คำว่า “Digital transformation” ตามนิยามภาษาไทยจาก Wikipedia คือ การใช้สิ่งที่ใหม่ ที่เร็ว และเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของ Digital Technology เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นการนำเอาประโยชน์จาก Digital Technology เข้ามาปรับวิถีการทำงาน สมรรถนะของบุคลากร และนำไปแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่
ปัจจุบันการนำ Digital Transformation มาปรับปรุงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่พบในภาคธุรกิจและการตลาด โดยนำมาประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วน ซึ่งในแต่ละส่วนมีการใช้ต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพพื้นฐาน รูปแบบและวัฒนธรรมภายในของกลุ่มธุรกิจและการตลาด วิธีดำเนินการ การให้บริการ ตลอดจนประเภทสินค้าในธุรกิจนั้น
สำหรับการนำ Digital Transformation มาปรับประสิทธิภาพในส่วนราชการขณะนี้ คาดว่า “โอกาสที่จะเป็น” เป็นไปได้ยาก เนื่องจากแต่ละหน่วยงานภายในหน่วยงานรัฐต่างมีวัฒนธรรมภายใน มีการกำกับการปฏิบัติงานด้วยระเบียบราชการและระเบียบภายในแต่ละหน่วยงานรัฐที่ต่างกัน
อีกทั้งหน่วยงานรัฐบางแห่งยังมีกฎหมายรองรับเป็นการเฉพาะ เหล่านี้นับเป็นวิถีที่ไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่หากเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการแล้ว ในขั้นต้นก็จำเป็นต้องปรับความเข้าใจระหว่างทุกกลุ่มผู้บริหารภายในให้ตรงกันอย่างชัดเจนโดยปราศจากอคติที่จะก่อความสับสนให้ได้ก่อนที่จะนำเสนอต่อกลุ่มผู้บริหารระดับที่สูงกว่า เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานความเข้าใจในทางเดียวกัน
สำหรับข้อที่ควรพิจารณาให้ชัดเจนก่อนวางเป้าประสงค์ที่จะนำ Digital Transformation มาปรับใช้กับองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนนั้น
ประเด็นแรก คือทำความเข้าใจกับ ความเป็นมานับแต่อดีตถึงปัจจุบันขององค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
ประเด็นที่ 2 ความสอดคล้องและรองรับกันระหว่างกฎหมายและระเบียบราชการที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
ประเด็นที่ 3 ฐานะและความจำเป็นขององค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐฝ่ายพลเรือน เพราะข้อมูลจากประเด็นเหล่านั้นจะทำให้ประเมินได้ถึงความคุ้มค่าของงบประมาณที่ลงทุนเพื่อนำ Digital Transformation มาปรับปรุงองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
จากลำดับความเป็นมาขององค์การรักษาความปลอดภัยในประเทศไทยเท่าที่เริ่มพบข้อมูลจาก “ระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ” ประกาศใช้เมื่อ 14 กรกฎาคม 2499 ตามเล่ม 73 ตอนที่ 58 ราชกิจจานุเบกษา 27 กรกฎาคม 2499
โดยระบุไว้ใน “ข้อ 3 การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติที่ดีนั้น ต้องประกอบด้วยรากฐานสำคัญ 2 ประการ คือ 3.1 มีองค์การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติขึ้นรับผิดชอบ 3.2 การประสานงานและร่วมมือเป็นประจำระหว่างกระทรวงทบวงกรม และสำนักงานต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อตกลงว่าเรื่องใดบ้างที่จำเป็น จะต้องป้องกันและวางมาตรฐานร่วมกัน” และ
“ข้อ 112 ให้กรมประมวลราชการแผ่นดิน (ชื่อสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ระหว่างปี 2497-2502) ทำหน้าที่องค์การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติตามระเบียบนี้ และให้มีหน้าที่แนะนำ ช่วยเหลือ ให้ส่วนราชการปฏิบัติตามระเบียบนี้ต่อไป”
สาเหตุที่ต้องจัดตั้งองค์การรักษาความปลอดภัยขึ้น โดยให้ความสำคัญอย่างมากในฐานะองค์การระดับชาติ เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นต้องการแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการไทยมีระดับเดียวกับมิตรประเทศ
แต่การมอบหมายให้กรมประมวลราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นส่วนราชการฝ่ายพลเรือนระดับกรม ทำหน้าที่รับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวนี้ ทำให้เกิดข้อพิจารณาถึงความไม่สอดคล้องกัน นับแต่งบประมาณและกำลังคนของกรมประมวลราชการแผ่นดิน กับหน้าที่ให้การแนะนำ ช่วยเหลือแก่ส่วนราชการทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร เพื่อให้ปฏิบัติตามระเบียบนี้
อย่างไรก็ดี ฐานะความเป็นองค์การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติคงอยู่ต่อมากว่าทศวรรษ จนหลังประกาศใช้ “ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2511”
จึงแบ่งหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการ ออกเป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน โดยคงให้กรมประมวลข่าวกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี (ชื่อสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ระหว่างปี 2502-2528) รับผิดชอบ
และให้เพิ่มองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายทหาร โดยให้ศูนย์รักษาความปลอดภัย กระทรวงกลาโหม รับผิดชอบ หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏ “องค์การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ” อีกเลย
