่แล้ว ทำให้รายได้ของรัฐบาลหดหายไป 22% และโครงการใหญ่ ๆ ทั้งหลายต้องหยุดชะงัก
ซาอุดิ อรัมโค ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียมีผลกำไรลดลง 25% ในไตรมาสแรกของปี สาเหตุหลักก็คือราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลง
“มาตรการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการคุมค่าใช้จ่ายและพยายามให้ราคาน้ำมันคงที่” ไมเคิล สตีเฟนส์ นักวิเคราะห์ด้านอ่าวอาหรับกล่าว เขาบอกด้วยว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศกำลังย่ำแย่และต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะกลับมาเป็นปกติ
โรคโควิด-19 กำลังสร้างความปั่นป่วนให้เศรษฐกิจซาอุดีอาระเบีย ซึ่งพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำหลายล้านคนจากเอเชีย โดยมากแรงงานเหล่านี้อาศัยในสถานที่แออัดและสกปรก
ขณะเดียวกัน เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งยังได้รับความนิยมในประเทศอย่างมาก ก็ยังถูกชาติตะวันตกตีตัวออกห่างหลังมีข้อสงสัยว่าพระองค์พัวพันกับคดีสังหารจามาล คาชูจกิ นักข่าวซาอุฯ ในปี 2018 นับจากนั้นมาความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติก็ลดถอยลง และยังไม่ฟื้นตัวจนถึงบัดนี้
นอกจากนี้ สงครามกับเยเมนที่ยืดเยื้อมากว่า 5 ปี ก็ทำให้ซาอุฯ แทบหมดหน้าตักโดยที่ไม่ได้ประโยชน์อะไร และยังมีวิกฤตการทูตกับกาตาร์ที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 6 ประเทศในกลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอาหรับสั่นคลอน
ปัญหารอบด้านแบบนี้ ซาอุฯ กำลังเจอวิกฤตหนักหรือไม่
พลังฟื้นตัวจากภายใน
หากมองภาพรวม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกพังไปตาม ๆ กัน ซึ่งนั่นก็รวมซาอุฯ ด้วย
ซาอุฯ มี Public Investment Fund ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมูลค่าราว 3.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไว้พึ่งพิง และยังมี ซาอุดิ อะแรมโค บริษัทน้ำมันแห่งชาติซึ่งมูลค่า ณ ปีที่แล้วอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบเท่ากับมูลค่าในตอนนั้นของกูเกิลและแอมะซอนมารวมกัน เมื่อขายหุ้นเสี้ยวหนึ่งของบริษัท เพียง 1.5% ก็ระดมทรัพย์ได้มากกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์การจดทะเบียนหุ้น
“ซาอุดีอาระเบียมีปัจจัยภายในหลายอย่างที่ทำให้ฟื้นตัวรับสถานการณ์ได้” เซอร์ วิลเลียม เพทีย์ อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงริยาดช่วงปี 2007-2010 บอก “ประเทศมีแหล่งเงินสำรองมากมายที่จะช่วยให้เดินหน้าต่อไปได้ และยังผ่านพ้นช่วงราคาน้ำมันร่วงไปได้ด้วยส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันโลกที่ไม่ตกลงหรือดีขึ้นด้วยซ้ำ” เขากล่าวเสริม
ภัยคุกคามจากอิหร่านดูเหมือนว่าตอนนี้จะแผ่วลง หลังเรือบรรทุกน้ำมันอิหร่านถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธเมื่อก.ย. ปีที่แล้ว และตามมาด้วยกรณีนายพลคาเซ็ม สุเลมานีถูกสหรัฐฯ สังหาร
ในเดือนนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยกเลิกการส่งแท่นยิงขีปนาวุธแพทริออตเพื่อใช้เป็นระบบป้องกันฉุกเฉินให้ซาอุฯ หลังภัยคุกคามจากการก่อร้ายในประเทศจากกลุ่มจีฮัดที่เชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลามและอัลกออิดะห์ในช่วงนี้ลดน้อยลงมาก แต่ซาอุฯ ก็ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ
เศรษฐกิจ
