ในช่วงสงครามเวียดนามลาวเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ถูกสหรัฐทิ้งระเบิดถล่มอย่างหนัก จนทำให้ประเทศนี้มีอัตราระเบิดต่อหัวประชากรมากที่สุดในโลก
1. จนถึงทุกวันนี้ยังมีชาวลาวต้องเสียชีวิตจากระเบิดที่สหรัฐอเมริกาทิ้งเอาไว้ ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่กวาดล้างระเบิด UXO ของลาวเสียต้องสละชีวิตไป 3 คน และบาดเจ็บ 2 คนจากเหตุระเบิดในหมู่บ้านกิโลเมตร 38 เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก จากการรายงานของ Laotian Times สื่อภาษาอังกฤษในลาว
2. UXO (Unexploded ordnance) หรือระเบิดที่ยังไม่ได้ถูกจุดชนวน ถูกทิ้งไว้โดยสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 (หรือสงครามเวียดนาม) ทำให้ “ลาวถือเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักที่สุดในโลกในอัตราต่อหัวประชากร” จากข้อมูลของเว็บไซต์ Legacies of War องค์กรที่สร้างความตระหนักเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทิ้งระเบิดในยุคสงครามเวียดนามในประเทศลาว และสนับสนุนการกวาดล้างระเบิดที่ยังไม่ระเบิด
3. ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเวียดนาม ขณะที่สหรัฐกำลังรบในเวียดนามอยู่นั้น ในลาวก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาด้วยระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือ “ขบวนการปะเทดลาว” ที่เอียงไปทางเวียดนามและฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรลาวที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ทำให้ลาวถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ กลายเป็นสงครามที่เรียกว่า “สงครามลับ” ในลาว
4. จากข้อมูลของ Legacies of War ระบุว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ถึง พ.ศ. 2516 สหรัฐทิ้งระเบิดในลาวมากกว่า 2 ล้านตัน ระหว่างภารกิจทิ้งระเบิด 580,000 ครั้ง ซึ่งเท่ากับเครื่องบินบรรทุกระเบิดไปทิ้งทุกๆ 8 นาทีตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 9 ปี การทิ้งระเบิดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสงครามลับในลาวเพื่อสนับสนุนรัฐบาลลาวเพื่อต่อต้านขบวนการปะเทดลาวที่ปักหลักตามภูเขา และเพื่อสกัดกั้นฝ่ายเวียดนามเหนือในจากการใช้ “เส้นทางโฮจิมินห์” ซึ่งเป็นทางลัดที่ฝ่ายเวียดนามเหนือตัดเข้ามาในลาวเพื่อเข้าโจมตีเวียดนามใต้
5. แม้สงครามจะจบลงแล้ว ด้วยการถอนตัวจากสงครามเวียดนาม (หรือพ่ายแพ้) ของสหรัฐและชัยชนะของเวียดนามเหนือและฝ่ายคอมมิวนิสต์ในลาว แต่ระเบิดมากถึงหนึ่งในสามไม่ระเบิด ทำให้แผ่นดินลาว “ปนเปื้อน” ไปด้วย UXO จำนวนมาก ผู้คนกว่า 20,000 คนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจาก UXO ในประเทศลาวนับตั้งแต่การทิ้งระเบิดยุติลง ตามข้อมูลของ Legacies of War
6. แต่มันไม่ใช่ระเบิดเป็นลูกใหญ่ๆ เท่านนั้น เพราะส่วนใหญ่มันคือ “ระเบิดลูกปราย” (Cluster munition/cluster bomb ) ที่เป็นระเบิดลูกเล็กๆ ที่อยู่ในระเบิดลูกใหญ่อีกต่อหนึ่ง มันถูกออกแบบมาเพื่อทำลายรันเวย์หรือสายส่งกำลังไฟฟ้า เพื่อกระจายอาวุธเคมีหรือชีวภาพ หรือเพื่อกระจายทุ่นระเบิด แต่ในสงครามลับในลาว มันถูกทิ้งแบบปูพรมเพื่อทำลายขบวนการคอมมิวนิสต์ที่หลบซ่อนตามป่าทึบ
7. ระเบิดลูกปรายลูกใหญ่แต่ละลูกบรรจุลูกระเบิดเดี่ยว หรือที่เรียกว่า “บอมบี” (bombies) หลายร้อยลูก ซึ่งมีขนาดประมาณลูกเทนนิส ประมาณ 30% ของระเบิดเหล่านี้ยังไม่เกิดการระเบิด มันถูกทิ้งไว้ในแผ่นดินลาวมากมายมหาศาล รอวันที่ผู้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จะไปพบ แล้วหยิบมันขึ้นมาหรือโยนเล่นโดยไม่รู้เรื่อง แล้วก็เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันจากระเบิดคลัสเตอร์ในโลกเกิดขึ้นที่ลาว
8. Legacies of War เปิดเผยว่าลาวถูกทิ้งระเบิดลูกปรายกว่า 270 ล้านลูกในช่วงสงครามเวียดนาม (มากกว่าการทิ้งระเบิดในอิรัก 210 ล้านลูกในปี 2534 , 2541 และ 2549 รวมกัน) มากถึง 80 ล้านลูกที่ยังไม่ระเบิด เกือบ 40 ปีผ่านไปหลังสงคราม น้อยกว่า 1% ของระเบิดเหล่านี้ที่ถูกทำลาย และพื้นที่ที่เต็มไปด้วยระเบิดมากที่สุดแห่งหนึ่งของลาวคือแถบแขวงเชียงขวาง และแขวงตอนกลางและตอนใต้ เช่น คำม่วน สะหวันนะเขต , สาละวัน , อัตตะปือ , เซกอง และบางส่วนของจำปาสัก
9. สถานการณ์ทุกวันนี้เริ่มที่จะดีขึ้นมาบ้าง เพราะในแต่ละปีมีผู้บาดเจ็บล้มตายรายใหม่ในลาวเพียง 50 รายจากระเบิดลูกปราย ลดลงจาก 310 รายในปี 2551 อุบัติเหตุเกือบ 60% ส่งผลให้เสียชีวิต และ 40% ของเหยื่อเป็นเด็ก (เช่นไปพบลูกบอมบีแล้วคิดว่าเป็นของเล่นแล้วนำมาโยนใส่กัน) จากข้อมูลของ Legacies of War
10. สหรัฐเองก็ไม่ได้ทอดทิ้งลาว หลังจากรื้อฟื้นความสัมพันธ์แล้ว สหรัฐก็ช่วยเหลือลาวในการกู้ระเบิดอยู่เนืองๆ เพียงแต่มันเป็นเงินที่เทียบไม่ได้กับงบประมาณที่สหรัฐทุ่มเทไปกับการ “ทำลายล้างลาว” เพราะในช่วงสงคราม สหรัฐใช้เงิน 13.3 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน เป็นเวลา 9 ปีในการทิ้งระเบิดลาว Legacies of War ประเมินว่า ในเวลาเพียง 10 วันของการทิ้งระเบิดที่ลาว สหรัฐใช้เงินไป 130 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่าที่ใช้ในการเคลียร์ระเบิดในลาวตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา
ภาพประกอบถ่ายเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 เป็นภาพเด็กชายชาวลาวอายุ 13 ปี (ในขณะนั้น) นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลกับพี่ชายของเขาหลังจากเสียนิ้วไปหลายนิ้วกับลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิดในแขวงเชียงขวาง ภาพถ่าย AFP / ALISON MCCAULEY
ที่มา : beartai / วันที่เผยแพร่ 12 ธ.ค.2564
Link : https://www.posttoday.com/world/670436