ต่อมาได้มีการปรับองค์การรักษาความปลอดภัยอีกครั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ1 และระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ2 โดยแยกสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกจากองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน และตั้งเป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายตำรวจ ให้สำนักงานสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบ
ตามข้อมูลข้างต้นจะมีข้อที่น่าสังเกต 2 ประเด็น
ประเด็นแรก หลังการปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในแต่ละครั้งจะเห็นถึงการลดทอนความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่องค์การรักษาความปลอดภัยลงตามลำดับ
ประเด็นที่ 2 สำนักข่าวกรองแห่งชาติยังคงรับหน้าที่องค์การรักษาความปลอดภัยไปพร้อมกับการลดบทบาทความเป็นองค์การรักษาความปลอดภัย การลดฐานะความเป็นองค์การระดับชาตินี้พอจะพิจารณได้ว่า แต่ละหน่วยงานรัฐที่แยกออกไปเป็นหน่วยงานรัฐต่างประเภทกับส่วนราชการฝ่ายพลเรือน
อีกทั้งเป็นหน่วยงานรัฐขนาดใหญ่และมีขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบกว้างเกินกว่าที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติจะเข้าไปรับผิดชอบดูแลในฐานะองค์การรักษาความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี สภาพการปรับองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนยังอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะปัจจุบันการกำหนดหน่วยงานรัฐอิสระที่ไม่เป็นไปตามประเภทของส่วนราชการเกิดเพิ่มขึ้นเสมอ ทั้งระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของราชการก็ไม่ครอบคลุมและรองรับกับหน่วยงานรัฐเช่นนั้นอีกด้วย อย่างเช่น หน่วยงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
ดังนั้น โอกาสที่ความเป็นองค์การรักษาความปลอดภัยจะถูกปรับเปลี่ยนหรือแบ่งออก เพื่อให้รองรับกับหน่วยงานรัฐประเภทใหม่จึงอาจเกิดขึ้นได้เสมอ สภาพดังกล่าวนี้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการวางแผนงานและประมาณการงบประมาณที่จะนำ Digital Transformation มาปรับปรุงองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
————–
1ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 :
ข้อ 7 ให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ เป็นองค์การรักษาความปลอดภัย
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สํานักนายกรัฐมนตรี เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน มีหน้าที่ให้คําแนะนํา ช่วยเหลือในเรื่องการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติแก่หน่วยงานของรัฐฝ่ายพลเรือน และกํากับดูแล ตรวจสอบ พร้อมทั้งพิจารณาแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อให้ระบบการรักษาความปลอดภัยนั้นได้ผลสมบูรณ์อยู่เสมอ ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยแก่หน่วยงานของรัฐฝ่ายตํารวจ
ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 :
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในบทนิยามคําว่า “องค์การรักษาความปลอดภัย” ในข้อ 4 แห่งระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“องค์การรักษาความปลอดภัย” หมายความว่า สํานักข่าวกรองแห่งชาติ สํานักนายกรัฐมนตรีหรือศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม หรือกองบัญชาการตํารวจสันติบาล สํานักงานตํารวจแห่งชาติ แล้วแต่กรณี”
ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของข้อ 5 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552
“ในกรณีการรักษาความปลอดภัยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ถือปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง และกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ คําสั่ง มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศด้วย”
2 ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 :
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 11 แห่งระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 11 องค์การรักษาความปลอดภัยตามระเบียบนี้ ได้แก่
(1) สํานักข่าวกรองแห่งชาติ สํานักนายกรัฐมนตรี เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
ข้อ 9 ให้ยกเลิกความในข้อ 53 แห่งระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 53 ให้องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายทหาร และองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายตํารวจประสานการปฏิบัติในการจัดให้มีหลักเกณฑ์ วิธีการและคําแนะนําการปฏิบัติตามระเบียบนี้ รวมทั้งการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องตามความจําเป็นและงบประมาณ”
———————————————————————————————————————————————————————————–
ผู้เขียน โดย : เกลียวพันธ์ ลีละศร / 28 มกราคม 2564
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัย
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
ภาพประกอบ : freepik.com