สัปดาห์นี้รัฐบาลประกาศมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งประชาชนจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วย เพราะอยากให้ประเทศมีทางเลือกทางเศรษฐกิจมากกว่าการพึ่งพิงน้ำมัน แม้แต่รมว. คลังยังบอกว่า “มันเป็นมาตรการที่เจ็บปวด”
รัฐบาลต้องการลดค่าใช้จ่ายราว 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เฉพาะในเดือนมี.ค. ธนาคารกลางของประเทศก็รายงานความเสียหายที่เกิดจากโรคโควิด-19 บวกกับภาวะราคาน้ำมันตกในตัวเลขใกล้เคียงกัน
ช่วงไตรมาสแรกของปี รัฐบาลขาดดุลงบประมาณถึง 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลซาอุฯ ต้องใช้นโยบายรัดเข็มขัด ย้อนไปเมื่อเดือน พ.ค. 1998 ที่การประชุมกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับในนครอาบูดาบี เจ้าชายอับดุลลาห์ ก็ประกาศเตือนบรรดาผู้นำของชาติอาหรับ
“ราคาน้ำมันอยู่ที่บาร์เรลละ 9 ดอลลาร์สหรัฐฯ” พระองค์ตรัส “ช่วงเวลาดี ๆ หมดไปแล้วและจะไม่หวนมาอีก ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรัดเข็มขัด”
ต่อมาราคาน้ำมันพุ่งไปที่บาร์เรลละกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่รัฐบาลประกาศระงับการจ้างงานและชะลอโครงการก่อสร้างทั่วประเทศ แต่สถานการณ์ในปัจจุบันอาจหนักหนากว่าตอนนั้น
ทั้งโรคระบาดและราคาน้ำมันตกทำให้โครงการทั่วประเทศล้มครืน ก่อให้เกิดคำถามว่าแผนงาน วิสัยทัศน์ซาอุฯ 2030 ของเจ้าชายจะเป็นจริงได้หรือไม่
แผนงานดังกล่าวมุ่งหมายให้ประเทศลดการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากน้ำมันและแรงงานต่างชาติแบบที่เป็นมาช้านาน โดยหันเป้าไปทุ่มเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พัฒนาเมืองแห่งอนาคตนีออม (NEOM) ทางการบอกว่าโครงการยังเดินหน้าต่อไป แต่นักวิเคราะห์ส่วนมากบอกว่า เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องประสบความล่าช้า
สตีเฟนส์ นักวิเคราะห์ด้านอ่าวอาหรับบอกว่าภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการรัดเข็มขัด “มาตรการฉุกเฉินของซาอุฯ กำลังทำร้ายบรรดานายจ้าง และจะทำให้ประเทศฟื้นตัวได้ยากในระยะยาว”
ที่ยืนในเวทีโลก
คดีสังหารนายคาชูจกิ สร้างความมัวหมองให้ชื่อเสียงของซาอุฯ ทูตซาอุฯ ประจำกรุงลอนดอนบอกว่าเรื่องนี้ “สร้างรอยด่างให้ชื่อเสียงของเรา”
การพิจารณาและตัดสินคดีที่ตามมา กลับทำให้ผู้ต้องสงสัยหลักบางคนได้รับอิสรภาพ และถูกกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติวิจารณ์ว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรม
แต่เศรษฐกิจของซาอุฯ ยิ่งใหญ่และสำคัญเกินกว่าที่นานาชาติจะเมินเฉย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ซาอุฯ พยายามมองหาหนทางในการลงทุนในกิจการขนาดใหญ่หลายโครงการ อย่างเช่นการยื่นข้อเสนอเข้าถือหุ้น 80% ในสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลยูไนเต็ด ทั้งนี้ ฮาติซ เซนกิซ คู่หมั้นม่ายของนายคาชูจกิ ต่อต้านความพยายามนี้โดยบอกว่าผิดหลักจริยธรรม
ในสงครามเยเมน ซาอุฯมีส่วนในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศโดยเครื่องบินรบที่ได้มาจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร สงครามนี้ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมสงครามที่กระทำโดยทุกฝ่ายที่เข้าร่วม แต่จำนวนพลเรือนผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการทางอากาศถูกวิจารณ์อย่างหนักในสหรัฐฯ และประเทศอื่น
ยังไม่มีฝ่ายใดที่บรรลุชัยในสงครามนี้ แต่ได้สร้างความป่นปี้ให้เยเมน ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในกลุ่มอาหรับ ในขณะที่ แรงสนับสนุนของสหรัฐฯต่อซาอุฯ ก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยมา
พันธมิตรรายใหญ่สองคนของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน คือโดนัลด์ ทรัมป์ และวลาดิเมียร์ ปูติน แต่การที่ซาอุฯ สั่งเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเมื่อต้นปี สร้างความรำคาญใจให้ผู้นำทั้งสอง เพราะได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯและรัสเซีย
ความสัมพันธ์กับอิหร่านก็ยังอยู่ในภาวะสงครามเย็น ส่วนความสัมพันธ์กับกาตาร์ก็ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย
หันมาดูกิจภายในประเทศ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เร่งชูนโยบายผลักดันปรับประเทศให้มีความเสรีมากขึ้น ยกเลิกคำสั่งห้ามผู้หญิงขับรถ และอนุญาตให้ไปโรงภาพยนตร์ หรือไปในที่ที่ปะปนกับเพศชายอย่างงานคอนเสิร์ต หรืองานแข่งรถได้
มองเผิน ๆ ซาอุฯ ในวันนี้ความเคร่งขรึมดูลดลงมาก แต่หลังฉาก การปราบปรามทางการเมืองเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ ใครก็ตามที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายของพระองค์ก็เสี่ยงถูกจับหรือติดคุกในข้อหา “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ”
การลงโทษด้วยการตัดคอยังแพร่หลาย และซาอุฯ ก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกกลุ่มคุ้มครองสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด
ทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นว่า ซาอุฯ ยังเป็นตัวละครหลักในเศรษฐกิจโลก และตามกำหนดจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มจี 20 ในเดือน พ.ย. แต่ในขณะเดียวกันบรรดาพันธมิตรก็รู้สึกอึดอึดที่ต้องร่วมวงด้วย
อำนาจ
ด้วยวัยเพียง 34 ปี ดูเหมือนว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จะมีอำนาจแข็งแกร่งโค่นไม่ลง นอกจากจะมีกษัตริย์ซัลมาน พระราชบิดาเป็นแรงหนุนแล้ว ยังกำจัดเสี้ยนหนามสู่เส้นทางราชบัลลังก์ออกไปด้วย
หนึ่งในกรณีตัวอย่างคือ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ลูกพี่ลูกน้องซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอำนาจ แต่ถูกกำจัดไปในรัฐประหารเมื่อปี 2017 ทำให้เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ขยับขึ้นมาดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแทน
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้อาวุโสสายอนุรักษนิยมในซาอุฯ ไม่พอใจกับแนวนโยบายของเจ้าชาย ด้วยเกรงว่าจะพาประเทศไปสู่หายนะ แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดอย่างเปิดเผยเพราะมี “บรรยากาศแห่งความกลัว” ปกคลุมอยู่
กระแสความนิยมเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ในประเทศมีอยู่มาก โดยเฉพาะจากกลุ่มคนหนุ่มสาว ต่างจากภาพลักษณ์ของพระองค์ในเวทีโลก
เซอร์ วิลเลียม เพทีย์ บอกว่าคนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากแนวคิดเสรีของเจ้าชาย พระองค์จึงมีคะแนนนิยมสูงในประเทศ
ส่วนหนึ่งของความนิยมในตัวเจ้าชายนี้มาจากกระแสชาตินิยมที่เริ่มก่อกำเนิดในซาอุฯ แต่สาเหตุหลักมาจากความหวังของคนในชาติที่หวังว่าพระองค์จะนำความเจริญทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศ
แต่ถ้าความฝันนั้นต้องดับสลาย และในอีก 5 ปี นับจากนี้โครงการแผนงานต่าง ๆ ไม่เป็นรูปเป็นร่าง อำนาจเด็ดขาดที่เคยมีของราชวงศ์ซาอุฯ ก็อาจเริ่มดูเปราะบางกว่าเดิม
———————————————————-
ที่มา : BBC Thai / 13 พฤษภาคม 2563
Link : https://www.bbc.com/thai/international-52651270